‘บัณฑูร ล่ำซำ’ ปฏิบัติการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา

จากดำเนิน “โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา” ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และธนาคารกสิกรไทย ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อมุ่งพัฒนาการศึกษาให้แก่เยาวชนไทย จากการเรียนแบบท่องจำสฟู่การเรียนรู้คิดวิเคราะห์ในเชิงเหตุและผล ด้วยการทำโครงงานฐานวิจัย (Research-Based Learning : RBL) ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เศรษฐกิจชุมชน และวิทยาศาสตร์สร้างสรรค์ ทั้งยังพัฒนาความคิด และกระบวนการเรียนการสอนของครู ภายใต้การบูรณาการแนวคิดสะเต็มศึกษา(STEM-Science, Technology, Engineering, Mathematics) ที่เชื่อมโยงกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และบริบทที่เป็นจริงของชีวิตเข้าด้วยกันจนเกิดการนำวิธีคิดในโครงการไปต่อยอดในชีวิตจริง

ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการกว่า 135 แห่ง 842 ห้องเรียน มีครู 4,579 คน และนักเรียนอีก 24,612 คน ที่เข้าร่วมโครงการมีการทำโครงงานฐานวิจัยกว่า 5,161 โครงงาน ทั้งยังมีผลงานเชิงประจักษ์ชัดเจนที่สะท้อนจากคะแนนการสอบ O-NET ของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในพื้นที่ภาคเหนือ (ลำปาง, ลำพูน และแพร่) ที่มีผลคะแนนเฉลี่ยแต่ละรายวิชา ได้แก่ ภาษาไทย, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ สูงกว่านักเรียนที่ไม่ได้ร่วมโครงการ

ทั้งนั้น แม้ว่าโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาจะสิ้นสุดลงในเดือนพฤษาคม 2562 แต่ด้วยปัจจัยความสำเร็จที่เกิดขึ้น ธนาคารกสิกรไทย จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา ในฐานะศูนย์พี่เลี้ยง ขยายผลมาสู่ “โครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา” เพื่อสานต่อโครงการอนุรักษ์ป่าน่าน ในการปลูกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ นำเอากระบวนการและแนวคิดเพาะพันธุ์ปัญญาไปปรับใช้ในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน ตลอดจนมีเจตคติที่จะหวงแหนทรัพยากรในถิ่นกำเนิดของตน

โดยเฉพาะการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ที่สำคัญของจังหวัดน่าน อันสอดคล้องกับแนวพระราชดำริใน “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ที่พระราชทานในการสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน” ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560 ความว่า “…การรักษาป่าและทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ

มีหลากหลายวิธี วิธีการหนึ่งที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน นั่นคือการให้โอกาสเด็กและเยาวชนของเราได้เรียนรู้จากธรรมชาติรอบตัวของเขา มีความรู้ความเข้าใจ เกิดความรักความผูกพัน และหวงแหนในทรัพยากรของตน โดยการจัดกิจกรรมที่เน้นให้เด็กและเยาวชนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เรียนรู้วิถีการดำรงชีวิตของชุมชนที่พยายามปรับตัวให้อยู่ร่วมกับป่า ด้วยการผสมผสานความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ และภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนอย่างสมดุล…”

“บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาถือเป็นการปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนของเยาวชนไทยให้เกิดการเรียนรู้ คิดในเชิงเหตุ ด้วยวิธีการRBL และเป็นจุดเริ่มต้นในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการศึกษาอื่น ๆ ตระหนักถึงการปฏิรูปการเรียนรู้ในระบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานได้อย่างเป็นรูปธรรม

“ทั้งยังสร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวครูและส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่ปีแรกของการทำงานโดยโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะเป็นต้นแบบการเรียนรู้ที่สามารถขยายผลที่มีอาจารย์ทั้ง 8 มหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นศูนย์พี่เลี้ยง สนับสนุนให้ครูอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครูเป็นผู้อำนวยการจัดการเรียนรู้ด้วยผ่านกระบวนการถามคือสอน, สะท้อนคิดคือเรียน และเขียนคือคิด จนออกเป็นคำตอบ”

“โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาถือเป็นการพิสูจน์นวัตกรรมห้องเรียน ที่เปลี่ยนแปลงครูให้เกิดผลลัพธ์ที่เด็ก โดยเด็กที่ผ่านกระบวนการของโครงการมีการเปลี่ยนแปลง คือ คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น จนเป็นที่ยอมรับ และถูกนำไปใช้ในการพัฒนาการผลิตครูของมหาวิทยาลัยหลายแห่งอีกด้วย”

“ความสำเร็จของโครงการเกิดขึ้นถือว่ามาจากหลายปัจจัยที่เกื้อกูลกัน ตั้งแต่องค์ความรู้ที่สร้างขึ้นจากทีมงาน สกว. นำโดย ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ภาวะผู้นำของครูตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการ ไปจนถึงครูผู้สอนที่ยอมรับกระบวนการใหม่ ๆและศูนย์พี่เลี้ยงที่เป็นผู้ถ่ายทอดกระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนนักเรียนที่มีส่วนร่วมในโครงการ ที่สำคัญ คือ สื่อมวลชนที่เผยแพร่หลักการ กระบวนการ และผลการปฏิบัติแก่สังคม จนทำให้โครงการเป็นที่รู้จัก เกิดการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศอย่างมหาศาล”

“บัณฑูร” กล่าวอีกว่า ด้วยความเชื่อในวิธีการ และกระบวนการของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทย และมหาวิทยาลัยพะเยา ในฐานะศูนย์พี่เลี้ยง จึงร่วมกันจัดทำโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา โดยคัดเลือก 30 โรงเรียนใน จ.น่าน เพื่อพัฒนาตามกระบวนการและแนวคิดเพาะพันธุ์ปัญญา ขยายผลและปรับใช้กับระบบการศึกษาในพื้นที่ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ 2562-2565

“สำหรับการดำเนินงานน่านเพาะพันธุ์ปัญญา จะเน้นกระบวนการคิดจิตวิทยาศาสตร์ (Scientific Mind) ที่เชื่อมั่นว่าผลเกิดจากเหตุ และเน้นการเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างชีวิต, การพัฒนา และความยั่งยืน ที่ใช้หลักการ Systems Thinking ที่เป็น SEEEM (Science, Economics, Ecology, Engineering Mathematics) เพราะเด็กน่านต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างระบบนิเวศ (ecology) และการทำมาหากิน (economics) โดยเด็กจะได้เรียนจากการทำโครงงานฐานวิจัย ด้วย SEEEM concept”

“ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 ใน 30 โรงเรียน และตั้งเป้าที่จะขยายให้ครบทุกระดับชั้นและหวังว่าระบบการเรียนรู้แบบเพาะพันธุ์ปัญญาจะอยู่ในการจัดการการศึกษาของชาวน่าน โดยเฉพาะการเป็นตักศิลาของการเรียนรู้ด้วยการทำโครงงานฐานวิจัยแบบ RB”

“โครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญาและโครงการรักษ์ป่าน่าน จึงเป็นการดำเนินงานที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยมีเป้าหมายคือ รักษ์ป่าน่านต้องการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้คนอยู่กับระบบนิเวศอย่างสมดุล และการที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนเป็นรูปธรรมจับต้องได้ คนในพื้นที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว”


อันจะทำให้กระบวนการเรียนรู้โดยน่านเพาะพันธุ์ปัญญา เป็นการสนับสนุนโครงการรักษ์ป่าน่านในอีกทางหนึ่งด้วย