“วช.” ระดมมันสมอง ท้าทายงานวิจัยไทยรองรับอนาคต บนเวทีระดมความคิดเห็นต่อ

“ทิศทางการวิจัยกับประเทศไทยในอนาคต” ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ ราชบัณฑิตยสภา นับเป็นเวทีสำคัญต่อการพัฒนาประเทศที่รวบรวมบูรณาการราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก ผู้ทรงคุณวุฒิ และเมธีวิจัยอาวุโส มาร่วมกันระดมสมองถึงการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ด้วยการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศที่ครอบคลุมในหลากหลายมิติ ทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา การเสริมสร้างศักยภาพของอุตสาหกรรมให้แข่งขันในระดับภูมิภาค และระดับโลก

ก่อนหน้านี้ สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้มอบหมายงานสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย 2 เรื่อง คือ กระบวนการสร้างคน ผ่านกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และงานด้านการวิจัย และนวัตกรรมที่จะขับเคลื่อนผ่านสำนักงานวิจัย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ในปี 2563 มุ่งเน้นไปที่เศรษฐกิจฐานชีวภาพ (bioeconomy) และเศรษฐกิจที่เน้นการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่เป็นวงจรไม่รู้จบ (circular economy)

“ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล” ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระบุว่าเฉพาะในปี 2563 เตรียมงบประมาณไว้ 2,500 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนวิจัยให้สอดคล้องกับนโยบาย และสำหรับการวิจัยที่จะให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นนั้นจะมีเรื่องพลังงานหมุนเวียน โดยใช้พลังงานชีวภาพ

“นักวิจัยจะต้องมาประเมินว่าจะทำการวิจัยในเรื่องอะไร และการใช้งบประมาณสนับสนุนเท่าไหร่ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนต่อไป นั่นคือการพิจารณาเงินสนับสนุนการวิจัยจาก “กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)” ที่ต้องทำหน้าที่รวบรวมเงินทุนด้านการวิจัย และการกระจายไปยังหน่วยงานที่ให้ทุนเพื่อการวิจัยที่ปัจจุบันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น วช. และสำนักงานพัฒนาวิจัยการเกษตร (สวก.) เป็นต้น”

“ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์” ระบุอีกว่า หลังจากที่ระบบกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ฯเริ่มดำเนินการแล้วนั้น คาดว่าจะมีการจัดตั้งหน่วยงานที่สามารถให้ทุนวิจัยเพิ่มเติมอีก เพราะอนาคตจะมีเทคโนโลยี หรือเครื่องมือใหม่เข้ามาใช้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC : EasternEconomic Corridor เช่น เพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมบางชนิด ทั้งนี้ การจัดสรรงบฯเพื่อการวิจัย ถือเป็น 1 ใน 7ภารกิจของ วช. เพื่อส่งเสริมทิศทางสำคัญของประเทศ และนำไปสู่การบริหารทุนสำหรับงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพต่อไป

ทั้งนี้ ทิศทางการวิจัยของประเทศจะปรับมาเป็น “เชิงบวก” มากขึ้น ขณะนี้ถือเป็นจัดระบบ และขับเคลื่อนครั้งสำคัญของประเทศ และปี 2563 จะเป็นปีแรกที่ใช้กลไกใหม่เหล่านี้ และจะทำให้เห็นภาพของการเชื่อมต่อกันของผลงานวิจัย

นอกเหนือจากนั้น วช.ยังมีโครงการที่เรียกว่า “ท้าทายไทย” เป็นโครงการที่จะเข้ามา “ปรับทิศทาง” การวิจัยของประเทศ จากเดิมที่การวิจัยมักจะกำหนดเป็นหัวข้อย่อย ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับความต้องการ หรือไม่ใช่โครงการที่มุ่งเน้นเป็นสำคัญของประเทศ และของใหม่จะต้องให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ภายใต้โครงการวิจัยดังกล่าว ยังมีโครงการวิจัยในหัวข้อ “ประเทศไทยในอนาคต” (Future Thailand) เพื่อให้ได้ความรู้เพิ่มเติม และนำไปวิเคราะห์ข้อมูลต่อได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งรายละเอียดที่ได้จากการวิจัยจะทำให้สามารถวางกรอบการพัฒนาประเทศได้ตรงจุดมากที่สุด

