“พาที” ถอย “ติดปีกนกแอร์” ดัน “ไทยกรุ๊ป” พ้นเหวขาดทุน-

เซอร์ไพรส์วงการไม่น้อยเลยทีเดียว สำหรับข่าวการยื่นใบลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) สายการบินนกแอร์ ของ “พาที สารสิน” ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อคืนวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา

ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้มีความพยายามจากหลาย ๆ ฝ่าย รวมทั้ง “การบินไทย” ผู้ถือหุ้นใหญ่ในขณะนั้นที่เจรจาและเสนอให้ “พาที” ถอยจากการบริหาร แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

พร้อมกันนี้ ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันดังกล่าว ยังมีมติแต่งตั้ง “ปิยะ ยอดมณี” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นซีอีโอแทน “พาที” โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2560 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม “พาที” ก็ยังนั่งเป็นกรรมการบริษัท และที่ประชุมบอร์ดยังแต่งตั้งให้อดีตซีอีโอคนนี้นั่งเก้าอี้รองประธานกรรมการบริษัทอีกตำแหน่งด้วย

อาจจะกล่าวได้ว่า การยอมก้าวลงจากตำแหน่งซีอีโอของ “พาที” ครั้งนี้ เป็นการ “ปลดล็อก” และเป็น “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญของสายการบินราคาประหยัดชื่อดังแห่งนี้ด้วย

หากย้อนกลับไป ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา จะพบว่า “การบินไทย” พยายามอย่างยิ่งที่จะหาทางออกให้กับ “นกแอร์” ที่มีสถานการณ์ที่ย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ แต่ก็ยังไม่บรรลุเป้าหมาย

เป็นที่รับรู้กันดีว่า ที่ผ่านมานกแอร์ประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง และสิ้นปี 2559 ที่ผ่านมา มียอดขาดทุน 2,975 ล้านบาท และ 6 เดือนแรกปีนี้ ขาดทุน 945 ล้านบาท

จากนี้ไป จึงเป็นภาระของซีอีโอนกแอร์คนใหม่ ที่จะต้องร่วมมือกับการบินไทยเร่งทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อให้พ้นจากสถานะ “ตัวแดง” โดยเฉพาะเรื่องของการลดต้นทุน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แนวทางหนึ่งที่ “การบินไทย” เดินหน้ามาระยะหนึ่งแล้วก็คือ การหาพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

ที่ผ่านมา การบินไทยเองก็ยอมรับว่าไม่มีความเชี่ยวชาญการบริหารสายการบินโลว์คอสต์ และอาจจะต้องหาทางออกด้วยการหาพันธมิตรเข้ามา จากเดิมที่มีการคุยกับพันธมิตรจากจีน และสิงคโปร์ ล่าสุดก็เปิดกว้างและคุยกับสายการบินอื่น ๆ เพิ่มขึ้น มากขึ้น โดยจะเน้นหา strategic partner หรือพันธมิตรที่มีศักยภาพที่จะเข้ามาสนับสนุนธุรกิจซึ่งกันและกัน หรืออีกแนวทางหนึ่งก็อาจจะต้องหามืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญมีความสามารถเข้ามาบริหาร

อีกด้านหนึ่ง การถอยของ “พาที” ครั้งนี้ ยังช่วยหนุนให้ยุทธศาสตร์ “ไทยกรุ๊ป” ที่การบินไทยวาดหวังไว้มีความเป็นไปได้มากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้การบินไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์การบริหารการจัดการใหม่ ด้วยการตั้ง “ไทยกรุ๊ป” ให้มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการ ครอบคลุมทั้งการบินไทย ไทยสมายล์ และนกแอร์

สำหรับการบินไทย ได้วางยุทธศาสตร์ให้เป็นสายการบินแห่งชาติระดับพรีเมี่ยม ขณะที่ไทยสมายล์จะมุ่งจับกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบน และเน้นการบินในระยะใกล้ ๆ ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ส่วนนกแอร์ สายการบินราคาประหยัด จะเป็นหัวหอกหลักในการทำตลาดแข่งกับสายการบินโลว์คอสต์

จากนี้ไป ยุทธศาสตร์ “ไทยกรุ๊ป” น่าจะมีความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้นตามลำดับ

เป้าหมายของผู้ถือหุ้นใหญ่ ทั้งกลุ่มจุฬางกูร (41.77%) และการบินไทย (21.57%) และผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ ที่ต้องการในเวลานี้ก็คือ นกแอร์ ต้องแข็งแรง และลุกขึ้นมายืนได้ให้เร็วที่สุด