ThaiBev-KFC (3)-

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

 

หากเทียบเคียงกรณี ThaiBev-KFC ในประเทศไทย กับ Yum China-Alibaba Group ในจีนแผ่นดินใหญ่ ในความแตกต่างกันในหลายมิติ ย่อมมีบทเรียนสะท้อนถึงกันด้วย

ความจริงพื้นฐาน เพียงแค่ขนาดของตลาดในจีนแผ่นดินใหญ่ กับเมืองไทยก็เปรียบเทียบกันไม่ได้แล้ว จึงขอพิจารณาบางมิติ บางประเด็น โดยเฉพาะเกี่ยวกับโมเดลธุรกิจ

“ร้าน KFC สาขาแรกเปิดที่ห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว ในปี 2527” ข้อมูลบางตอนปรากฏใน รายงานประจำปี 2559 บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จํากัด (มหาชน) อ้างถึงบริษัทในเครือข่าย-บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด ในฐานะผู้ได้รับลิขสิทธิ์รายแรกในประเทศไทย ผ่านมากว่า 3 ทศวรรษ KFC ในประเทศไทยปัจจุบัน มีสาขาระดับ 500 สาขาเท่านั้น

KFC ในประเทศจีนเปิดสาขาที่ปักกิ่งหลังเมืองไทยแค่ 3 ปี (2530) ถือว่าเข้าสู่ตลาดอันกว้างขวางอย่างรวดเร็วกว่าที่คาด ในฐานะฟาสต์ฟู้ดอเมริกันรายแรกในจีนแผ่นดินใหญ่ ทว่าใช้เวลาถึง 25 ปี ถือว่าเป็นไปอย่างเชื่องช้ามาก ๆ กว่าจะมีเครือข่ายทะลุ 1,000 สาขา (ปี 2556) และแล้วมีอัตราเร่งมากขึ้นอย่างมาก ๆ ขยายสาขาปานสายฟ้าแลบ เพิ่มเป็น 5,000 สาขาในอีกเพียง 2 ปีต่อมาในช่วงปี 2556-2558 ที่เพิ่งผ่านมา (ประมวล เรียบเรียง และอ้างข้อมูลจาก ir.yumchina.com)

ภาพคร่าว ๆ ข้างต้น เชื่อได้ว่า เป็นที่มาของแผนการทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่แตกต่างกัน ต้องถือว่าเป็นความริเริ่มของ KFC และ Yum Brands Inc.

“Yum เจ้าของแบรนด์ KFC ประกาศขายสาขาที่ลงทุนเองในไทยทั้งหมด เพื่อปรับเปลี่ยนการบริหารมาเป็นรูปแบบแฟรนไชส์ 100% ตามทิศทางของบริษัทแม่” “ตามเป้าหมายกว่า 800 สาขา ภายในปี 2563″ คำกล่าวของผู้บริหารในประเทศไทย (อ้างไว้ในตอนที่แล้ว) เชื่อว่ามีเป็นแผนการธุรกิจใหม่ที่มีความสัมพันธ์และต่อเนื่องกัน และก็เชื่อด้วยอีกว่ามีความสัมพันธ์กับดัชนีสำคัญตามรายงานผลประกอบการของบริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซาในส่วนธุรกิจอาหาร (นำเสนอไว้ในตอนที่แล้วเช่นกัน) สะท้อนความเป็นไปและแนวโน้มทางธุรกิจเกี่ยวข้องกับ KFC โดยตรง ซึ่งเป็นไปในทางไม่ดีเท่าที่ควร รายได้ค่อย ๆ ลดลง โดยเฉพาะสภาพตลาดนอกกรุงเทพฯ ว่าไปแล้วเป็นภาพสะท้อนโดยรวมว่าด้วยสถานการณ์ สภาพ และโอกาสทางธุรกิจของสังคมไทยในปัจจุบัน

สำหรับ KFC และ Yum Restaurants International (Thailand) ถือว่าการปรับแผนธุรกิจในเมืองไทยข้างต้น จนมาบรรลุขั้นสุดท้ายดีล ThaiBev-KFC เป็นแผนการธุรกิจที่ดีที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์มีความเสี่ยงมากขึ้น

นั่นคือ การปรับแผนจากโมเดลเดิม ดำเนินการโดยคู่ค้ารายเดียว (กลุ่มเซ็นทรัล) คู่ขนานกับการดำเนินการของ Yum Restaurants International (Thailand) เอง มาเป็นแผนการใหม่ บริหาร KFC เป็นระบบแฟรนไชส์ (Franchise) 100% ร่วมมือกับคู่ค้า 3 ราย ส่งแรงผลักดันไปยังคู่ค้า ให้เดินหน้าตามแผนการเชิงรุกมากขึ้น ขยายสาขาอย่างเต็มกำลัง

– เริ่มต้นด้วยการขายทรัพย์สินที่เป็นสาขา KFC ซึ่งราคาประเมิน (โดยเฉพาะที่ดิน) สูงกว่าในตอนลงทุนแรก ๆ อย่างมากถือเป็นแผนการธุรกิจและแผนทางการเงินอันแยบยล สร้างรายได้ทางธุรกิจในทันทีในอีกมิติหนึ่ง ดีล ThaiBev-KFCมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทส่วนใหญ่คงมาจากการขยายสินทรัพย์ดังกล่าว

– เฉพาะกรณี ThaiBev ถือเป็นตัวเลือกที่ดี เป็นคู่ค้าใหม่ ในฐานะธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยรายล่าสุด กำลังมุ่งมั่นสู่ธุรกิจค้าปลีก ด้วยแผนการเชิงรุกมากกว่าใคร ๆ ThaiBev และกลุ่มทีซีซี นอกจากมีเครือข่ายค้าปลีกอยู่ในแผนการขยายสาขาอย่างเข้มข้นแล้ว ยังมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รูปแบบหลากหลาย กำลังอยู่ในแผนการพัฒนาอย่างคึกคักด้วย

มุมมองว่าด้วยโอกาสทางธุรกิจของ ThaiBev สาระสำคัญ ๆ ได้กล่าวถึงไว้ในตอนที่แล้ว มีอีกบางประเด็นควรเพิ่มเติม ThaiBev เข้าสู่ธุรกิจใหม่ทันทีอย่างก้าวกระโดด และเข้าสู่ธุรกิจใหม่ในระบบแฟรนไชส์เป็นครั้งแรก “สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ครอบคลุมมากขึ้น สามารถเข้าใจเทรนด์ความต้องการ” ถ้อยแถลงข้างต้นของ ThaiBev มีเหตุผล ทั้งนี้อาจรวมถึงได้เรียนรู้บทเรียนทางธุรกิจจากคู่ค้าในฐานะธุรกิจระดับโลกซึ่งปรับตัวอยู่เสมอ รวมไปจนถึงเป็นธุรกิจใหม่ซึ่งเกื้อกูลธุรกิจเดิม ในฐานะเจ้าของธุรกิจค้าปลีก เจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบต่าง ๆ ธุรกิจต่อเนื่องเป็นวงจรที่จำเป็น เป็นห่วงโซ่คุณค่าทางธุรกิจ ธุรกิจใหม่ธุรกิจร้านอาหารบริการ จะเป็นผู้เช่าพื้นที่หลัก (Anchor Tenant) ที่สำคัญ

ส่วนกรณีดีลในจีนแผ่นดินใหญ่ แม้ว่าโดยพัฒนาการและโมเดลธุรกิจนั้น แตกต่างกับกรณีในเมืองไทยอย่างมาก แต่มีบางมิติคล้าย ๆ กันอยู่บ้าง KFC และ Yum Brands ใช้เวลาเรียนรู้อยู่นาน จนได้บทสรุปว่า จำเป็นต้องอาศัยพันธมิตรธุรกิจท้องถิ่น ซึ่งมีความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภค และสามารถแก้ปัญหาธุรกิจซึ่งมีลักษณะเฉพาะแต่ละท้องถิ่น

กรณีจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะที่ตลาดเปิดกว้าง โอกาสยังมีอีกมาก แต่ดูเหมือนการบริหารกิจการที่ผ่านมา ไม่เป็นอย่างที่ควรเป็น ส่วนกรณีเมืองไทย อาจต้องมีพลังพันธมิตรท้องถิ่น ผลักดัน ทำลายข้อจำกัดดูเหมือนตลาดจะอิ่มตัวมากขึ้น

KFC ในจีนแผ่นดินใหญ่อยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่าง หลังจากการปรับโครงสร้างบริหารธุรกิจเมื่อไม่นานมานี้ จึงเดินหน้าไปอย่างคึกคัก ด้วยแผนการขยายสาขาอย่างครึกโครมที่สุดเท่าที่เป็นมา ถือว่าอยู่ในแผนการใหม่ที่ตื่นเต้น อันเป็นที่มาของดีลสำคัญ ๆ

เรื่องราวดีลสำคัญที่ว่า เปิดฉากขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว มี 2 เหตุการณ์สำคัญต่อเนื่องกัน

หนึ่ง-ต้นเดือนกันยายน 2559 กลุ่มบริษัทในเครือข่าย Alibaba Group เข้ามาร่วมทุนกับ Yum ! Brands ใน Yum China Holdings กิจการซึ่งดำเนินกิจการเครือข่าย KFC Pizza Hut และ Taco Bell ในจีนแผ่นดินใหญ่ ได้แก่ บริษัทด้านการลงทุน Primavera Capital Group และกิจการด้านบริการการเงินทางออนไลน์และโทรศัพท์เคลื่อนที่–Financial Services Group ทั้ง 2 บริษัทลงทุนรวมกันมากถึง 460 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับ Alibaba Group เป็นความเคลื่อนไหวทางธุรกิจที่น่าสนใจ ก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ๆ มีความพยายามประสานความชำนาญที่มีอยู่เข้ากับธุรกิจฟาสต์ฟู้ด ธุรกิจที่เชื่อว่าสัมพันธ์กับไลฟ์สไตล์ใหม่ของคนจีน ขณะที่ Yum ! Brands มีพันธมิตรร่วมหัวจมท้ายกัน เชื่อว่าเกื้อกูลกัน ด้วยแผนการระยะยาว

สอง-การปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นผู้ลงทุนข้างต้น เป็นไปตามแผนการ Yum China Holdings แยกตัวออกเป็นบริษัทต่างหาก จากเครือข่าย Yum ! Brands อย่างเป็นทางการในปลายเดือนตุลาคม 2559 ขณะเดียวกันเป็นความสัมพันธ์ใหม่ Yum China Holdings กลายเป็นคู่ค้าถือลิขสิทธิ์ตามระบบแฟรนไชส์จาก Yum ! Brands ตบท้ายด้วยแผนการ Yum China Holdings เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก (New York Stock Exchange) สำเร็จด้วยดี ทั้งนี้ซื้อขายตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2559

แผนการข้างต้นมีความซับซ้อนและยิ่งใหญ่กว่ากรณีเมืองไทยอย่างมาก โดยเฉพาะการสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับตลาดทุนระดับโลก

การปรับแผนการธุรกิจครั้งใหญ่ กรณี Yum China Holdings ในจีนแผ่นดินใหญ่นั้นน่าสนใจไม่น้อย คงเป็นโมเดลที่เฝ้ามอง เป็นบทเรียนทางธุรกิจสำคัญ สำหรับพันธมิตรในไทยด้วย