“การมองถึงอนาคตอาจดูเป็นเรื่องยาก และมีหลายแนวทางตั้งแต่ไทยไม่ทำอะไร แค่เดินตามนโยบายภาครัฐที่กำหนดไว้ อีกภาพคือการอยากเห็นอะไรที่ดีกว่าเดิม ในขณะเดียวกันบางภาพเสนอแนวทางไว้ แต่มองว่าเกิดขึ้นลำบาก ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ วช.อยากเห็นภาพที่หลากหลายที่มากกว่าการบอกว่า ควรทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไร อยากเห็นว่าเมื่อสถานการณ์เกิดขึ้นแบบนั้น เราควรทำอะไร หรือควรระมัดระวังอะไร หรือไม่ควรทำอะไร งานวิจัยต้องเสนอว่าเราควรทำอะไร ซึ่งงานวิจัยจะต้องตอบคำถามเหล่านี้ได้ทั้งหมด”

“ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาระบุว่า นอกจากจะดูว่าสังคมจะไปทางไหนนั้น การมองเพียงแค่ปัจจัยที่จะเข้ามาคุกคามเท่านั้นไม่ได้ ยกตัวอย่าง ความท้าทายของประเทศในเรื่อง “การใช้พลังงาน” ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับปัญหาโลกร้อนด้วย เนื่องจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าประชุมอาเซียน และมีการกล่าวถึงภาวะโลกร้อน โดยในท้ายที่สุดจะต้องมีแผนเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน และการขยายการใช้ถ่านหิน”

“ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องขัดแย้งกันพอสมควร ความท้าทายเรื่องพลังงานที่เกี่ยวโยงกันกับเรื่องโลกร้อน ทั้งนี้ ยังเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม โดยควรใช้แนวทางที่ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว อย่างบริบทของโลก ควรจะมีเรื่องความร่วมมือกันระหว่างประเทศ เพราะในขณะนี้ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งอยู่ได้เพียงลำพังได้ แม้แต่ในระดับภูมิภาคก็จะต้องมีมิติความร่วมมือกันด้วย”

สำหรับประเด็นสำคัญที่นักวิจัยจะต้องผนวกรวมเอาไว้ด้วย คือ “ปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่น” ผลงานวิจัยควรจะบอกถึงลักษณะคนไทยในอนาคตจะต้องเป็นอย่างไร เพื่อให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ นำไปวางรากฐานตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับมหาวิทยาลัย

นอกเหนือจากการระดมสมองของนักวิจัย ยังมีช่วง “นำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการวิจัยและนวัตกรรม” อีกด้วย ครั้งนี้การนำเสนอได้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแพทย์, ทันตแพทย์, เทคนิคการแพทย์ และสัตวแพทย์ เช่น การวิจัยเรื่องแคลเซียมในโรคกระดูกพรุนของ ศ.ดร.นพ.นรัตถพล เจริญพันธ์, ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ จากงานวิจัยโรคพาร์กินสันที่ทำอย่างไรที่แพทย์จะสามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้เร็วขึ้น เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการของโรคอย่างเห็นได้ชัดแล้วจึงมารักษา นั่นหมายถึงว่าระบบสมองได้เสื่อมไปแล้ว 50% และ รศ.นพ.ณัฐชัย ศรีสวัสดิ์ ที่นำเสนอการวิจัยโรคไตวายเฉียบพลัน เป็นต้น

ทั้งนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติมีบทบาทสำคัญในการต่อยอดกันและกัน เพื่อสร้างองค์ความรู้หลักให้กับประเทศ จนนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศด้วยการวิจัย และนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์, สังคมศาสตร์, มนุษยศาสตร์ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังต้องทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัยอีกด้วย

…………………………………

“วช.” เปิดยื่นขอทุนวิจัยพิเศษ

ล่าสุดสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ประกาศ ทุนนโยบายและงานวิจัยพิเศษและเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศ ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 กันยายน 2562 ในเรื่อง “ประเด็นท้าทายด้านสุขภาพ สังคมและสิ่งแวดล้อม” ประจำปีงบประมาณ 2563 คือ 1) ทุนวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นสำคัญของประเทศการพัฒนาสุขภาพ สังคมและสิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากการใช้แร่ใยหินและศึกษาวัสดุทดแทน และงานวิจัยเรื่องภัยพิบัติ ซึ่งผลวิจัยจะต้องได้ผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม สามารถนำมาใช้ประโยชน์แท้จริง 2) ทุนพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และ 3) ทุน

นโยบายและงานวิจัยพิเศษและเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศ

โดยเฉพาะการศึกษาเรื่องใยหินที่จะต้องศึกษาจนถึงวัสดุที่นำมาใช้ทดแทนแร่ใยหิน วิจัยผลิตภัณฑ์ 5 ประเภท คือ กระเบื้องยางปูพื้น กระเบื้องแผ่นท่อน้ำซีเมนต์ใยหิน ผ้าเบรกและคลัตช์

กระเบื้องมุงหลังคา ที่ไม่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน หรือการวิจัยและพัฒนาใยสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติแทนแร่ใยหิน และวิจัยให้ได้ซึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่มาทดแทนผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหิน