“มหิดล” กระหึ่มเวทีโลก คว้ามาตรฐานดนตรี-บริหาร

มหาวิทยาลัยมหิดลมีเป้าหมายพัฒนาและยกระดับหลักสูตร โดยตั้งเป้าเป็น 1 ใน 100 สถาบันที่ดีที่สุดของโลกภายในปี 2573 ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวได้คืบหน้าใกล้ความเป็นจริงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะล่าสุด 2 วิทยาลัยของมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการรับรองมาตรฐานระดับนานาชาติติด ๆ กัน

โดย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ได้รับการรับรองมาตรฐานหลักสูตรโดย “MusiQuE” (Music Quality Enhancement) และเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านดนตรี “แห่งแรก” ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับนานาชาติและวิทยาลัยการจัดการ หรือซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับนานาชาติจาก AACSB (Associationto Advance Collegiate Schools of Business) ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้มาตรฐานคุณภาพระดับโลก

รศ.ดร.ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า MusiQuE เป็นการประเมินคุณภาพสถาบันดนตรีจากองค์กรภายนอก โดยผู้ประเมินมาจากผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันต่าง ๆ ทั่วทวีปยุโรป ซึ่งการได้รับรางวัลดังกล่าวจะช่วยผลักดันวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ก้าวไปเทียบเคียงกับสถาบันระดับโลกได้

“หลักสูตรดุริยางคศาสตรบัณฑิต : ดศ.บ. (Bachelor of Music : B.M.) ได้รับผลประเมินที่ดีเยี่ยมในทุก ๆ มาตรฐานการประเมิน นอกจากนั้น รายงานการประเมินคุณภาพ ยังระบุว่า วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มีศักยภาพอย่างสูงที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านคุณภาพหลักสูตรและสถานะของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์สู่ระดับนานาชาติ คุณภาพของผู้สมัคร บทบาทต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และบทบาทของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ในฐานะของตัวแทนทางวัฒนธรรมของประเทศไทย โดยการรับรองหลักสูตรจะมีผลจนถึงปี 2568”

การนำเกณฑ์มาตรฐานการประเมินเฉพาะทางในสาขาต่าง ๆ มาใช้ให้สอดคล้องกับหลักสูตรและการบริหารสถาบันที่แสดงถึงความสามารถและศักยภาพ โดยเริ่มจากนำเกณฑ์ MUQD(Mahidol University Quality Development ระบบคุณภาพมหาวิทยาลัยมหิดล) มาใช้ในเบื้องต้นจากนั้นได้เริ่มนำเกณฑ์ EdPEx (Education Criteria for PerformanceExcellence-การพัฒนาคุณภาพ

การศึกษาสู่ความเป็นเลิศ) เข้ามาใช้ และมีการตรวจประเมิน สำหรับระดับหลักสูตรเริ่มนำเกณฑ์ AUN-QA (ASEAN University Network-Quality Assurance) มาใช้เมื่อปี 2554 และเริ่มพัฒนาสู่การปฏิบัติทั่วมหาวิทยาลัย

ด้าน “ดร.ดวงพร อาภาศิลป์” คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงวิทยาลัยการจัดการว่า ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานนานาชาติของ AACSB ในทุกหลักสูตรเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2562 ซึ่ง AACSB เป็นองค์กรที่ให้มาตรฐานคุณภาพระดับโลกกับสถาบันที่สอนด้านธุรกิจ ที่ก่อตั้งมากว่า 100 ปี ในการพิจารณารับรองมาตรฐานนั้น AACSB เน้นความเป็นเลิศของสถาบันที่ขอรับการประเมินในด้านการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร การทำวิจัย โดยพิจารณาจากความชัดเจนของพันธกิจ เป้าหมาย การปฏิบัติตามพันธกิจด้วยทรัพยากรที่เพียงพอ มีความมุ่งมั่นและมีนวัตกรรม ในขณะเดียวกันก็มีการสร้างผลกระทบที่สำคัญให้เกิดขึ้น

“กระบวนการประเมินของ AACSB เข้มข้นมาก โดยมีคณะผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกเป็นผู้ประเมิน และจากตัวเลขจำนวนสถาบันที่สอนด้านธุรกิจและการจัดการกว่า 17,000 แห่งทั่วโลก มีเพียง 5% ของจำนวนเหล่านี้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน AACSB”

ดร.ดวงพรยังระบุถึงสาเหตุที่ทำให้วิทยาลัยการจัดการส่วนหนึ่งที่ทำให้เราผ่านการรับรองมาตรฐานนานาชาติของ AACSB เพราะเราเน้นกระบวนการวิเคราะห์กรณีศึกษาที่มีประเด็นปัญหาในทางธุรกิจ และนำเสนอแนวทางแก้ไขพัฒนา หรือ problem-based approach และเน้นการนำเอาข้อมูลผลจากการวิจัยในภาคธุรกิจมาเป็นฐานการเรียนการสอน

การรับรองมาตรฐานทั้ง 2 สาขาเป็นเครื่องยืนยันได้ถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยมหิดล