ปฏิรูปอาชีวะ ตรีนุช กำชับผลิตกำลังคนให้ทันสมัย

ปฏิรูปอาชีวะ ตรีนุช กำชับผลิตกำลังคนให้ทันสมัย

ตรีนุช ติดตามปฏิรูปอาชีวะกำชับผลิตกำลังคนทันสมัย พร้อมเร่งเพิ่มจำนวนผู้เรียนในระบบทวิภาคีทั้งในวิทยาลัยของรัฐและเอกชน

วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อติดตามผลการดำเนินงานการปฏิรูปการอาชีวศึกษา ของ สอศ.ในประเด็นหลักที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้เร่งรัดให้เห็นผลโดยด่วน ซึ่งพบว่าทุกโครงการดำเนินการได้ดี โดยในด้านการผลิต พัฒนากำลังคน เพื่อตอบสนองความต้องการ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

พบว่า สอศ. มีแผนการผลิตและพัฒนากำลังคน ทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรี ที่ชัดเจน ซึ่งตนได้ขอให้ สอศ.เพิ่มผู้เรียนให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะในสาขาที่เป็นความจำเป็นของประเทศ และให้ สอศ.นำเสียงสะท้อนจากผู้ใช้กำลังคนมาปรับปรุงหลักสูตรและการผลิตกำลังคนให้ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

รวมถึงเร่งรณรงค์เพิ่มผู้เรียนในโครงการอาชีวะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ หรือ อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ เพื่อให้เด็กด้อยโอกาสได้กลับเข้ามาเรียนในระบบ ซึ่งขณะนี้ยังมีที่รองรับนักเรียน นักศึกษาเข้าร่วมโครงการฯได้อีก โดยมุ่งเป้าหมายไปยังผู้เรียนบางกลุ่ม บางพื้นที่ ผ่านผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และองค์การบริหารส่วนตำบล

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า ส่วนโครงการอาชีวศึกษาทวิภาคี ได้ย้ำในการเพิ่มสถานประกอบการที่มีคุณภาพมาตรฐานมาร่วมจัดเพิ่มขึ้น และเร่งเพิ่มจำนวนผู้เรียนในระบบทวิภาคีทั้งในวิทยาลัยของรัฐและเอกชน โดยต้องมีแผนบูรณาการเชื่อมโยงระหว่างการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษา, ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในเรื่องวิชาชีพ ,เพิ่มบทบาทภาคเอกชน/สถานประกอบการ ให้มาช่วยวางแผนการผลิตและพัฒนาคุณภาพการอาชีวศึกษา เพื่อตอบโจทย์ให้ตรงตามความต้องการที่แท้จริง

ซึ่งการดำเนินโครงการอาชีวศึกษาทวิภาคีให้สอดคล้องกับตัวชี้วัด ขั้นตอน และวิธีการดำเนินการของแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา นั้น สอศ.จะต้องทำแผนเพิ่มเป้าหมายผู้เรียนให้มากขึ้น รวมถึงช่วยสนับสนุน แก้ไขและขจัดปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นด้วย

นางสาวตรีนุช กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา หรือ Excellent Center และ ศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา หรือ Center of Vocational Manpower Networking Management (CVM) ตนได้ขอให้มีการเร่งใช้ประโยชน์จาก Excellent Center และ CVM ทุกที่ทั้งการผลิตนักศึกษา ฝึกอบรมและพัฒนากำลังคน ในสาขานั้น ๆ


ส่วนโครงการเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Farmer ได้มีการปรับปรุงการเรียนการสอนในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นผู้เรียนให้มีความสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาบริหารจัดการและลดต้นทุนการผลิต ซึ่งตนได้ขอให้มีการพัฒนาต่อยอดจากสิ่งที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว และที่สำคัญได้ฝากให้ทุกคนช่วยสร้างภาพลักษณ์อาชีวะให้เป็นที่ต้องการของนักเรียน นักศึกษา โดยเชื่อมโยงกับทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการแนะแนวให้เห็นความสำคัญของการเรียนสายอาชีพให้มากยิ่งขึ้น