เผือกร้อนในมือ “กนง.” ปลดล็อก “ดอกเบี้ย” พยุงบาท-

เรียกได้ว่า เป็น “มหากาพย์” ในแวดวงการเงินเวลานี้ หากพูดถึง “ค่าเงิน-ดอกเบี้ย-เงินเฟ้อ” เพราะเรื่องเหล่านี้ถูกหยิบยกขึ้นมาไม่พ้นในแต่ละวัน และลากยาวมาตั้งแต่ต้นปี จนถึงปัจจุบัน และดูเหมือนว่า ความร้อนแรงจะทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆ และหาจุดสิ้นสุดไม่เจอ ตราบใดที่ยังหาทางออกไม่เจอ “เงินบาท” ที่ยังแข็งโป๊กแซงเพื่อนบ้านไปอยู่อันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งถือเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ฟากกระทรวงการคลัง ออกมาพาดพิงถึง “ธนาคารแห่งประเทศไทย” หรือ ธปท.บ่อย ๆ ในระยะหลังนี้

ตั้งแต่ “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ล่าสุด ออกมาพูดว่า อยากให้ ธปท.ดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพ ด้วยเครื่องมือที่ ธปท.มีอยู่ ทั้งเรื่องดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน

ขณะที่ “สมชัย สัจจพงษ์” ปลัดกระทรวงการคลังก็ออกมากระทุ้งให้ ธปท. “ลดดอกเบี้ย” เพื่อลดแรงจูงใจในการเข้ามาเก็งกำไรของต่างชาติ เพราะต้นปีมีเงินต่างชาติไหลเข้ามาในตลาดทุน ตลาดพันธบัตรถึง 1 แสนล้าน ดังนั้นการลดดอกเบี้ยถือเป็นการลดแรงจูงใจ และทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพ

ล่าสุด “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการ ธปท.ก็ออกมายืนยันว่า ธปท.มีการติดตามเงินไหลเข้าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสัญญาณการเก็งกำไรในบัญชี NR (ผู้มีถิ่นที่อยู่อาศัยนอกประเทศ) ซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท.กังวลและติดตาม เพราะมีพฤติกรรมที่เข้ามาเพื่อปั่นราคา ดังนั้นจึงอยากให้สถาบันการเงินติดตามใกล้ชิด ในทุกธุรกรรม

ทั้งเชื่อว่า การลดดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินไหลเข้าของเงินต่างชาติ ทำให้บาทอ่อนค่านั้น ช่วยแค่ช่วงสั้น ๆ เท่านั้น ดังนั้นการพิจารณาดอกเบี้ยจำเป็นต้องดูโจทย์ของประเทศในระยะยาว เพราะปัจจุบันฐานเงินออมของประเทศยังต่ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ ธปท.ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบหลายมิติ

แม้ฟากรัฐบาลอยากให้ กนง.ลดดอกเบี้ย แต่ในทางกลับกันนักเศรษฐศาสตร์หลายค่ายก็มีความเห็นต่างกัน “อมรเทพ จาวะลา” ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เชื่อว่า การลดดอกเบี้ยเพื่อดูแลค่าเงินบาทนั้น เป็นการเกาไม่ถูกที่คัน !

“การลดดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของเงินทุนไหลเข้า ลดการเก็งกำไร เสมือนเป็นการยกธงขาว และปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาโจมตีค่าเงินบาท เพราะการออกนโยบายการเงินช่วงที่ผ่านมา เช่นการลดการออกพันธบัตรระยะสั้นของ ธปท. ก็ดูเหมือนว่าไม่ได้ลดความร้อนแรงของเงินไหลเข้าจากต่างชาติได้ บาทก็ยังแข็งค่าขึ้น”

“อมรเทพ” ชี้ว่าทางรอดไม่ใช่แก้ที่การลดดอกเบี้ย แต่ ธปท.ควรนำเครื่องมือทางการเงินออกมาใช้ให้มากขึ้น เพราะมาตรการที่ ธปท.ใช้ถือว่าอ่อนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการลดออกบอนด์ ใช้ทุนสำรองซื้อดอลลาร์เพื่อพยุงเงินบาท เครื่องมือที่ ธปท.สามารถนำออกมาใช้ได้อีก เช่นเอาทุนสำรองออกไปลงทุน เหมือนที่เคยพูดกันในอดีต คือตั้ง “กองทุนมั่งคั่ง” เพื่อออกไปลงทุน หรือการใช้นโยบายดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายเพิ่ม เช่นมาตรการสกัดเงินไหลเข้าที่เข้ามาในตลาดเงิน เป็นต้น

และอีกด้านก็ต้องระวัง เพราะหากลดดอกเบี้ยจะยิ่งสร้างฟองสบู่ในจุดต่าง ๆ เพราะเวลานี้ทุกคนมีพฤติกรรม search for yield หาผลตอบแทนสูง ทั้งการเข้าไปซื้อตราสารหนี้ที่ไม่มีเรตติ้ง เข้าไปเก็งกำไรในตลาดอสังหาฯ สิ่งเหล่านี้จะทวีความรุนแรงขึ้นหากลดดอกเบี้ย จนในที่สุดจะกลายเป็นฟองสบู่

