ศธ.แจงเปิดโรงเรียน 1 มิ.ย. กว่าหมื่นแห่ง – ดีเดย์ฉีดวัคซีนครู 7 มิ.ย.

สุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. (ซ้าย) และนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. (ขวา)

ศธ. ชี้แจงจำนวน ร.ร. ที่เปิดเทอม 1 มิ.ย. 12,571 แห่ง ดีเดย์ฉีดวัคซีนโควิดครูทั่วไทย 7 มิ.ย. ตั้งเป้า 3 หมื่นคน กำหนดให้บุคลากร WFH 90% ย้ำสถานศึกษาช่วยผู้ปกครองลดภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียน

วันที่ 1 มิถุนายน 2564 นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) แถลง 4 ประเด็นน่าสนใจ “การปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัย (Work from Home หรือ WFH) – การฉีดวัคซีนให้กับครู – ข้อมูลโรงเรียนที่เปิดเทอม – แนวปฏิบัติเก็บค่าเทอมลดภาระผู้ปกครองยุคโควิด”

บุคลากร WFH 90%

ปลัด ศธ. กล่าวว่า ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องมาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 แยกเป็น 2 ส่วนได้แก่

1) หน่วยงานที่ไม่ใช่สถานศึกษา ในพื้นที่สีแดงเข้ม 4 จังหวัด (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ) ให้จัดบุคลากรหมุนเวียนมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ทำงาน 10% และ Work from Home 90% ส่วนพื้นที่อื่น ๆ อีก 73 จังหวัด ให้หน่วยงาน เช่น สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ฯลฯ จัดบุคลากรหมุนเวียนมาปฏิบัติงานตามความเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้นตามบริบท

2) ให้สถานศึกษาดำเนินการตามมาตรการที่ ศบค.กำหนด และประกาศ ศธ. เรื่องการเลื่อนเวลาการเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2564 ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ซึ่งในพื้นที่สีแดงเข้ม ศบค.ห้ามใช้พื้นที่และอาคารสถานที่ในการเรียนการสอน แต่ไม่ได้ห้ามหากโรงเรียนจะจัดการเรียนออนไลน์หรือทางไกลในระหว่างนี้ ส่วนพื้นที่อื่น ๆ เช่น จ.ประจวบคีรีขันธ์ แม้โรงเรียนส่วนใหญ่จะเปิดภาคเรียนแล้ว แต่ยังคงใช้การสอนออนแอร์และออนไลน์อยู่ เพราะยังคงระวังเรื่องความปลอดภัย

ร.ร.เปิดเทอม 1 มิ.ย. กว่าหมื่นแห่ง

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ได้สำรวจโรงเรียนที่พร้อมเปิดภาคเรียน จำนวน 28,698 แห่ง (ไม่รวมการศึกษาพิเศษ) โดยมีโรงเรียนที่เปิดภาคเรียนและจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน (On-site) ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน จำนวน 12,571 แห่ง, เปิดภาคเรียนในวันที่ 14 มิถุนายน จำนวน 15,951 แห่ง และเปิดภาคเรียนในช่วงวันที่ 2-13 มิถุนายน อีก 171 แห่ง ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์และบริบทของแต่ละแห่ง

“สถานศึกษาส่วนใหญ่จะเรียนด้วยวิธีผสมผสานทั้ง 5 รูปแบบการสอน คือ On-site, On-air, On-hand, On-demand และ Online ไม่มีการใช้วิธีใดวิธีหนึ่งโดยเฉพาะ แม้แต่โรงเรียนที่เปิดแบบ On-site เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของครูและนักเรียนเป็นสำคัญ ซึ่งเราไม่ได้เอาโรงเรียนหรือครูเป็นฐาน หรือครูกำหนดให้ เพราะที่ผ่านมามีปัญหานักเรียนไม่มีอุปกรณ์ แต่ครั้งนี้มีการสำรวจตามความพร้อมของนักเรียน และเป็นไปตามความสมัครใจของนักเรียนในการเรียนตามช่องทางต่าง ๆ”

โดย สพฐ. จะรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เช่น จำนวนครูสอนออนไลน์จากบ้านไปยังเด็ก หรือเด็กที่เรียนออนไลน์จากบ้าน เพื่อประสานกับ กสทช. ให้ช่วยเหลือดูแลค่าอินเทอร์เน็ตให้กับครูและนักเรียนต่อไป อีกทั้งขณะนี้ สพฐ.ได้แจ้งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขอรับการสนับสนุนให้มีการเรียนผ่าน On-air เพิ่มเติมทางช่อง TPBS, ททบ.5 และช่อง 9 MCOT แล้ว ซึ่งจะมีรายการของ สพฐ. ตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป

