
คณะรัฐมนตรี รับทราบปรับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ใน 3 ประเด็น นายกฯ หนุนวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง “ตรีนุช” เดินหน้าทำกฎหมายลูก รองรับปฏิรูปการศึกษา
วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ได้รับทราบถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิรูปการศึกษา และข้อห่วงใยเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. จากข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง จึงได้หารือกับ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับฟังและเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น
โดยรองนายกฯ ได้เป็นประธานในการหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในการแก้ไขปัญหาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และมีข้อสรุปร่วมกันว่า ให้ปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ใน 3 ประเด็น ดังนี้
- ระบุให้ชัดเจนว่า วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง พร้อมทั้งปรับแก้คำว่า “ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู” เป็น “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” เช่นเดิม
- ประเด็นที่สอง ปรับแก้คำว่า “หัวหน้าสถานศึกษา” เป็น ”ผู้บริหารสถานศึกษา” และปรับแก้คำว่า “ผู้ช่วยหัวหน้าสถานศึกษา” เป็น ”ผู้ช่วยผู้บริหารสถานศึกษา”
- กำหนดให้มี โครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ไว้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (25 พ.ค.2564) ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานการประชุม ได้เห็นชอบในหลักการให้แก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติใน 3 ประเด็นดังกล่าว โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุงแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และเสนอ ครม.เพื่อรับทราบก่อนส่งต่อร่าง พ.ร.บ.ให้รัฐสภา เพื่อพิจารณาต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำความสำคัญเกี่ยวกับวิชาชีพครู และการส่งเสริมสนับสนุนให้ครูเป็นผู้นำในการปฏิรูปการศึกษา
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า หลังจาก ครม.รับทราบร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ตามที่เสนอขอทบทวนแล้ว กระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการตามแผนพัฒนากฎหมายลำดับรอง ทั้งพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง และระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินการตามขั้นตอนของการเสนอกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายหลักที่จะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งทราบว่าขณะนี้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการยกร่างกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับแต่ละหน่วยงานไว้แล้ว
ทั้งนี้ ขอยืนยันว่ากระทรวงศึกษาธิการ พร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาเดินหน้าต่อไปได้ ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา