AP-AIS-Kbank ทุ่ม 100 ล้าน ผุด “The Stanford Thailand Research Consortium” กระตุ้นวิจัยไทยให้ทันโลก

“ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) โดย “อนุพงษ์ อัศวโภคิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) โดย “กานติมา เลอเลิศยุติธรรม” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) โดย “ขัตติยา อินทรวิชัย” กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย ร่วมผนึกกำลังสนับสนุนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในด้านต่างๆ เพื่อปูทางไปสู่ความสำเร็จและความก้าวหน้าของประเทศ พร้อมต่อยอดความร่วมมือดังกล่าว

โดยให้การสนับสนุนด้านเงินทุนและจัดตั้ง The Stanford Thailand Research Consortium ภายใต้การดูแลและดำเนินการของ เอสอีเอซี (SEAC) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน โดย “อริญญา เถลิงศรี” กรรมการผู้จัดการ SEAC

มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกด้านการวิจัย อีกทั้งยังเชี่ยวชาญในด้านการบริหารซึ่งเป็นมรดกทางความคิดของผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย คุณเจน และคุณลีแลนด์ สแตนฟอร์ด โดยนักวิจัยที่มีบทบาทใน Consortium นั้น มาจากคณะต่างๆ อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะบริหารศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะสิ่งแวดล้อมและพลังงาน

และด้วยความเชี่ยวชาญและมุมมองอันหลากหลายจะช่วยให้บรรลุเป้าประสงค์ของ Consortium ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ความร่วมมือดังกล่าวยังจะได้รับประโยชน์จากองค์ความรู้ในมุมของประเทศไทยจาก SEAC ที่มีศักยภาพในด้านการให้คำปรึกษา การอบรมและการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ

สำหรับรูปแบบ The Stanford Thailand Research Consortium เป็นการผนึกกำลังขององค์กรชั้นนำของประเทศไทยเข้าด้วยกัน โดยองค์กรเหล่านี้มีอุดมการณ์และความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะผลักดันประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและก้าวหน้าไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจยุคดิจิตอลที่ขับเคลื่อนด้วยความเฉลียวฉลาด

ทั้งนี้ The Stanford Thailand Research Consortium จะทำการคัดเลือกสมาชิกที่มีความตระหนักถึงประเด็นและปัญหาด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่มุ่งหวังต้องการการจัดการ ซึ่งเป็นความท้าทายที่งานวิจัยอันทรงคุณค่าของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดสามารถช่วยเข้าไปแก้ไข สมาชิกของ Consortium จะได้รับการจัดสรรให้เข้าร่วมการจัดการปัญหาในระดับที่เหมาะสมกับตนเอง

สมาชิกมีระยะเวลาการเข้าร่วม 5 ปี โดยเป้าประสงค์ของ The Stanford Thailand Research Consortium คือ เพื่อกระตุ้นและผลักดันการพัฒนาของประเทศไทยด้านการลงทุนในงานวิจัยต่างๆ ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อประชากรในประเทศ ต่อเศรษฐกิจของประเทศ และต่ออนาคตของประเทศอย่างมีกลยุทธ์

ส่วนเป้าหมาย The Stanford Thailand Research Consortium เน้นเป้าประสงค์สำคัญ 4 ประการ เพื่อเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศไทย ซึ่งสื่อถึงจิตวิญญาณของประเทศที่พร้อมจะก้าวไปสู่การพัฒนาอีกระดับ อันได้แก่ 1) การยกระดับความสามารถของคนไทยให้เท่าทันโลก 2) การนำเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจไทย 3) เสริมสร้างมาตรฐานคุณภาพชีวิตของคนไทยให้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน และ 4) ส่งเสริมการพัฒนาสังคมเมืองที่คิดถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

ขณะที่เป้าหมายระยะยาวของ Consortium แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ “Doing Good” หมายถึง เป้าหมายที่เน้นศักยภาพความก้าวหน้าของประเทศ และ “Doing Well” ที่เน้นด้านความสนใจของสมาชิกเพื่อพัฒนาความสามารถของบริษัท

อย่างไรก็ตาม สมาชิกผู้ก่อตั้ง Consortium มีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล และเชื่อมั่นว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวจะช่วยสมาชิกให้ประสบความสำเร็จได้ โดย Consortium ดึงศักยภาพอันเป็นเลิศจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดออกมาเพื่อสร้างให้เกิดความเข้าใจถึงความท้าทายที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญอย่างถ่องแท้