ระวัง ! ตลาดหุ้น “กระทิงดุ” 46 หุ้นพุ่งเกิน สลับเล่น “แล็กการ์ด”-

วิ่งร้อนแรงสุด ๆ ตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ภาวะกระทิงดุ ล่าสุด (14 ก.ย. 2560) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯพุ่งกระฉูด 1,659.10 จุด โดยทุบสถิติสูงสุดในรอบกว่า 23 ปี นับจากวันที่ 23 ม.ค. 2537 ดัชนีปิดที่ 1,667.94 จุด ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดขึ้นก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยมีแรงซื้อหุ้นใหญ่ นำโดยกลุ่มพลังงาน แบงก์ โบรกเกอร์ทยอยปรับเป้าดัชนีกันใหม่ โดยเฉพาะ บล.ไทยพาณิชย์, บล.ทิสโก้ ที่คาดสิ้นปีนี้จะวิ่งไปถึง 1,700 จุด เป็นต้น บางโบรกฯยังมองว่าตลาดหุ้นมีโอกาสพักฐาน ทาง “ประชาชาติธุรกิจ” จึงนำเสนอทิศทางตลาดหุ้นและหุ้นที่ยังพอจะลงทุนได้ในสายตาของนักวิเคราะห์

เริ่มกันที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค.-14 ก.ย. 60 นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นไทยมากเกือบ 18,000 ล้านบาท โดยดัชนีในช่วงดังกล่าวปรับตัวขึ้นราว 83 จุด หรือให้ผลตอบแทนสูง 5.28% ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีถึง 14 ก.ย. 60 (YTD) ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้น 116 จุด หรือให้ผลตอบแทนประมาณ 7.5% ถือว่าเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา ดัชนีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะครึ่งปีแรกทำผลตอบแทนได้เพียง 2%

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบราคาหุ้นในช่วงวันที่ 25 ส.ค. 60 (ก่อนวันที่ตลาดปรับตัวขึ้นแรง) จนถึง 12 ก.ย. 60 พบว่ามีหุ้นจำนวนไม่น้อยได้ปรับตัวเกินมูลค่าที่เหมาะสม (แฟร์แวลู) หรือมีอัพไซด์ (โอกาสปรับขึ้น) ที่ค่อนข้างจำกัดแล้ว โดยจากการวิเคราะห์หุ้นที่ฝ่ายวิจัย ได้ทำครอบคลุมประมาณ 163 หุ้น พบว่า หุ้นที่ราคาขึ้นเกินมูลค่าเหมาะสมแล้ว มีจำนวน 46 บริษัท ซึ่ง 10 อันดับแรกที่หุ้นเกินแฟร์แวลู (ดูตาราง) อาทิ บมจ.อินเตอร์ไฮด์ (IHL), บมจ.ไพลอน (PYLON), บมจ.อสมท (MCOT) เป็นต้น ขณะที่หุ้นที่มีอัพไซด์ต่ำกว่า 10% มีจำนวน 43 บริษัท หุ้นที่มีอัพไซด์ 10-20% จำนวน 38 บริษัท และหุ้นที่ยังมีอัพไซด์สูงเกิน 20% ขึ้นไป มีจำนวน 32 บริษัท

สำหรับการปรับเป้าหมายดัชนี บล.เอเซีย พลัส ได้เพิ่มเป้าดัชนี ณ สิ้นปีนี้อยู่ที่ระดับ 1,650 จุด จากเป้าเดิมที่ 1,622 จุด ภายใต้การประมาณการที่ระดับอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) 101.36 บาทต่อหุ้น และอัตราส่วนราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) 16 เท่า

“แม้ตลาดหุ้นไทยจะเข้าสู่ภาวะกระทิง แต่ถือว่าอัพไซด์ของตลาดก็ยังค่อนข้างจำกัดอยู่ดี ทำให้คาดว่าภาวะตลาดหุ้นในช่วงระยะข้างหน้า อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเหมือนที่ผ่านมา และมีโอกาสพักฐานได้อีก จึงอยากแนะนำให้นักลงทุนต้องระมัดระวังด้วย หรือควรสลับจากหุ้นที่ไม่มีอัพไซด์ไปลงทุนในหุ้นที่ยังมี laggard (หุ้นดีที่ราคาขึ้นช้ากว่าตลาด) ส่วนเงินต่างชาติก็ยังไหลเข้าต่อเนื่อง เพราะมีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น” นักวิเคราะห์รายเดิมกล่าว

ฝั่งนายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย มองว่า บริษัทมองกรอบดัชนีสิ้นปีนี้อยู่ที่ 1,570-1,650 จุด ซึ่งยังไม่มีการปรับเป้าดัชนีเพิ่มขึ้นใหม่ เพราะอาจจะมีแรงเทขายออกมาบ้าง น่าจะทำให้ดัชนีเคลื่อนไหวในกรอบ 1,620-1,650 จุด ส่วนเม็ดเงินต่างชาติยังมีทิศทางไหลเข้าต่อเนื่อง คาดว่าสิ้นปีนี้จะสูงถึง 4-5 หมื่นล้านบาท จากปัจจัยการเมืองนิ่งขึ้น และรัฐเดินหน้าประมูลงานต่อเนื่อง

ส่วนหุ้นที่แนะนำลงทุน พบว่ายังไม่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และยังอยู่ในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนภาครัฐ เช่น บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC), บมจ.ช.การช่าง (CK), บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น (TICON), บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL), บมจ.ศุภาลัย (SPALI), บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS), บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ (JWD) และหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ที่ยังไม่ขึ้น

นายสันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ดัชนีที่ปรับตัวขึ้นสูงขึ้น เกิดจากแรงหนุนของเงินต่างชาติที่ไหลเข้าเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากตลาดหุ้นไทยไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ราคาหุ้นไทยถูกกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคนี้ ภายใต้ระดับ P/E ของตลาดหุ้นไทยอยู่ระดับเดียวกับเพื่อนบ้าน ขณะที่ปัจจัยในประทศทั้งการเมืองและการลงทุนรัฐที่ชัดเจนขึ้น เพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนมากขึ้น

“แต่ก็มีปัจจัยที่นักลงทุนต้องระวัง คือ ความผันผวนของตลาดหุ้นที่ยังสูง ส่วนสถานการณ์เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธ ไม่ใช่ปัจจัยที่กระทบตลาดในระยะสั้น สังเกตได้จากดัชนียังไม่ได้ปรับตัวลดลงแรง” นายสันติกล่าว

ตลาดหุ้นไทยจะดีดเด้งไปต่อหรือเบรกก็ตาม ช่วงนี้ใครเล่นก็ควรดูจังหวะเข้า ๆ ออก ๆ ให้ทันเกมด้วย