ยุงเกอร์หนุนเพิ่มสมาชิก “ยูโรโซน” ดันเปิดค้าเสรีนอกกลุ่มอียู-

ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป”ฌอง โคลด ยุงเกอร์” แถลงนโยบายประจำปี ต่อรัฐสภายุโรป ณ ฝรั่งเศส เมื่อวันพุธที่ผ่านมา เรียกร้องให้รัฐบาลแห่งสหภาพยุโรป (อียู) ฉวยโอกาสขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว และโอกาสจากการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (เบร็กซิต) กระชับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากขึ้นในหมู่ประเทศสมาชิกและ ขยายอาณาเขตของอียู ทั้งให้มีการทำข้อตกลงการค้าเสรีอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น

ยุงเกอร์ระบุว่า ปีที่แล้วถือเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับอียู ทั้งการประกาศเบร็กซิต ปัญหาผู้อพยพ ปีนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในอียู ซึ่งเป็นโอกาสที่ไม่ได้อยู่ตลอดไป ตอนนี้เศรษฐกิจในอียูกำลังดีขึ้นเป็นลำดับ จึงต้องมองให้ไกลกว่าเรื่องการเบร็กซิต แม้ว่าอังกฤษตัดสินใจจะออกจากอียู ในวันที่ 29 มีนาคม 2019 แต่การเบร็กซิตไม่ใช่ทุกอย่าง และอังกฤษจะต้องเสียใจในภายหลังแน่นอน

แม้สหภาพยุโรปมีระบบสถาบันการเงินและชายแดนที่เชื่อมโยงถึงกันเป็นมาตรฐาน แต่ต้องมองถึงข้อตกลงการค้าเสรีนอกกลุ่มด้วย ปัจจุบันอียูเพิ่งบรรลุข้อตกลงกับแคนาดาและญี่ปุ่น และกำลังเจรจากับเม็กซิโก แอฟริกาใต้ ยุงเกอร์เสนอว่า การค้าเสรีร่วมกับออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ควรจะเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ เขาได้สัญญาว่า การลงทุนภายในอียูจากต่างชาติจะถูกตรวจเข้มมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันนักลงทุนจีนเข้ามากว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศยุโรป ทำให้ราคาดีดตัวสูงขึ้น “ยุโรปเปิดกว้างด้านการค้า แต่ก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันด้วย”

นอกจากนี้ ยุงเกอร์ได้เรียกร้องให้เพิ่มสมาชิกใหม่เข้ามาใน “ยูโรโซน” (ใช้เงินสกุลยูโร) ทั้งเพิ่มสมาชิกประเทศในเชงเก้นวีซ่า ซึ่งก่อนหน้านี้ ฮังการี และโปแลนด์ ได้ผ่านการอนุมัติให้ใช้สกุลเงินยูโรแล้ว แต่ถูกระงับไว้ ทำให้ปัจจุบันจากสมาชิก 28 ประเทศ มีเพียง 19 ประเทศเท่านั้น

ประเทศที่ยุงเกอร์เห็นว่า ควรเพิ่มเข้ามาในแผนที่อียู คือในแถบบอลข่านตะวันตก เช่น เซอร์เบีย และมอนเตเนโกร ก่อนหน้านี้ ตุรกีเองก็เหมือนจะมีโอกาสในการเข้าสู่กลุ่มสมาชิก แต่ภายหลังความตึงเครียดระหว่างอียูกับตุรกีที่เพิ่มขึ้นเพราะการก่อรัฐประหารของประธานาธิบดี “เรเจป ไตยิป เอร์โดอาน” ทำให้อียูไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของตุรกี นายกรัฐมนตรีเยอรมนี “แองเกล่า แมร์เคิล” ได้แสดงจุดยืนระหว่างการดีเบตเพื่อชิงตำแหน่งผู้นำประเทศสมัยที่ 4 ว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้ตุรกีเข้ามาเป็นสมาชิกอียูเช่นกัน

ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวถึงประเด็นการเพิ่มความมั่นคงของกลุ่มประเทศยุโรป โดยเสนอให้จัดตั้งหน่วยข่าวกรองยุโรป ซึ่งจะสามารถแบ่งปันข้อมูลกันได้เร็วขึ้น ทำให้อัยการประจำอียูสามารถดำเนินคดีกับผู้ร้ายข้ามพรมแดนได้ อย่างไรก็ตามยุงเกอร์ได้ชมว่า ยุโรปมีการจัดการและรับมือเกี่ยวกับผู้อพยพดีขึ้น ทั้งการป้องกันพรมแดนอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ในการแถลงผลงานประจำปีครั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ยุงเกอร์มีการพูดถึงการเบร็กซิตของสหราชอาณาจักรค่อนข้างน้อย โดยโฟกัสเกี่ยวกับอนาคตของอียู ภายหลังจากที่อังกฤษออกจากการเป็นประเทศสมาชิกเรียบร้อย