ได้ 9,000 บาท 5 เดือน รัฐจ้างหมื่นอัตรา ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผุดโครงการ “อว.สร้างงาน” ช่วยประชาชนที่ว่างงาน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 10,000 คน ให้มีงานทํา ภายใต้ภารกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ในกระทรวง อว. รับค่าจ้าง 9,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 5 เดือน

​ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษาฯ มีบทบาทหลักในการสร้างคน และมีส่วนในการช่วยเหลือประชาชนหลายด้าน โดยเฉพาะในวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้เราได้คิดโครงการสร้างงานขึ้นมา สำหรับนักศึกษา ประชาชนที่ว่างงานเนื่องจากสถานการณ์โควิด โดยจัดสรรงบประมาณกว่า 500 ล้านบาท เพื่อจ้างงานจำนวน 10,000 อัตรา เป็นระยะเวลา 5 เดือน โดยให้ค่าตอบแทนเดือนละ 9,000 บาท ไม่ได้จำกัดวุฒิการศึกษา อายุ สาขาวิชาที่สำเร็จการศึกษา และประสบการณ์การทำงาน เพียงแต่จะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับสิทธิอื่นของรัฐ หรือต้องเป็นบุคคลที่ไม่ได้รับสิทธิมาตรการเยียวยา 5,000 บาท และเกษตรกรผู้ได้รับเงินเยียวยาช่วงโควิด-19

ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า โครงการนี้ไม่ได้มองแค่ระยะสั้นที่จัดขึ้นเพื่อประทังความเดือดร้อนประชาชน แต่มองในระยะยาว ซึ่งคาดว่าจะเป็นการตอบโจทย์โลกหลังโควิดที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งในด้าน เศรษฐกิจ สังคม ดังนั้นโครงการจ้างงานยังเป็นการเสริมทักษะรีสกิล อัพสกิล แรงงานสมัยใหม่ด้วย โดยทั้ง 10,000 คน จะเข้ามาทำงานภายใต้หน่วยงานของ อว. จำนวน 42 หน่วยงาน ซึ่งจะเป็นผู้จ้างงานประชาชนให้มาทำงานภายใต้ภารกิจของหน่วยงานนั้นๆ ประกอบด้วย

สถาบันอุดมศึกษาของรัฐทั่วประเทศ 39 แห่ง โดยผู้ที่ได้รับการจ้างจะได้มีส่วนร่วมใน “โครงการพัฒนาชุมชนชนบทและชุมชนเมือง ด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยี” ทำงานด้านการพัฒนาชุมชนเมือง ชุมชนชนบท ซึ่งกระจายอยู่ในท้องถิ่น หรือชุมชนต่างๆ มากกว่า 1,500 ชุมชน

อาทิ การพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคติดต่อชุมชน ทำการช่วยสำรวจ และจัดทำฐานข้อมูลชุมชนที่สำคัญต่อการเฝ้าระวัง หรือช่วยในการวางแผนและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อกำหนดแนวทางในด้านสาธารณสุขชุมชน, การพัฒนาระบบ Smart Farming ในชุมชนที่มีหน้าที่ทำการช่วยสำรวจ และจัดทำฐานข้อมูลด้านการเกษตรในชุมชน ช่วยในการวางแผนการพัฒนาระบบ Smart Farming รายเกษตรกร ช่วยในการจับคู่เทคโนโลยี ที่เหมาะสม ช่วยงานถ่ายทอดเทคโนโลยี Smart Farming ที่สามารถดำเนินการได้ในระยะสั้น, การจัดการขยะชุมชน ช่วยงานถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการจัดการขยะที่สามารถดำเนินการได้ในระยะสั้น, การส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ช่วยสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลในด้านที่เกี่ยวข้อง ช่วยในการวางแผนและวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่, การบริหารจัดการน้ำชุมชน, การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน, การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ช่วยงานสำรวจข้อมูลในด้านที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมี 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ “จิสด้า” ผู้รับจ้างจะได้ร่วมทำ “โครงการคืนผืนป่าให้ประชาชน” ซึ่งจะต้องปฏิบัติงาน ได้แก่ การสำรวจพื้นที่ การจัดทำเขตหมู่บ้าน การจัดทำแผนจัดการทรัพยากรที่ดินป่าไม้ การสำรวจข้อมูลรายแปลง เป็นต้น ซึ่งจะครอบคลุมการทำงานในพื้นที่ 2,324,037 ไร่ 16 จังหวัด

