BeNeat สตาร์ทอัพแม่บ้านออนไลน์ยอดพุ่ง-

“BeNeat” สตาร์ตอัพจัดส่งแม่บ้านออนไลน์ รับอานิสงส์รัฐบี้ขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ออร์เดอร์พุ่งเตรียมขยายเครือข่ายให้บริการ

นายอานนท์ น้อยอ่ำ CEO ธุรกิจสตาร์ตอัพ แม่บ้านออนไลน์ บีนีท (BeNeat) กล่าวว่า หลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งบังคับให้แรงงานต่างด้าวต้องไปขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง มีผลให้ทำให้แรงงานต่างด้าวในระบบ โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านต่างด้าวลดลง ส่งผลดีทำให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจแม่บ้านออนไลน์ ทำให้มีกลุ่มลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น จากเดิมมีเพียงกลุ่มบ้าน คอนโดฯ และที่พักอาศัย แต่ขณะนี้มีกลุ่มลูกค้าที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และธุรกิจโรงแรม ที่ขาดแคลนแรงงานต้องการบริการแม่บ้านเป็นเอาต์ซอร์ซ (Outsource)

“ธุรกิจบีนีท ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่จัดทำขึ้นเพื่อให้บริการจัดหาแม่บ้าน และจับคู่กับกลุ่มผู้รับบริการ ลักษณะคล้ายกับสตาร์ตอัพอื่น ๆ เช่น อูเบอร์ โดยบีนีทเปิดให้บริการมาเป็นเวลา 1.5 ปีแล้ว ขณะนี้มีจำนวนแม่บ้านที่มาขึ้นทะเบียนในระบบประมาณ 1,000 คน และมีจำนวนลูกค้าผู้ใช้บริการที่มาลงทะเบียนประมาณ 8,000 คน ในส่วนของบีนีทไม่ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.แรงงานฯ เพราะใช้แม่บ้านเป็นชาวไทย 100% โดยมุ่งเน้นกลุ่มที่ต้องการสร้างรายได้เสริม เช่น แม่บ้านที่มีเวลาว่างจากการดูแลรับส่งลูกไปโรงเรียน จะมีเวลาว่างตอนกลางวันสามารถสมัครเป็นแม่บ้านของบีนีทได้ สามารถเลือกให้บริการในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่ภูมิลำเนา/ที่พักของแม่บ้านได้”

นายอานนท์กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการ(ดีมานด์) มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปีนี้ทางบีนีทจึงมีแผนจะขยายเครือข่ายการให้บริการออกไปจากเดิมที่ให้บริการเพียง 2 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ และ จ.เชียงใหม่ จะขยายไปยังกลุ่มจังหวัดในปริมณฑล 11 จังหวัด เช่น นนทบุรี สมุทรปราการ และขยายออกไปยัง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า บีนีทเป็นเบอร์ 1 ของแพลตฟอร์มผู้ให้บริการแม่บ้านออนไลน์

“การขยายเครือข่ายการให้บริการของธุรกิจสตาร์ตอัพลักษณะนี้จะสามารถทำได้เลย โดยไม่ต้องมีการลงทุนเทคโนโลยีอะไรเพิ่ม เพราะโมเดลธุรกิจที่สร้างขึ้นเป็นโนว์ฮาวที่สามารถทำซ้ำได้ ไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนสิ่งอำนวยความสะดวก (Facili-ty) อะไรใหม่มากนัก เช่น ระบบปฏิบัติเราใช้คนเพียง 10 คนในการดูแลคัดกรองแม่บ้านในเครือข่าย 200 คน นอกจากนี้ปัจจัยสนับสนุนอีกด้านหนึ่งคือ จากโมเดลธุรกิจในลักษณะนี้ทำให้แม่บ้านออนไลน์ต่างจากเอเยนซี่จัดหาแม่บ้าน เพราะเราไม่ได้ทำหน้าที่จัดหา ไม่ต้องจ่ายสวัสดิการในลักษณะเดียวกับการจ้างงาน แต่เป็นการจับคู่ระหว่างแม่บ้านกับลูกค้า ซึ่งทางบริษัททำหน้าที่คัดกรองให้”

ดังนั้น จุดแข็งของธุรกิจนี้จึงอยู่ที่คุณภาพของผู้ให้บริการจะต้องไม่ใช่การจับแพะชนแกะ แต่จะเน้นที่คุณภาพ แม่บ้านจะต้องมีระดับอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป มีการตรวจสอบประวัติจะต้องไม่มีประวัติอาชญากร และต้องผ่านการฝึกอบรมและสัมภาษณ์ของบริษัทก่อน โดยระบบจะมีการวัดและประเมินผลงาน และให้ลูกค้าให้คะแนนและรีวิว หากแม่บ้านทำผลงานดีเป็นที่พอใจของลูกค้าคะแนนรีวิวดีก็จะมีการใช้บริการแม่บ้านคนดังกล่าวมากขึ้น แต่หากแม่บ้านมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น มาสายจะสะท้อนออกมาผ่านรีวิวเช่นกัน นอกจากนี้บีนีทยังเป็นแพลตฟอร์มบริการที่ตอบสนองอย่างรวดเร็ว มีระบบปฏิบัติการที่มีการรักษาคุณภาพ

“ที่ผ่านมา คนไทยไม่อยากทำงานเป็นแม่บ้าน ทั้งที่ผลตอบแทนสูง เช่น ทำงานเพียง 1 ชม.รายได้ 200 บาท ขณะที่นักศึกษาจบใหม่ได้ค่าจ้างแค่วันละ 500 บาทและต้องทำงานทั้งวัน เพราะไทยมีค่านิยมเกี่ยวกับแม่บ้านเหมือนสาวใช้ เราได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติตรงนี้ เพราะแม่บ้านออนไลน์เหมือนผู้ช่วย หรือเหมือนเพื่อนบ้านช่วยทำความสะอาดให้กับเพื่อนบ้าน บีนีทเป็นเครื่องมือในการรับงานให้แม่บ้าน และผู้รับบริการเท่านั้น โดยได้ส่วนแบ่งจากรายได้ครั้งละ 20% เช่น แม่บ้านทำงาน 200 บาทต่อชั่วโมง บีนีทได้ 50-60 บาทจากผู้รับบริการ อีกทั้งทางบีนีทยังมีการทำประกันความเสียหายจากการทำงานให้ครั้งละ 10,000 บาทให้แม่บ้านอีกด้วย”

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของธุรกิจนี้ ขึ้นอยู่กับดีมานด์ของการท่องเที่ยว หากเป็นช่วงไฮซีซั่นจะมีดีมานด์มากขึ้น ส่วนการแข่งขันในธุรกิจยังมีน้อย มีบริษัทสัญชาติไทยเพียง 3-4 รายเทียบกับมูลค่าการตลาดในบริการนี้ คาดว่าจะสูงกว่าปีละ 10,000 ล้านบาท แต่ด้วยเหตุที่ไทยยังมีอุปสรรคด้านกฎระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงเอื้อต่อสตาร์ตอัพลักษณะนี้ที่จดทะเบียนในต่างประเทศเข้ามาแข่งขันได้ง่ายขึ้น และมีความได้เปรียบกว่าสตาร์ตอัพไทยที่จดทะเบียนในประเทศ

“ส่วนการแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจสตาร์ตอัพสามารถดึงเม็ดเงินลงทุนเข้ามาสนับสนุนได้ง่ายขึ้น”