‘รร.สาธิตพัฒนา’ ผนึก ‘วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ฯ’ เพิ่มทางเลือก soft skill ให้เด็กไทยตอบโจทย์ ศต. ที่ 21

โรงเรียนสาธิตพัฒนา ฝ่ายมัธยม และบริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางการศึกษา (MOU) กับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างเครือข่ายคุณภาพทางการศึกษา (quality education network) อันจะทำให้เกิดต้นแบบของการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพมาตรฐานไม่ต่างจากสถาบันการศึกษาระดับนานาชาติ และยังเป็นการเปิดทางเลือกให้กับนักเรียนที่มีความสนใจด้านดนตรี ได้เรียนรู้กับคณาจารย์จากสถาบันการสอนด้านดนตรีที่มีมาตรฐานระดับโลก ในรูปแบบของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

“ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ” คณบดี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทางวิทยาลัยได้ร่วมมือกับโรงเรียนสาธิตพัฒนา ฝ่ายมัธยม และบริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด ทำหลักสูตรด้านดนตรีสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ทั้งเป็นรายวิชาดนตรีแบบวง และเดี่ยว ซึ่งเป็นสิ่งที่วิทยาลัยไม่เคยทำมาก่อน แต่มีความเห็นร่วมกันว่า การที่เด็กไทยมีโอกาสได้ค้นหาตัวเองตั้งแต่ระดับมัธยมต้น จะมีโอกาสเลือกทางเดินได้เร็ว และแผนเส้นทางความสำเร็จของนักเรียนจะดีขึ้น

“ประเทศไทยยังมีโรงเรียนจำนวนไม่มากที่มุ่งเส่งเสริม soft skill โดยส่วนใหญ่การเรียนดนตรีของแต่ละโรงเรียนจะเป็นแบบการเรียนผ่านชมรม ไม่ใช่การเรียนเป็นรายวิชา ซึ่งผมคิดว่าการส่งเสริม soft skill อย่างจริงจังเป็นก้าวใหม่ของการศึกษาในศตวรรษที่ 21 โดยโรงเรียนระดับมัธยมมีบทบาทมากในการพัฒนาคน เพราะเป็นช่วงอายุที่เด็กกำลังมีความสงสัย เช่น อยากรู้ว่าจะเรียนดนตรีต้องเรียนอะไร จบแล้วไปทำงานอะไรได้บ้าง การที่เด็กไปเริ่มรู้ตัวตอนระดับมหาวิทยาลัย จะช้าเกินไป เปลี่ยนแปลงเส้นทางการเรียนได้ยาก”

 

“เศรษฐพล ไกรคุณาศัย” ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตพัฒนา ฝ่ายมัธยม กล่าวว่า เลิร์นเข้ามาร่วมพัฒนาโรงเรียนสาธิตพัฒนาตั้งแต่ปี 2563 โดยมีเป้าหมายตอบโจทย์การศึกษาที่เป็นเทรนด์ระดับโลก โดยรักษาคุณลักษณะของโรงเรียนสาธิตพัฒนาแบบเดิมเอาไว้ด้วย แต่สิ่งใหม่ที่เราทำคือ การเพิ่มแพลตฟอร์มการเรียนรู้หลายแบบให้นักเรียนเลือกเรียนตามต้องการ

“เรามี 2 กุญแจหลักเป็นแนวทางดำเนินการคือ หนึ่ง เด็กได้เรียนในแผนที่ตัวเองต้องการ เราจะส่งเสริมให้เด็กไม่หลุดประเด็น เช่น อะไรที่ไม่ตรงกับแผนความต้องการในอนาคตของเด็ก เราจะใส่องค์ความรู้ให้เด็กบาหน่อย แต่ถ้าอะไรที่ตรงกับเส้นทางของเด็ก เราก็จะจัดเต็ม โดยใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มมาช่วย เพราะเราต้องการคนเก่งมาสอนเด็ก ๆ แต่หากเราสอนแบบออฟไลน์อย่างเดียว จำนวนครูเก่งจะไม่พอสอนได้ทั่วถึง และค่าใช่จ่ายจะสูงมาก ซึ่งเราไม่ต้องการเพิ่มค่าเล่าเรียน สอง การพาร์ทเนอร์กับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่รู้จริงในเรื่องที่เขากำลังทำอยู่ เช่น วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีความชำนาญเรื่องศิลปะการดนตรี”

ผลจากความร่วมมือครั้งนี้ ทำให้ในปีการศึกษา 2563 เราจัดการเรียนการสอนด้านดนตรีที่โรงเรียนสาธิตพัฒนา ฝ่ายมัธยม ซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ โรงเรียนสาธิตพัฒนา ฝ่ายมัธยม ทั้งในด้านการออกแบบหลักสูตร รูปแบบการเรียนรู้ การนำคณาจารย์เข้ามาสอนในโรงเรียน ฯลฯ


เป็นการเติมเต็มศักยภาพด้าน soft skills ตอบโจทย์การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ให้กับนักเรียน และเป็นโอกาสให้พวกเขาได้ค้นหาตัวเอง เพื่อเลือกเส้นทางเดินในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