ดู Transcript กันบ้าง

คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์ โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

ไม่นานผ่านมาดูข่าวการนำเอาคุณวุฒิการศึกษาปลอมระดับด็อกเตอร์มาสมัครงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยชื่อดังของรัฐซึ่งผมไม่ทราบว่าในมหาวิทยาลัยของรัฐเขามีหน่วยงานHRที่ดูแลเรื่องการสรรหาว่าจ้างเหมือนภาคเอกชนหรือเปล่า (ใครรู้ช่วยบอกที)

เพราะถ้ามีหน่วยงาน HR ต้องเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานนี้แหละครับในการตรวจสอบดูว่าเมื่อผู้สมัครงานใช้ Transcript หรือใบปริญญาบัตรยื่นเข้ามานั้นเป็นของจริงหรือไม่

จากตรงนี้ ผมจึงคิดย้อนมาถึงวงการ HR บ้านเราซึ่งปกติจะมีหน่วยงานด้านสรรหาว่าจ้างที่ดูแลกระบวนการนี้อยู่แล้ว แต่ก็เป็นเรื่องจริงอีกแหละ

ครับว่าเมื่อผมถามว่าบริษัทเคยเช็ก Transcript ที่ผู้สมัครงานยื่นมาบ้างหรือไม่ ?

คำตอบคือ “ไม่เคย”!!

ถ้าจะถามต่อว่าแล้วทำไมไม่เคยเช็ก Transcript ของผู้สมัครงาน ก็อาจจะได้คำตอบที่หลากหลายออกไป ผมขอแชร์สิ่งที่เคยทำมา (อย่าหาว่าเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนเลยนะครับ) อย่างนี้

1.เมื่อผู้สมัครงานนำ Transcript มายื่น HR ควรจะต้องขอดู Transcript ตัวจริงประกอบกันไปด้วย พูดง่าย ๆ คือไม่ควรดู Transcript เฉพาะตัวสำเนาที่ถ่ายเอกสารเพียงอย่างเดียว เพราะสำเนา Transcript จะปลอมได้ง่ายมาก แต่ใน Transcript ตัวจริงของสถาบันการศึกษาจะมีการปั๊มตรายาง, มีลายเซ็นของอาจารย์, บางแห่งทำตัวนูน (Emboss) สัญลักษณ์ของสถาบันตรงลายเซ็น, เนื้อกระดาษ Transcript ฯลฯ

ซึ่งรายละเอียดพวกนี้คนที่ทำงานด้าน Recruit ที่เรียกดู Transcript ตัวจริงผ่านหูผ่านตามาบ่อย ๆ จะมีทักษะในการจดจำ และแยกแยะได้คล้าย ๆ กับพนักงานธนาคารที่ต้องหยิบจับเงินบ่อย ๆ จะมีทักษะในการสังเกตแบงก์ปลอมนั่นแหละครับ

2.สำหรับการตรวจสอบใบปริญญาบัตรก็ทำแบบเดียวกับข้อ 1 ด้วยเหมือนกันนะครับ

3.บางคนอาจจะคิดด้านลบไปจนสุด ๆ ว่า “งั้น Transcript ตัวจริงก็ปลอมได้เหมือนกันนั่นแหละ” ก็ตอบว่าใช่ครับคือถ้าคนมันจะหาทางปลอม มันก็จะปลอมแม้แต่ตัวจริงให้เหมือนจริง แต่อย่างที่ผมบอกไปแล้วในข้อ 1 ว่าถ้า HR เรียก Transcript ตัวจริงมาดูเปรียบเทียบกับตัวสำเนาด้วย จะดีกว่าการดูเพียงตัวสำเนาเพียงอย่างเดียวไหมล่ะครับ

4.อาจจะมีคำถามว่า “แล้วคนที่จบต่างประเทศล่ะจะเช็กอย่างไร เพราะชื่อมหาวิทยาลัยบางแห่งยังไม่คุ้นเลย” ก็ตอบได้ว่า HR อาจจะต้องเช็กดูว่า ก.พ.รับรองหรือไม่ โดยเข้าไปดูในเว็บไซต์ของ ก.พ.คือ www.ocsc.go.th แล้วไปคลิกตรงการรับรองคุณวุฒิ หรือตามนี้ http://203.21.42.34/acc/search/internew/maininter.html ก็จะเช็กได้ว่ามหาวิทยาลัยนั้น ๆ ก.พ.รับรองหรือไม่ครับ

5.ปกติคนที่จบการศึกษามา มักจะมีเพื่อนร่วมรุ่น มีรุ่นพี่ รุ่นน้อง หรือมีตัวบุคคลที่จะยืนยันได้ว่าคนคนนั้นเคยเรียนอยู่ในสถาบันการศึกษานั้นจริง ในกรณีที่ท่านไม่แน่ใจว่าเขาจะปลอม Transcript ตัวจริงมาให้บริษัทดูหรือไม่ (อย่างกรณีคำถามในข้อ 3) HR และหัวหน้างานของพนักงานคนนั้นคงจะต้องสังเกต หรือดูพฤติกรรมในระหว่างการทำงาน หรือเวลาพูดคุยกับพนักงานก็คงจะต้องสังเกตดูว่าเขาอ้างอิงตัวบุคคล สถานที่ กิจกรรมที่เคยทำ ฯลฯ สมเหตุสมผลหรือไม่


หรือพูดง่าย ๆ ว่าถ้า HR ตรวจสอบ Transcript ตัวจริงแล้ว แต่ยังไม่แน่ใจว่าปลอมหรือไม่ คงต้องเช็กไปยังสถาบันที่คนคนนี้จบมาแล้วล่ะครับ หวังว่าบทความนี้คงจะเป็นประโยชน์กับพี่ ๆ น้อง ๆ ชาว HR ให้ปลอดภัยจาก Transcript เสิ่นเจิ้นนะครับ