ควันหลงคดีการเมือง ปฏิวัติ’49 บริวาร “ทักษิณ” ลุ้นสู้ยาวถึงฎีกา-

เหตุการณ์ยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร-ไทยรักไทย เมื่อค่ำคืน 19 ก.ย. 2549 จะเป็นต้นกำเนิดของความขัดแย้งทางการเมืองนานนับทศวรรษ

เป็นตัวจุดชนวนที่ทำให้เกิด 2 ม็อบใหญ่ นปช.และ กปปส.ในเวลาต่อมา

อันเป็นเหตุที่ทำให้เข็มนาฬิกาปฏิวัติทวนกลับมาอีกรอบ เมื่อ 22 พ.ค. 2557

บัดนี้ 19 กันยายน 2549 เดินทางผ่านมา 11 ปี นอกจากบาดแผลแห่งประชาธิปไตย รอยเลือด คราบน้ำตา ความบาดหมางที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองในรอบทศวรรษยังไม่สิ้นสุด

ผู้มีอำนาจในแต่ละยุคยังควานหาหนทางปรองดองไม่จบสิ้น

แม้เวลาผ่านไป 11 ปี หากควันหลงจาก 19 ก.ย. 2549 ยังปรากฏร่องรอยผ่านคดีความต่าง ๆ นับไม่ถ้วน

ทั้งที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นสิ้นสุดแล้ว และยังมีหลายคดีที่ยังไม่สิ้นสุด…

ทำให้จำเลยหลายคนยังคงตั้งตารอคอยวันพิพากษา หลายคนยิ้มออกเมื่อไม่มีคดีติดตัว

ยกฟ้อง “บิ๊กบัง” ปฏิวัติโดยชอบ

หลังการยึดอำนาจ 19 ก.ย. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ภายใต้การนำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลินใหม่ ๆ

ร.อ.ต.ฉลาด วรฉัตร นักเคลื่อนไหวการเมือง เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.สนธิ กับพวก 308 คน เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดโดยอาศัยมูลเหตุจากการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน แต่แล้วศาลอาญาพิพากษายกฟ้องเมื่อ 5 ก.ค. 2550 เนื่องจากการยึดอำนาจ ได้รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 มาตรา 37 จึงทำให้ไม่ต้องรับผิด

8 คดีทุจริตถึงที่สุด

ตรงข้ามกัน คปค.ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เรียกว่า “คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ” หรือ คตส. ขึ้นมาตรวจสอบกรณีทุจริตรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อันเป็นหนึ่งในข้ออ้างการเข้ายึดอำนาจ

ปรากฏว่า คตส.ใช้เวลา 1 ปีเต็มตามเวลาที่ได้รับมอบหมายจาก คปค. ทำสำนวนเอาผิด “ทักษิณและพวก” กว่า 13 คดี เพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยคดีมีผลเป็นที่สุดแล้ว 8 คดี ประกอบด้วย

1.คดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาภิเษก ที่มีจำเลยคือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และภริยา คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร์ โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาให้จำคุกนายทักษิณ เป็นเวลา 2 ปี

2. คดีเลี่ยงภาษีการซื้อขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มูลค่า 738 ล้านบาท ซึ่งศาลอาญาได้พิพากษาให้จำคุกคุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ คนละ 3 ปี ส่วนนางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน 2 ปี แต่ภายหลังศาลอุทธรณ์ได้กลับคำตัดสินของศาลอาญา ให้ยกฟ้อง ส่วนนายบรรณพจน์ให้รอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี

3.คดีทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้น ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ กับพวก รวม 44 คน ซึ่งต่อมาศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษา ให้ยกฟ้องจำเลยทั้ง 44 คน เนื่องจากพบว่าไม่ได้กระทำความผิด

4.คดีทุจริตหวยบนดิน ซึ่ง คตส.ยื่นฟ้อง “ครม.ทั้งคณะ” แต่ลงโทษจำคุกเพียงนายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง 2 ปี นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลังและประธานคณะบอร์ดกองสลาก 2 ปี นายชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีต ผอ.กองสลาก 2 ปี แต่เนื่องจากจำเลยทั้ง 3 ไม่เคยทำผิดมาก่อน ให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี

5.คดีร่ำรวยผิดปกติ ศาลอ่านคำพิพากษาเมื่อ 26 ก.พ. 2553 ให้อายัดจำนวน 46,373 ล้านบาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน

6.คดีทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด และการก่อสร้างระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า ซีทีเอ็กซ์ 9000 จำนวน 26 เครื่อง จำเลยสำคัญในคดีคือนายทักษิณ และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม แต่ ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ 7 เสียงเห็นว่าพยานหลักฐานทั้งหมดไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิด จึงมีมติให้ยกคำร้อง เมื่อ 28 ส.ค. 2555

7. คดีทุจริตจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงของ กทม. 6,800 ล้านบาท ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาเมื่อ 10 ก.ย. 2556 จำคุกนายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทยพิพากษาจำคุก 12 ปี (แต่หลบหนี) ขณะที่นายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่า กทม. ศาลไม่พบหลักฐานว่าร่วมกระทำความผิดจึงยกฟ้อง

8.อนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศเอื้อประโยชน์ชินคอร์ปฯ มี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นจำเลย ถูกศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี เมื่อ 25 ส.ค. 2559

คดีทักษิณที่ถูกจำหน่ายคดี

ส่วนคดีที่ยังไม่ถึงที่สุด แม้จะลากยาวกันมานานนับ 10 ปีแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีที่ “ทักษิณ” เป็นจำเลย และศาลจำหน่ายคดีไว้ก่อน เพราะหลบหนีการฟังคำพิพากษา 1.คดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยเงินกู้ให้รัฐบาลพม่า 4 พันล้านบาท 2.คดีทุจริตโครงการหวยบนดิน 3 ตัว 2 ตัว 3.คดีธนาคารกรุงไทยอนุมัติสินเชื่อ 9 พันล้านบาทให้บริษัทในเครือกฤษดามหานคร 4.คดีออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ-ดาวเทียมเป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ชินคอร์ป ทำรัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท

คดีบริวารทักษิณที่ยังไม่จบ

สำหรับคดีของ “พานทองแท้ ชินวัตร” บุตรชายคนโตของ “ทักษิณ” ขณะนี้มี 1 คดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อันสืบเนื่องจากคดีทุจริตปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้แก่กลุ่มกฤษดามหานคร เนื่องจากปรากฏชื่อเป็นผู้รับเช็คจากนายวิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร

ล่าสุด “พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ ปปง.ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษนายพานทองแท้กับพวก และได้มอบข้อมูลเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้วคาดว่าจะลงมติชี้มูลไม่นานเกินรอ

อีกคดีหนึ่งคือ ทุจริตจัดซื้อจัดจ้างโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่มีนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กับพวก เป็นผู้ถูกกล่าวหา

ซึ่ง ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายวัฒนาแล้ว และส่งสำนวนถึงอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ ก่อนพิจารณาส่งฟ้องต่อศาลฎีกานักการเมืองหรือไม่

ยกคำร้อง “ทักษิณ” ฟ้อง คตส.

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา “ทักษิณ” ได้ฟ้องคณะกรรมการ คตส.ทั้ง 13 คนต่อศาลปกครอง จากการอายัดทรัพย์สินโดยมิชอบ พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหายกว่า 5 หมื่นล้านบาท ทว่าศาลปกครองได้ยกฟ้อง เมื่อ 27 ธ.ค. 2556

เช่นเดียวกับ คดีหมายเลขดำ อ.3020/2550 “ทักษิณ” ได้ยื่นฟ้อง คตส. 11 คน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีทำสำนวนที่ดินรัชดาส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งวันที่ 13 ส.ค. 2557 ศาลอาญาอ่านคำสั่งฎีกาให้ยกฟ้อง หลังต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 2550

คดีบุกบ้านป๋ารอลุ้นฎีกา

อีกคดีหนึ่งที่ต่อสู่กันมา 10 ปี คือคดีที่เรียกว่า “บุกบ้านป๋า” ย้อนไป 22 ก.ค. 2550 ที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ กลุ่ม นปช.ขณะนั้นยังใช้ชื่อว่า “แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ” (นปก.) เดินขบวนจากสนามหลวง ไปปักหลักชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ เพื่อกดดันให้ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ จะให้ลาออกจากตำแหน่งโดยคดีแรก 1.คดีหมายเลขดำ อ.3531/2553 พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช.และพวกเป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และข้อหาอื่น ๆ โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 2 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา อยู่ระหว่างรอต่อสู้คดีในชั้นฎีกา 2.คดีชุมนุมบุกล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์ปี 2550 (คดีหมายเลขดำ อ.2799/2557) นายจตุพร พรหมพันธุ์ กับแนวร่วมอีก 1 คน รอศาลอาญานัดสืบพยาน


ควันหลงของปฏิวัติ 19 ก.ย. 2549 ยังไม่จบ ชะตากรรมของผู้ตกเป็น “จำเลย” ยังต้องรอลุ้นผลคำพิพากษาอย่างใจระทึก แม้จะผ่านมา 11 ปีก็ตาม