ครม.อนุมัติจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา อว.เดินหน้าพลิกโฉมมหา’ลัย

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

ครม.อนุมัติจัดตั้ง “กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา” พัฒนาคน-งานวิชาการ อว.ปลื้ม เป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่พลิกโฉมมหาวิทยาลัย พร้อมตั้งเป้าขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วในอีก 10 ปีข้างหน้า

วันที่ 11 มกราคม 2565 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา” ตามที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนเสนอ และ อว. ดำเนินการ โดยกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษานี้จะเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาอย่างเป็นระบบและมีเป้าหมายทั้งด้านวิชาการและการพัฒนาคนตลอดจนใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้

รมว.อว. กล่าวต่อว่า อว. มุ่งมั่นจะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ภายใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมาก การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วจำเป็นต้องใช้ความรู้เป็นฐานในการพัฒนาประเทศ อว.จึงได้ผลักดันการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษามาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ขอขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ครม.ที่สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนนี้ ถือเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งในการเดินหน้าพลิกโฉมการอุดมศึกษาเพื่อก้าวกระโดดครั้งใหญ่ สอดคล้องไปกับการจัดทำกรอบงบประมาณในปี 2566 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ ครม.ได้อนุมัติกรอบงบประมาณที่สอดคล้องตามมาตรา 45(3) แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 และกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2564 ซึ่งให้จัดสถาบันอุดมศึกษาเป็น 5 กลุ่ม และจะเป็นกลไกสำคัญให้เกิดการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวเพิ่มเติมว่า การอนุมัติการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษานี้เป็นกลไกสำคัญอย่างมากของ อว. ถือเป็นจิ๊กซอว์หลักอีกชิ้นหนึ่งที่เป็นการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาทุกกลุ่มและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ ส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาดำเนินพันธกิจไปในทิศทางที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

โดยมีระบบติดตามตรวจสอบและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถประเมินผลสัมฤทธิ์ของประเทศที่ประกอบด้วยภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ สถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคการผลิตและบริการ รวมถึงผู้เรียน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในอนาคต โดยหลังจากที่ ครม. เห็นชอบแล้วจะมีการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ในขั้นตอนกระบวนการนิติบัญญัติในขั้นต่อไป