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ทำเรื่อง “โครงการช่วยเหลือการผลิตแก่เอสเอ็มอี และโอทอป” ในโรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร ซึ่งผู้ที่ได้รับการจ้างงาน จะต้องปฏิบัติงาน ได้แก่ การวางแผนการผลิต การใช้เครื่องมือในการผลิต การควบคุมการผลิต การตรวจสอบมาตรฐานและคุณภาพผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์ต้นทุนการผลิต

และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ให้ไปช่วยเหลือเกษตรกร 150 กลุ่มเกษตรกร โดยการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปช่วย ซึ่งผู้ที่ได้รับการจ้างงาน จะต้องช่วยในเทคโนโลยีด้านการแปรรูปมะม่วง เทคโนโลยีการจัดเก็บและยืดอายุของผลผลิตมะม่วง การช่วยผลิตชุดปลูกผัก การช่วยแปรรูปผลไม้ในรูปผลไม้แช่แข็ง เป็นต้น

ทั้งนี้ หน่วยงานที่จ้างงานทั้ง 42 แห่งของ อว. จะทำหน้าที่รับสมัคร การมอบหมายงาน การให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ได้รับการจ้างงาน รวมถึงการฝึกทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน การติดตามและประเมินผล เป็นต้น

“การจ้างงานในแต่ละโครงการ เป็นการเปิดให้ทุกคนที่อยากพัฒนาทักษะความรู้ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้กับหน่วยงานดังกล่าวได้เลยเพื่อจะได้การรับการฝึกทักษะตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน สามารถดำเนินการได้ตามแผนงานที่หน่วยงานกำหนดไว้ เพราะเราให้ดำเนินการอย่างอิสระตามภารกิจจ้างงานที่เป็นประโยชน์ และตัวผู้ได้รับจ้างงานต้องได้รับการพัฒนาทักษะและอัพสกิล รีสกิล โดยโครงการจะเริ่มภายในเดือนพฤษภาคมนี้ หรือช้าสุดไม่เกินกลาง15 พฤษภาคม ขึ้นอยู่กับการรับสมัครของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งจะมีการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมในใบสมัครด้วย เช่น ผู้ที่สมัครต้องการฝึกทักษะด้านใด หรือมีคุณสมบัติตามที่หน่วยงานต้องการหรือไม่ โดยรายละเอียดจะปรากฏในเว็บไซต์ของกระทรวง”

​“โครงการ อว.สร้างงาน แม้จะเป็นมาตรการระยะสั้นระยะเวลา 5 เดือน แต่จะเป็น 5 เดือนที่มีค่าหากผู้เข้าร่วมโครงการนำไปต่อยอดหรือนำทักษะที่ได้รับการจากการทำงานไปประกอบอาชีพใหม่ ซึ่ง อว.พร้อมที่จะเปิดรับให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมโครงการการบ่มเพาะธุรกิจของหน่วยงานของ อว.ได้เลย และในระยะต่อไปจะผลักดันโครงการยุวชนสร้างชาติ โครงการยุวชนอาสา และโครงการบัณฑิตอาสาที่จะเป็นการสร้างงานครั้งใหญ่ในสเกลระดับประเทศโดยทาง อว.ก็ได้เตรียมเสนอของบประมาณในส่วนของ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน เพื่อการจ้างงานรวมถึงการปรับเปลี่ยน หรือเพิ่มทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ ซึ่งจะเป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เกษตรกร ตลอดจนผู้ประกอบการรายย่อยได้ ซึ่งรายละเอียดดังกล่าวจะแจ้งให้ทราบในครั้งต่อไป” ดร.สุวิทย์กล่าว