ส่วนโรงเรียนประจำ ได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เข้าไปช่วยดูแลด้านสุขอนามัยของนักเรียนในการเตรียมการเปิดภาคเรียน เพื่อคัดกรองและแนะนำการปฏิบัติตัวภายในโรงเรียน พร้อมทั้งให้คำแนะนำกับครูอนามัยในโรงเรียนประจำ โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ที่มีนักเรียนเดินทางมาจากหลากหลายพื้นที่ จะต้องดูแลเป็นพิเศษ โดยหากเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ต้องจัดเป็นกลุ่มและประเมินสถานการณ์ 14 วัน หลังจากนั้นค่อยเข้าสู่ระบบการเรียนปกติ

ฉีดวัคซีนให้ครูวันแรก 3 หมื่นคน

ปลัด ศธ. กล่าวถึงการฉีดวัคซีนให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาว่า ขณะนี้ครูหลายพื้นที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ วันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นวันดีเดย์ของการฉีดวัคซีนครูทั่วประเทศ โดยเฉพาะครูในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม โดยจะดำเนินการฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อ และมอบหมายให้ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประสานกับกรมควบคุมโรคจัดทำรายละเอียดข้อมูลครู เพื่อให้ได้รับการฉีดวัคซีนค่อนข้างครบทุกคน ซึ่งในวันแรกจะฉีดได้ประมาณ 3 หมื่นคน หลังจากนั้นจะทยอยฉีดให้ครบต่อไป

ส่วนในต่างจังหวัดได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดและศึกษาธิการจังหวัดให้ประสานร่วมกัน และมอบหมายให้ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการจัดทำรายละเอียดบัญชีรายชื่อของครูแต่ละโรงเรียนให้กับจังหวัด เพื่อให้ครูเข้ารับการฉีดวัคซีนทันทีที่จังหวัดได้รับวัคซีน

แนวปฏิบัติเก็บค่าเทอมลดภาระผู้ปกครอง

ปลัด ศธ. กล่าวถึงประกาศแนวปฏิบัติเก็บค่าเทอมลดภาระผู้ปกครองยุคโควิด-19 ว่า เนื่องจากโรงเรียนในประเทศไทยมีจำนวนมากและหลากหลายรูปแบบ ทั้งโรงเรียนในสังกัดของรัฐและเอกชน ซึ่งมีการดำเนินการที่แตกต่างกัน โดยหลักจะมีค่าธรรมเนียมการศึกษาปกติ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าแอร์ ค่าว่ายน้ำ ครูสอนภาษาต่างประเทศ ฯลฯ ในช่วงนี้จะมีการจัดการเรียนการสอนหลากหลาย อาจทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหรือลดลงแตกต่างกันไปตามรูปแบบการจัดการเรียนการสอน

ศธ. จึงได้แนะนำให้สถานศึกษาให้โรงเรียนลดหย่อน หากมีค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่ไม่ได้เป็นการให้บริการ เช่น ในกรณีที่ได้มีการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นไปแล้ว ให้คืนเงินบำรุงการศึกษาหรือค่าธรรมเนียมดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนนั้นในระหว่างที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ต้องมีความเห็นร่วมกันระหว่างคณะกรรมการสถานศึกษา สมาคมผู้ปกครองหรือตัวแทนผู้ปกครอง และสถานศึกษา หารือร่วมกัน เป็นการทำงานด้วยความเห็นอกเห็นใจกัน เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเยาวชนไทย

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวเสริมว่า โรงเรียนในสังกัด สพฐ. เป็นของรัฐที่มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนหลายรูปแบบ เช่น โรงเรียนบางโรงเรียนจัดแบบลักษณะห้องเรียนพิเศษเฉพาะ เช่น EP MEP มีการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และโรงเรียนปกติที่ต้องการจัดกิจกรรมเสริม เพื่อให้เกิดคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ สพฐ. มีประกาศการเก็บเงินบำรุงการศึกษาของสถานศึกษาสังกัด ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เขตพื้นที่การศึกษา และเป็นไปด้วยความสมัครใจของผู้ปกครองและนักเรียน ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ สพฐ.กำหนด

แต่ปัจจุบันสถานการณ์การจัดการเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องนำประกาศดังกล่าวมาทบทวน เพื่อให้เชื่อมโยงกับประกาศแนวปฏิบัติเก็บค่าเทอมลดภาระผู้ปกครองยุคโควิด-19 ว่า มีส่วนไหนที่ไม่มีความจำเป็น ทำให้เกิดความเดือดร้อนและเป็นภาระของผู้ปกครอง

“เราต้องหาวิธีที่จะลดค่าใช้จ่ายดังกล่าว โดยขึ้นอยู่กับบริบทและความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ อีกทั้งให้เป็นความสมัครใจของผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย เนื่องจากแต่ละโรงเรียนมีการจัดการศึกษาที่แตกต่างกัน บางอย่างที่เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาอาจจะลดได้ หรือไม่ต้องเป็นความเห็นร่วมกันระหว่างผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา โรงเรียน และเขตพื้นที่ ซึ่งโรงเรียนแต่ละแห่งต้องจัดลำดับความสำคัญของรายการทั้งหมด อะไรที่ไม่จำเป็นต้องตัดออกไป”