“ดร.เชาว์ เก่งชน” กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่า ในการประชุม กนง.รอบวันที่ 27 ก.ย.นี้จะเป็นรอบที่มีความกดดันสูง เพราะถูกจับตา และถูกกดดันจากหลายฝ่าย โดยพุ่งเป้าไปที่การลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยพยุงค่าบาท แต่หากให้ประเมินก็เชื่อว่า รอบนี้ กนง.ยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50% ตามเดิม เพราะหากลดดอกเบี้ย จะทำให้ กนง.ถูกโจมตีได้ว่าถูกการเมืองเข้าแทรกแซงจนทำให้ต้องลดดอกเบี้ย ไม่ได้ลดจากเหตุผลของเสถียรภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง

แต่หากไม่มีการลดดอกเบี้ยรอบนี้ก็ต้องจับตาว่ารอบหน้าจะมีโอกาสหรือไม่ กนง.ต้องจับตาตัวเลขส่งออกประกอบ เพราะแม้วันนี้ส่งออกสามารถโตได้ 7-8% ต่อเดือน แต่หากช่วง 4 เดือนที่เหลือส่งออกโตลดลงมาอยู่ระดับ 5% ทุกคนอาจพุ่งเป้าไปที่ ธปท.อีกครั้งว่า เพราะ ธปท.ไม่ลดดอกเบี้ย ทำให้ค่าเงินบาทที่แข็งค่ากระทบต่อการส่งออก

ส่วนเรื่องเงินเฟ้อ ดร.เชาว์ระบุว่า วันนี้เงินเฟ้อทั่วไปต่ำกว่ากรอบที่ 2.5% (+/-1.5) ปัญหามาจากอุปทานที่ไทย ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ราคาน้ำมัน หรือราคาอาหารสดที่ปรับตัวลดลง ดังนั้นจึงมองว่าไม่ควรต้องปรับกรอบล่างเงินเฟ้อลง เพราะปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยชั่วคราว เมื่อเศรษฐกิจฟื้น เงินเฟ้อก็จะกลับมาเข้ากรอบได้โดยไม่ต้องทำอะไร

ขณะที่ทิศทางเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง ล่าสุด (15 ก.ย. 2560) แข็งค่าแตะระดับ 33.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นการแข็งค่าสุดในรอบ 2 ปี 5 เดือน หลังจากเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธข้ามผ่านเกาะฮอกไกโดของญี่ปุ่นรอบสอง ทำให้นักลงทุนเทขายดอลลาร์เพื่อไปถือสินทรัพย์ปลอดภัยอื่น ๆ รวมเข้าลงทุนในประเทศไทย

นักวิเคราะห์ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยวิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทน่าจะยังยืนในระดับต้น ๆ 33 บาทต่อดอลลาร์ต่อไปได้ และเชื่อว่าจะไม่หลุดแนวรับสำคัญที่ 33.00 บาท เพราะน่าจะมีการเข้าไปดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าจนเกินไป

โดยช่วงครึ่งแรกของเดือน ก.ย. 2560 เงินทุนต่างชาติยังคงไหลเข้าต่อเนื่อง ทั้งตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นไทย โดย นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ระบุว่า ช่วงวันที่ 1-14 ก.ย. 2560 นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ไทย (บอนด์) สูงมาก มูลค่าลงทุนสุทธิ 107,920 ล้านบาท ทำให้ยอดถือครองสุทธิตั้งแต่ต้นปีถึง 14 ก.ย.เพิ่มเป็น 248,051 ล้านบาท ขณะที่ยอดคงค้างถือครองตราสารหนี้ของต่างชาติอยู่ที่ 868,898 ล้านบาท

และนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทย โดยช่วง 1-14 ก.ย. 60 ต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 7,390 ล้านบาท ดันดัชนีตลาดหุ้นไทยพุ่งแตะระดับ 1,669.10 จุด เมื่อ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นการปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 23 ปี

แม้ที่ผ่านมา ธปท.ก็ได้เข้าดูแลค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้ว่าฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศงวดวันที่ 8 ก.ย. 60 อยู่ที่ 1.99 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากงวดสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ 1.96 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ฐานะซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ (ฟอร์เวิร์ด) อยู่ที่ 32.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนว่า ธปท.ยังคงใช้ทุนสำรองเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องเพื่อลดการแข็งค่าของเงินบาท


แต่ท่ามกลางภาวะ “เงินร้อน” ที่ยังไหลเข้าไทยต่อเนื่อง ที่กดดันค่าเงินบาทอย่างหนัก จึงเป็นโจทย์ท้าทายของ ธปท.ว่าแนวทางที่ทำอยู่นั้นเพียงพอหรือไม่