“หอการค้า”ผุดสาธิตไฮสโคป เจาะกลุ่มเด็กเล็ก ค่าเทอม7.8หมื่น/ปี

หอการค้าฯโดดลงตลาดเด็กเล็ก เปิดโรงเรียนสาธิต รับเด็กชั้นเตรียมอนุบาล-อนุบาล 3 ค่าเทอม 78,000 บาท/ปี พร้อมเปิดคณะการศึกษาปฐมวัย สร้างครูด้วยรูปแบบการสอนแบบ “ไฮสโคป” เน้นให้เด็กได้ลงมือทำ 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เปิดตัวโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อย่างเป็นทางการ เพื่อรองรับนักเรียนตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาลไปจนถึงอนุบาล 1-3 โดยจะเปิดรับสมัครอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 10 พ.ค. 62 นี้ โดยหอการค้าฯได้โชว์จุดเด่นของโรงเรียนสาธิตฯว่าเด็กจะได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดเตรียมไว้ด้วยตัวเอง หรือที่เรียกว่ารูปแบบ “ไฮสโคป” การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมจะทำให้เด็กเกิดความสนใจ ใส่ใจและสนุกสนานกับการเรียนมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องท่องจำเหมือนการเรียนในแบบเดิม ๆ หรือไม่จำเป็นต้องเน้นวิชาการ จนกว่าเด็กจะเติบโตและเข้าเรียนในชั้นประถม หรือมัธยม ที่จะเน้นความเข้มข้นของเนื้อหาวิชาการอยู่แล้ว

ในขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยหอการค้าฯยังได้เปิด “คณะการศึกษาปฐมวัย” เพื่อผลิตครูเฉพาะด้านเด็กเล็กโดยมีจุดเด่น 4 ข้อ คือ 1) เน้นให้เกิดการปฏิบัติจริง โดยนักศึกษาจากคณะการศึกษาปฐมวัยจะได้ฝึกปฏิบัติจริง ทั้งในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และศูนย์อบรมต้นแบบของโครงการ RIECE Thailand ภายใต้การสอนจากคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญในการออกแบบการเรียนรู้ ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง หรือ active learning

2) เน้นจิตวิทยาพัฒนาการเด็กปฐมวัย (psychology) นักศึกษาจะเรียนรู้ด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็กปฐมวัยตลอดหลักสูตร เพื่อให้สามารถนำหลักจิตวิทยาพัฒนาการเด็กปฐมวัยไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการเรียนรู้และแก้ไขปัญหาการทำงานได้

3) เน้นพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ เพื่อให้สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี และเปิดโอกาสให้สามารถเลือกทำงานที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยหอการค้าฯ หรือเลือกทำงานในโรงเรียนนานาชาติได้ และ 4) รับจำนวนจำกัดไม่เกิน 60 คน

ด้านนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า วิธีการสอนของไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิม ๆ โดยเฉพาะการท่องจำที่ทำให้เด็กนักเรียนไม่เข้าใจเนื้อหาอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเด็กเล็ก ซึ่งเป็นช่วงอายุสำคัญในการปลูกฝังสิ่งต่าง ๆ ลงไป โดยรากฐานที่ดีก็จะสะท้อนให้เห็นว่า เด็กได้รับการสอนอย่างไรในอดีตที่ผ่านมา ฉะนั้น วิธีการสอนของครู-อาจารย์จะต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัย ที่การเรียนรู้สามารถหาได้จากหลายแหล่ง โดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะในชั้นเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือรูปแบบไฮสโคป ที่จะเปลี่ยนภาพการเรียนรู้ของเด็กไทยให้มีประสิทธิภาพตั้งแต่ฐานรากระดับปฐมวัย

อย่างไรก็ตาม การศึกษาของไทยยังต้องเผชิญกับปัญหามากมาย เช่น การเข้าถึงการศึกษาของเด็ก และคุณภาพของสถานศึกษาในแต่ละพื้นที่มีไม่เท่ากัน ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงประเด็นการเรียนรู้ของเด็กเท่านั้นที่ให้ความสำคัญ คุณภาพของครูผู้สอนเป็นอีกประเด็นที่จะต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเร็ว ๆ นี้ กระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการปรับปรุงเครื่องมือที่ใช้วัดคุณภาพของครู ก่อนที่จะดำเนินการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของครู และประเด็นอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอีกด้วย

ขณะที่รองศาสตราจารย์ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ประธานโครงการไรซ์ไทยแลนด์ (RIECE Thailand) ระบุว่า ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ครูผ่านการเรียนการสอนรูปแบบไฮสโคป ตั้งแต่ครูจะต้องเก่งภาษาอังกฤษ รวมถึงในระดับนโยบาย เช่น กระทรวงศึกษาธิการ จะต้องเข้าใจถึงการเรียนการสอนในระดับล่างว่าเป็นอย่างไร

“สำหรับหลักสูตรไฮสโคป เน้นการพัฒนาเด็กโดยใช้กระบวนการ วางแผน ลงมือทำ และทบทวน ที่ต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้ตัดสินใจวางแผนเอง ช่วยให้เด็กรู้จักกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ทำงานเป็นระบบ ฝึกให้เด็กได้ตัดสินใจ ส่วนในขั้นตอนการลงมือทำ เด็กจะได้ลงมือทำกิจกรรมผ่านอุปกรณ์ที่หลากหลายและเหมาะสมตามช่วงวัย และสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตามความคิดของเด็กเอง สะท้อนความคิดผ่านขั้นตอนการทบทวน โดยเด็กจะบอกเล่าประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำ ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารและการเป็นผู้นำ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 ได้เต็มศักยภาพของแต่ละคน และถือเป็นเป้าหมายหลักของหลักสูตรไฮสโคป”

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถือเป็นสถาบันการศึกษาด้านการค้าและอุตสาหกรรมบริการของไทย ที่ล่าสุดเปิดหลักสูตรไฮสโคปที่ได้รับการพิสูจน์จากงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล คือ ศาสตราจารย์ James J. Heckman จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่พบว่าหลักสูตรดังกล่าวช่วยให้ผู้เรียนมีรายได้สูงกว่า การก่ออาชญากรรมและติดยาเสพติดน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่เรียนรูปแบบปกติ และที่สำคัญหลักสูตรไฮสโคปให้ประโยชน์ถึง 7 เท่าของต้นทุนด้วย