สพฐ. ยันไม่เลื่อนเปิดเทอม 1 พ.ย. สั่งทุกเขตรับมือน้ำท่วม-วางแผนฉีดวัคซีน

นักเรียน-โรงเรียน
FILE PHOTO : Romeo GACAD / AFP

สพฐ.สั่งสถานศึกษาเตรียมรับมือน้ำท่วม วางแผนฉีดวัคซีนนักเรียนให้ได้ 85% ยืนยันไม่เลื่อนเปิดเทอม 1 พ.ย. ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ทำตารางเวลาเตรียมแผนเปิดเรียนทั่วประเทศ 

วันที่ 29 กันยายน 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ผ่านระบบ Video Conference เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสาธารณภัยจากเหตุอุทกภัย โดยพายุ “เตี้ยนหมู่” โดยกำชับเน้นย้ำการเฝ้าระวังภัยในช่วงฤดูฝน พร้อมทั้งสำรวจและรายงานความเสียหายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย รวมถึงชี้แจงแนวทางการให้บริการการฉีดวัคซีนไฟเซอร์สำหรับนักเรียนอายุ 12 ปี ขึ้นไป ที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า และหลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 32)

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า เรื่องสำคัญที่อยากเน้นย้ำให้ผู้อำนวยการเขตฯ ทำอย่างเร่งด่วนในตอนนี้คือการดูแลตรวจสอบหลังจากเกิดอุทกภัย ว่ามีความเสียหายในพื้นที่อย่างไรบ้าง หรือมีอะไรที่ต้องปรับปรุงซ่อมแซม และอยากให้ทุกเขตฯ รายงานสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันของแต่ละพื้นที่ให้ทาง สพฐ. ได้รับทราบ เพื่อจะได้เป็นข้อมูลในการดูแลช่วยเหลือได้ โดยสามารถใช้ช่องทางแอปพลิเคชันไลน์ เพื่อความสะดวกในการส่งรายงาน ซึ่งนอกจากเรื่องของอุทกภัยแล้วให้ระวังเรื่องของดินถล่มด้วย หากประเมินสถานการณ์ว่าไม่ปลอดภัยก็ให้นักเรียนเรียนอยู่ที่บ้านได้ 

ครู-นักเรียนต้องรับวัคซีน 85% 

ในเรื่องของการฉีดวัคซีนนักเรียน ช่วงระยะเวลานี้อยู่ในระหว่างการสำรวจรายชื่อนักเรียนที่ประสงค์จะฉีดวัคซีน ซึ่งเราจำเป็นต้องได้รับความประสงค์ฉีดวัคซีนถึง 85%  จึงจะทำให้มีความปลอดภัยสูงเพียงพอสำหรับการเปิดเรียนแบบ On Site ซึ่งนอกจากนักเรียนแล้ว คุณครูก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนถึง 85% เช่นเดียวกัน ดังนั้นต้องติดตามกำกับทั้งนักเรียน คุณครู และบุคลากรในโรงเรียน ให้ได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วน โดยต้องประสานกับสาธารณสุขจังหวัดในการดำเนินการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคมเป็นต้นไป

ส่วนการให้บริการวัคซีนสำหรับนักเรียนที่เรียนในกรุงเทพฯ แต่กลับไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด นักเรียนสามารถยื่นความประสงค์ขอฉีดวัคซีนนอกเขตบริการได้ และวัคซีนที่จะฉีดให้นักเรียนมีตัวเดียวคือไฟเซอร์ ดังนั้นขอให้โรงเรียนทำความเข้าใจกับผู้ปกครองในส่วนนี้ 

นอกจากนี้ หากมีจังหวัดใดที่เกิดเหตุน้ำท่วมแล้วสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายภายในวันที่ 4 ตุลาคม ขอให้ทางเขตฯ วางแผนการฉีดวัคซีนร่วมกับศึกษาธิการจังหวัดและสาธารณสุขจังหวัดอย่างใกล้ชิด พร้อมกับรณรงค์ให้คำแนะนำนักเรียนว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้ว นักเรียนต้องปฏิบัติตนอย่างไร หรือต้องมีการเตรียมตัวก่อนฉีดอย่างไร จึงจะทำให้การฉีดวัคซีนบรรลุวัตถุประสงค์ตามเราที่ตั้งใจไว้ 

