กนง.เผยแบงก์ไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย หวั่นกระทบกลุ่มเปราะบาง

ดร.ปิติ ดิษยทัต
ดร.ปิติ ดิษยทัต

กนง.เปิด 5 สาเหตุ ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% จาก 0.50% ไปสู่ระดับ 0.75% มองเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน จ่อปรับจีดีพีเพิ่มจากประมาณการ 3.3% ด้านตลาดแรงงาน-รายได้ปรับดีขึ้น ยันไม่เร่งปรับดอกเบี้ยเพื่อกระชากเศรษฐกิจ หวังลดเงินเฟ้อ เชื่อพลวัตรเงินเฟ้อลดลงตามกรอบ ระบุสถาบันการเงินห่วงกลุ่มเปราะบาง คาดส่งผ่านดอกเบี้ยไม่ทันที-ไม่เต็ม 100% หวั่นกระทบหนี้เสียเพิ่มหากขึ้นแรง

วันที่ 10 สิงหาคม 2565 ดร.ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6 ต่อ 1 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี จากระดับ 0.50% ต่อปี เป็น 0.75% ซึ่งสาเหตุการปรับอัตราดอกเบี้ยมีอยู่ 4-5 ประการ

คือ 1.แนวโน้มเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนและต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 ภายในสิ้นปีนี้ แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจครั้งนี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง แต่การฟื้นตัวมีความชัดเจนขึ้น ซึ่งมีโอกาสที่จะปรับประมาณการเติบโตเศรษฐกิจปีนี้เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ปัจจุบันอยู่ที่ 3.3% แต่ปีหน้าภาพยังไม่มีเปลี่ยนแปลง โดยจะมีการอัพเดตข้อมูลในการประชุมครั้งหน้าวันที่ 28 กันยายน 2565

2.ตลาดแรงงานทยอยปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราผู้ว่างงานปรับดีขึ้น และรายได้เฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นในทุกระดับชั้นรายได้ ทั้งรายได้ต่ำ ปานกลาง และสูง และ 3.ดูแลความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมการให้ความสำคัญ โดยเฉพาะแนวโน้มเงินเฟ้อในอนาคตที่มาจากปัจจัยพื้นฐาน โดยมีการจับตาใกล้ชิดโดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 3% ถือว่าอยู่ระดับสูง และหากดูราคาสินค้าที่สูงกว่าปกติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นพอสมควร ทำให้ ธปท.จำเป็นต้องดูแลความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อ

และ 4.ดูแลการยึดเหนี่ยวของอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะข้างหน้า โดยระยะ 1 ปี ปรับสูงขึ้นตามข้อมูลจริงที่เกิดขึ้น แต่หากดูระยะ 5-10 ปี ยังถือว่าอยู่ในกรอบคาดการณ์ และ 5.ดอกเบี้ยต่ำพอสมควร และอัตราเงินเฟ้อสูง ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Rate) ค่อนข้างต่ำ ทำให้นโยบายการเงินผ่อนคลายเกินไปอาจกระทบต่อเสถียรภาพการเงินในอนาคตได้

ดังนั้น หากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่องไม่สะดุด และไม่ร้อนแรงเกินไปจนซ้ำเติมอัตราเงินเฟ้อ และเชื่อว่าโอกาสเงินเฟ้อจะทยอยปรับลดลง ทำให้ไม่จำเป็นต้องรีบกระชากเศรษฐกิจเพื่อให้เงินเฟ้อปรับลดลงในปี 2566 เนื่องจากเงินเฟ้อมีพลวัตปรับลดลงอยู่แล้ว แม้ว่าปัจจุบันจะอยู่ในระดับสูง

โดยจะเห็นจุดสูงสุด (พีก) ในไตรมาสที่ 3 ก่อนปรับลดลง ทำให้นโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้และปี 2566 ค่อนข้างมั่นคง แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะปรับลดลงก็ตาม เพราะปัจจัยขับเคลื่อนมาจากปัจจัยภายในเป็นหลัก ภายหลังจากการเปิดประเทศจะเห็นการใช้จ่ายและบริโภคในประเทศดีขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย

“การปรับขึ้นดอกเบี้ยยังจำเป็น แต่แนวโน้มการขึ้นคงต้องขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยคณะกรรมการเห็นพ้องว่าภาพเงินเฟ้ออยู่ในกรอบประมาณการ เศรษฐกิจเข้าสู่ระดับศักยภาพ และไม่มีความจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย แม้ว่าจำนวนการประชุมลดลงจาก 8 เหลือ 6 ครั้ง ส่วนการประชุมครั้งหน้าวันที่ 28 ก.ย. 65 จะขึ้นดอกเบี้ยเท่าไรนั้น จะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เข้ามา และครั้งนี้ก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ แต่ครั้งหน้าหากยังเป็นไปตามที่ประเมินไว้ ไม่มีช็อก ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเร่งปรับดอกเบี้ยขึ้นตามตลาดคาดการณ์ที่ 0.50% โดยการปรับขึ้นจะสอดคล้องกับบริบทไทย”

สำหรับการส่งผ่านนโยบายการเงินไปยังสถาบันการเงิน ดร.ปิติกล่าวว่า การส่งผ่านดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์นั้น หากอิงตามข้อมูลในอดีตการส่งผ่านไม่หมด 100% ซึ่งมีการหารือกับธนาคารและมีมุมมองความเป็นห่วงลูกค้ากลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคล และธุรกิจขนาดเล็กที่ธุรกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่ โดยพยายามลดผลกระทบไม่ส่งผ่านไปยังกลุ่มเปราะบางบางกลุ่ม

ดังนั้น มองว่าธนาคารคงไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ย M Rate ทันที ทั้งดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) และดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชี (MOR) โดยอาจจะปรับขึ้นแค่บางส่วน หรือรอเวลาไปอีก 3-4 เดือนไปแล้ว โดยที่ผ่านมาการส่งผ่านของธนาคารอยู่ที่เพียง 50% ของอัตราดอกเบี้ยกนง.

อย่างไรก็ดี ในรอบนี้ยังคงมีความเปราะบาง หากธนาคารปรับอัตราดอกเบี้ยสูง อาจจะมีผลต่อกลุ่มเปราะบาง ซึ่งอาจเป็นต้นทุนในด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารได้ ขณะที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ได้มีการหารือร่วมกัน โดยธนาคารก็ได้มีมาตรการดูแลลูกค้าเช่นกัน