“ไมโครซอฟท์” DigiGirlz สร้างนวัตกรหญิงมืออาชีพ

เนื่องเพราะไมโครซอฟท์จัดกิจกรรม #MakeWhatsNext-DigiGirlz 2019 เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กนักเรียนหญิงไทย ตระหนักถึงศักยภาพของตนผ่านการแข่งขันการใช้ทักษะดิจิทัล สำหรับปีนี้เป็นปีแรกที่ไมโครซอฟท์นำ micro : bit เข้ามาใช้

โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม จ.อ่างทอง ซึ่งได้สร้างสรรค์โครงงาน “แบบจำลองการแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ด้วยระบบ IOT”

“รัชนี จณะวัตร” ผู้อำนวยการฝ่ายที่ปรึกษาดิจิทัล บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า #MakeWhatsNext DigiGirlz เป็นโครงการระดับโลกของไมโครซอฟท์ ที่มุ่งมั่นสนับสนุนเด็กผู้หญิงในการประกอบอาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็มศึกษา (STEM) ในประเทศไทย โดยปีนี้ไมโครซอฟท์มุ่งมั่นที่จะผลักดันศักยภาพของเยาวชนหญิงผ่านการเขียนโค้ดสำหรับอุปกรณ์แผงวงจร micro : bit ของบีบีซี และสร้างแรงบันดาลใจให้น้อง ๆ ในการประกอบอาชีพสาขาสะเต็ม ผ่านการรับฟังประสบการณ์จากภาครัฐ และภาคเอกชนหลากหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทย

“โครงการนี้เราร่วมมือกับบริษัทสิริ เวนเจอร์ส จำกัด ในการสนับสนุนงานด้านการเสริมสร้างทักษะดิจิทัลของไมโครซอฟท์ รวมไปถึงภาครัฐอย่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ที่เป็นกำลังสำคัญ”

“จิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี บริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า ในฐานะผู้นำด้านการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการใช้ชีวิต (PropTech) รายแรกของไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของ IOT ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเทคโนโลยี smart living และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเยาวชนไทย

“เด็กผู้หญิงเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ และสร้างสรรค์เทคโนโลยี เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับโลกของเรา โดยปีนี้มีนักเรียนหญิงสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 145 คน และมีทีมที่ผ่านคัดเลือก 13 ทีม เพื่อนำเสนอแนวคิดโครงงาน พร้อมรับคำแนะนำจากโค้ช และรับชุดmicro : bit ประดิษฐ์ผลงาน ซึ่งทีมผู้ชนะเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม จ.อ่างทอง ได้รับรางวัลเป็นทุนการศึกษามูลค่า 30,000 บาท”

“จุฬาลักษณ์ แตงเอี่ยม” หนึ่งในสมาชิกของทีมนักเรียนที่ชนะเลิศการแข่งขัน ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม จ.อ่างทอง กล่าวถึงผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศว่า เป็นแบบจำลองการแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ด้วยระบบ IOT โดยเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ในบริเวณที่ติดตั้งอุปกรณ์ อุปกรณ์จะสามารถตรวจจับได้ว่าอุณหภูมิสูงเกินค่าที่กำหนดไว้หรือไม่

“จากนั้นอุปกรณ์จะแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ผ่านแอปพลิเคชั่นการส่งข้อความ พร้อมส่งข้อมูลที่จำเป็นได้แก่ แผนที่พิกัดที่ติดตั้งอุปกรณ์ อุณหภูมิที่เกิดเหตุ ชื่อของผู้ใช้งาน และเบอร์ติดต่อไปที่เว็บไซต์ที่จัดทำให้สำหรับสถานีดับเพลิง ขณะเดียวกัน ตัวอุปกรณ์จะสามารถสั่งงานให้เปิดน้ำเพื่อดับไฟแบบเบื้องต้นได้อีกด้วย”

“ก่อนจะเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ สมาชิกทุกคนในทีมของเราไม่เคยมีทักษะด้านการเขียนโค้ดมาก่อนเลย ซึ่งเรามีโอกาสพัฒนาทักษะด้านการเขียนโค้ดเป็นครั้งแรกจากการฝึกอบรมที่ทางไมโครซอฟท์จัดขึ้นในวันแรกของการแข่งขัน และเรารู้สึกว่าการเข้าร่วมโครงการนี้เหมือนเป็นการเปิดโลกใหม่ให้กับเรา ทุกอย่างไม่ได้ยากเกินกว่าความสามารถ ทุกคนสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับเรา”

การพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ หากปราศจากมุมมองของผู้หญิงที่มีความรู้ความสามารถในสาขาสะเต็มศึกษา อาจทำให้ขาดปัจจัยที่ก่อให้เกิดโซลูชั่นเชิงสร้างสรรค์ได้ ดังนั้น การสร้างความสนใจ พัฒนา และสนับสนุนผู้หญิงให้เติบโตในสาขาสะเต็มศึกษา จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง