โรงเลื่อย-โรงอบตรังเด้งรับมติ ครม. ตั้ง “นิคมนวัตกรรมแปรรูปไม้ยาง” 2 หมื่น ล. เมืองคอน-

ทางออก - เพื่อแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำและแก้ปัญหาการส่งออกไม้ยางพารา ในการประชุมครม.สัญจรเมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลจึงเห็นชอบให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง "นิคมอุตสาหกรรมนวัตกรรมแปรรูปไม้ยางพารา" มูลค่า 18,000 ล้านบาทขึ้นในพื้นที่ของการยางแห่งประเทศไทย จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวนกว่า 1,000 ไร่

กลุ่มโรงเลื่อย และโรงอบไม้ ส.อ.ท.เด้งรับหลักการ ครม.สัญจร จัดสร้าง “นิคมอุตสาหกรรมนวัตกรรมแปรรูปไม้ยางพารา” พร้อมตั้งคณะทำงานศึกษา คาดลงทุนขั้นแรกประมาณ 1,200 ล้านบาท หากมีการดำเนินการก่อสร้างเต็มรูปแบบ มูลค่าการลงทุนพุ่งขึ้นไปถึง 18,000 ล้านบาท เผยล่าสุดมีนักลงทุนชาวจีนสนใจมาลงทุน ล่าสุดตรังหาพื้นที่ไม่ได้ต้องย้ายไปสร้างที่นครศรีธรรมราชแทน

อดิศร ตันเองชวน

นายอดิศร ตันเองชวน ประธานกลุ่มโรงเลื่อย และโรงอบไม้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางกลุ่มโรงเลื่อยและโรงอบไม้ได้ขอให้รัฐบาลจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมนวัตกรรมแปรรูปไม้ยางพารา วงเงินลงทุน 1,200 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำ และแก้ปัญหาการส่งออกไม้ยางพารา โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ และให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินงาน

ดังนั้นทางกลุ่มโรงเลื่อยและโรงอบไม้จึงได้มีการประชุม และตั้งคณะทำงานกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานไม้ยางพาราในจังหวัดตรัง และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อศึกษาจัดหาพื้นที่การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม ดังกล่าว ทั้งนี้ ปัจจุบันมีนักลงทุนจากประเทศจีนให้ความสนใจที่จะมาร่วมลงทุนด้วยแล้ว คาดว่าเมื่อสร้างเต็มรูปแบบแล้วจะมีมูลค่าถึง 18,000 ล้านบาท

“โดยคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้ง และได้รับมอบหมายจะไปเสาะหาพื้นที่และพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความจำเป็นและประโยชน์ที่จะได้รับ เป็นการป้องกันความเข้าใจผิดจนอาจจะเกิดปัญหามวลชนตามมาได้ เบื้องต้นพิจารณาพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม ในจังหวัดตรังเป็นหลัก เนื่องจากจังหวัดตรังเป็นเมืองต้นกำเนิดยางพารา และมีทรัพยากรไม้ยางพาราจำนวนมาก เพียงพอที่จะป้อนโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวได้ โดยจังหวัดตรังมีพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งสิ้นประมาณ 1.6 ล้านไร่ เป็นพื้นที่กำลังเปิดกรีดประมาณ 1.3 ล้านไร่ หากสร้างนิคมอุตสาหกรรมเสร็จ จะทำให้ไม้ยางพาราจากจังหวัดตรัง ที่ชาวสวนยางตัดโค่นจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาก แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอ ต้องมีการสั่งจากจังหวัดใกล้เคียงทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้ด้วย

แต่ล่าสุดปรากฏว่าการจัดการหาพื้นที่เดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้ประมาณ 5,000 ไร่ ใจจ.ตรัง ติดเป็นที่ดินของเอกชน ซึ่งมีมูลค่าที่สูงมากเกินกำลังที่จะลงทุนได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงให้หาพื้นที่ใหม่ที่เป็นพื้นที่ของทางราชการ ในที่สุดคณะทำงานจึงมีมติให้ย้ายไปสร้างที่จังหวัดนครศรีธรรมราชแทน โดยได้พื้นที่ของการยางแห่งประเทศไทย จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวนกว่า 1,000 ไร่ ดำเนินการก่อสร้างแทนที่จะสร้างในพื้นที่จังหวัดตรัง ขณะนี้ได้บรรลุข้อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว” นายอดิศรกล่าว

นายอดิศรกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของนวัตกรรมแปรรูปไม้ยางพารานั้น จะมีการแปรรูปไม้ยางแบบสำเร็จรูป พร้อมออกจำหน่าย โดยปกติโรงงานไม้ยางพาราจะส่งออกเพียงไม้ยางพาราที่ยังไม่สำเร็จรูปไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งเป็นลูกค้าหลัก เพื่อนำไม้ยางพาราไปผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์อีกครั้ง หากมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมนวัตกรรมแปรรูปไม้ยางพาราขึ้นจะลดขั้นตอนได้มาก นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราได้เป็นอย่างดี ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายไม้ยางพาราเนื่องจากราคาจะสูงขึ้น ซึ่งในปัจจุบันราคาค่อนข้างจะต่ำ”

“ผมอยากทำความเข้าใจนิคมอุตสาหกรรมนวัตกรรมแปรรูปไม้ยางพารานั้น ไม่ได้สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม เป็นเพียงโรงงานผลิตและออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพาราเท่านั้น ไม่มีลักษณะเป็นโรงเลื่อยไม้ยางพาราแต่อย่างใด การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมนวัตกรรมแปรรูปไม้ยางพารา นอกจากจะแก้ปัญหาการส่งออกไม้ยางพาราแล้ว ยังเกิดการจ้างงานในพื้นที่อีกด้วย นับว่าส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชนชาวใต้”

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”