อมรเทพ ชี้ เศรษฐกิจไทยขี่หลังเสือถึงกลางทาง ทยอยฟื้นฝ่า 6 ปัจจัยเสี่ยง

อมรเทพ จาวะลา

“ดร.อมรเทพ” นักเศรษฐศาสตร์ ซีไอเอ็มบี ไทย ชี้เศรษฐกิจไทยเหมือนขี่หลังเสือมาถึงกลางทาง มองข้างหน้ามีทั้งโอกาสและความเสี่ยง เปิด 6 ปัจจัยต้องระวังช่วงครึ่งหลังของปี ระบุเศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ทยอยฟื้นปลายปีนี้เหนือกว่าก่อนโควิด ชาติครึ่งปีหลัง-ปีหน้าโต 4%

วันที่ 17 สิงหาคม 2565 ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวบรรยายพิเศษ “perfect storm เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย” ในงานสัมมนา “ถอดรหัสลงทุน ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น” จัดโดยประชาชาติธุรกิจ ว่า เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐเริ่มโตช้าลงแล้ว ปีก่อนโตได้ 5% ปีนี้

ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( IMF) คาดว่าจะโตไม่ถึง 2% และปีหน้าอาจจะโตไม่ถึง 1% แต่คงไม่ถึงขั้นถดถอย แม้จะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่ถึงจุดหนึ่ง จะเจ็บแล้วจบ สุดท้ายจะกลับมาขยายตัวได้

ขณะที่เศรษฐกิจไทย ปีนี้อาจจะโตไม่ต่ำกว่า 3% ฟื้นช้า แต่กำลังฟื้น ส่วนปีหน้า มองว่าจะโตได้ถึง 4%

“เศรษฐกิจไทยจะโตได้แถว ๆ 4% ทั้งในช่วงครึ่งหลังปีนี้ และปีหน้า โดยปลายปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะกลับไปยืนเหนือก่อนโควิดได้ ขณะที่ปีนี้เราเจอเงินเฟ้อที่ร้อนแรงมาก แต่ปีหน้าจะไม่รุนแรงเท่าปีนี้”

ดร.อมรเทพกล่าวว่า ตอนนี้เข้าสู่ไตรมาส 3 แล้วเริ่มเห็นภาพความเสี่ยง แต่ต้องบอกว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์คือเศรษฐกิจกำลังฟื้น การท่องเที่ยวกำลังมา แต่ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือ 6 ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในช่วงครึ่งหลังปีนี้

1.เงินเฟ้อสูง คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25%

2.เงินบาทอ่อนค่าแรงในช่วงที่ผ่านมา กระทบผู้นำเข้าที่มีต้นทุนสูงขึ้นและครัวเรือน แต่คาดว่าปลายปีนี้ถึงปีหน้าเงินบาท จะมีทิศทางแข็งค่าขึ้น โดยสิ้นปีนี้น่าจะอยู่ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์

3.ปัจจัยเรื่องการเมืองไทยที่ใกล้จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งอาจทำให้เกิดการชะลอการลงทุน 4.ความขัดแย้งในต่างประเทศ 5.เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่เสี่ยงถดถอย และ 6.การล็อกดาวน์ของจีน

“ตอนนี้เรากำลังขี่หลังเสือ ถึงกลางปีแล้ว เราอยู่กลางทางแล้ว มองไปข้างหน้ามีทั้งโอกาสและความไม่แน่นอน ซึ่งเราต้องมองทั้ง 2 อย่าง”

ดร.อมรเทพกล่าวด้วยว่า ตอนนี้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่ได้เปลี่ยนไปจากหลายปีก่อนที่ตนเรียกว่าโมเดลทุเรียนคือ มีลักษณะกรอบนอกนุ่มใน

โดยกรอบนอกคือการส่งออกและการท่องเที่ยวแข็งแกร่ง ส่วนภายในประเทศยังไม่ค่อยแข็งแรง คือการฟื้นตัวยังไม่กระจาย ซึ่งที่พูดกันว่าเศรษฐกิจฟื้นแล้วนั้นคนต่างจังหวัดยังไม่รู้สึกว่าฟื้น รวมถึงธุรกิจ sme ก็ยังไม่ฟื้น เศรษฐกิจระดับล่างยังไม่กลับมาระดับก่อนโควิด

“ปีหน้าหวังว่าจะเห็นเรื่องการกระจายตัวได้ดีขึ้น ไม่ได้หวังโมเดลทุเรียน เพราะไม่อยากให้ซ้ำรอยที่ผ่านมา” ดร.อมรเทพกล่าว