ซึ่งตอนนี้กระแสสังคมเรียกร้องการเปิดเรียนแบบ On Site อย่างมาก การฉีดวัคซีนจึงถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ ดังนั้นคนที่มีความสำคัญกับเด็กมากที่สุดคือครูประจำชั้นและครูที่ปรึกษาที่จะให้คำแนะนำกับนักเรียนได้ดีที่สุด ด้วยความร่วมมือกับผู้ปกครองของนักเรียน

ยันยันไม่เลื่อนเปิดเทอม

สำหรับการเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 พฤศจิกายน ในขณะนี้เป็นที่แน่นอนว่าเราจะไม่เลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 2 โดยจะเปิดเรียนตามปกติในวันที่ 1 พฤศจิกายน

อย่างไรก็ตาม ขอให้ ผอ.เขตทุกเขตทำตารางเวลาสำหรับการเตรียมพร้อมเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 พฤศจิกายนว่าจะมีขั้นตอนกระบวนการในการเตรียมพร้อมอย่างไรบ้าง เช่น สัปดาห์ที่ 1 วางแผนว่าจะทำอะไรบ้าง และสัปดาห์ต่อๆ ไปจะทำอะไร โดยจะเชื่อมโยงกับแผนการฉีดวัคซีน พร้อมกับการยื่นขออนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งเชื่อว่าทุกคนมีแผนอยู่แล้วแต่อยากให้เขียนออกมาให้ชัดเจนว่าโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ของเราจะสามารถเปิดเรียนได้กี่โรงเรียน

โดยการเปิดเรียนในเดือนพฤศจิกายนนี้ มีโรงเรียน 2 แบบ คือ 

แบบที่ 1 โรงเรียนพักนอน ซึ่งเด็กกับครูอยู่ในโรงเรียนทั้งหมด ให้ดำเนินการในลักษณะของโรงเรียน sandbox แบบ 100% 

แบบที่ 2 คือ โรงเรียนไป-กลับ จะต้องใช้จำนวนการฉีดวัคซีนเป็นตัวตั้ง ซึ่งกำหนดไว้อยู่ที่ 85% ทั้งในส่วนของนักเรียน ครู และบุคลากร รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าที่มาขายของในโรงเรียนด้วย 

แต่ในส่วนของโรงเรียนระดับประถมศึกษา จากข้อมูลการวิจัยพบว่าเด็กอนุบาลถึงระดับประถมศึกษา มีโอกาสยากมากที่จะติดเชื้อแล้วเกิดอาการร้ายแรง ดังนั้นการเปิดเรียนของเด็กชั้นอนุบาลและประถมศึกษา จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขของการฉีดวัคซีนให้ถึง 85% แต่จะเป็นเงื่อนไขด้านความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง จึงขอให้ทางโรงเรียนทำการประเมินตนเองและวางแผนการเปิดได้เลย

“ในวันนี้เมื่อสถานการณ์โควิด-19 มาถึง มีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้นหลายอย่าง รวมถึงการที่มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เมื่อมีคำถามจากสังคมว่าเราจะมีวิธีการดูแลช่วยเหลือเยียวยาเด็กเหล่านั้นอย่างไร จึงต้องไปดูเรื่องการจ่ายเงินเยียวยา 2,000 บาท ซึ่งการจ่ายเงินตรงนี้จะสามารถประเมินได้ว่านักเรียนมีชื่อในทะเบียนหรือไม่ หรือหากจัดสรรไปแล้วหาตัวเด็กไม่เจอ ก็จะพบเด็กที่หายไปจากระบบ รวมถึงเด็กที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนแต่ไม่เคยมาโรงเรียน ก็จะเป็นข้อมูลให้ผอ.โรงเรียนหรือครูประจำชั้นได้ทำการสำรวจและประเมินความเสี่ยงของนักเรียน ว่ามีเด็กกี่คนที่อยู่ในกลุ่มปลอดภัยสามารถมาเรียนได้ปกติ มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี หรือมีเด็กกี่คนที่อยู่ในความยากลำบาก ต้องได้รับการช่วยเหลือจึงจะสามารถมาเรียนได้ และมีอีกกี่คนที่อยู่ในห้วงอันตรายต้องได้รับการเข้าไปแก้ไขโดยเร่งด่วน ซึ่งเราสามารถช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ได้อย่างหลากหลายวิธีโดยการร่วมมือกันของทุกฝ่าย” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว