คาราบาวกรุ๊ป รุกธุรกิจค้าปลีก ปั้น ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส เข้าตลาดหุ้น

คาราบาว เผยสถานการณ์ต้นทุน-เศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้น ลุยขยายสาขาร้านถูกดีมีมาตรฐาน-ซีเจมอร์ พร้อมเพิ่มสินค้า-บริการ หวังครองตลาดระดับชุมชน ก่อนต่อยอดสร้างเครือข่ายอีคอมเมิร์ซ

วันที่ 17 สิงหาคม 2565 นายเสถียร เสถียรธรรมะ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) กล่าวในงาน “ถอดรหัสลงทุน ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น” ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ว่า แม้ครึ่งปีแรกสถานการณ์เงินเฟ้อและปัญหากำลังซื้อจะรุนแรงมากจนทำให้กำไรของคาราบาวกรุ๊ปต่ำกว่าที่คาดไว้

แต่ยังเชื่อมั่นว่าครึ่งหลังนี้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวจากสัญญาญบวก เช่น ต้นทุนวัตถุดิบอย่าง อะลูมิเนียมเริ่มลดลง เช่นเดียวกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ที่ต่างมีทิศทางขาลง ในขณะที่การเปิดประเทศที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาและสร้างเม็ดเงินให้ธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องค่อย ๆ ฟื้นตัวตามลำดับ

โดยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาเพียงสงครามในยุโรป แต่เชื่อว่าระยะทางที่ไกลจะทำให้ได้รับผลกระทบไม่มากนัก และสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่ชัดเจน

บริษัทจึงตัดสินใจเดินหน้าธุรกิจทั้งการออกสินค้าใหม่ อย่างเครื่องดื่มแนวสุขภาพ “คันโซX2” ที่มีจุดขายเรื่องบำรุงตับซึ่งเปิดตัวไปก่อนหน้านี้ และจะเปิดเพิ่มอีกตัวช่วงปลายปี

พร้อมกับเดินแผนขยายขาธุรกิจค้าปลีกที่มีซีเจมอร์ (CJ More) และร้านถูกดีมีมาตรฐานเป็นแกนนำ ตามเป้าต่อยอดเครือข่ายร้านค้าออฟไลน์ที่ปัจจุบันมีสาขารวมกันกว่า 6,000 สาขา และเดินหน้าขยายเพิ่มต่อเนื่อง ให้เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ครบวงจรทั้งการขายสินค้าและบริการต่าง ๆ

ด้วยการเดินหน้าขยายสาขาของทั้ง 2 โมเดล โดยซีเจฯ จะขยาย 250-300 สาขาต่อปี จากปัจจุบันประมาณ 1,000 สาขา ส่วนร้านถูกดีปลายปีคาดว่าจะมี 8,000-10,000 สาขา จากปัจจุบันมี 5,000 สาขา หลังมีผู้สนใจติดต่อเข้ามา 400-500 รายต่อสัปดาห์

ตามด้วยในปี 2566 ที่จะถึงนี้จะนำ ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อนำเม็ดเงินมาขยายธุรกิจเพิ่มเติมอีก

จากนั้นจึงใช้เทคโนโลยีมาเชื่อมโยงร้านค้าทั้ง 2 แบรนด์นี้เข้าเป็นเครือข่ายเดียวกัน เพื่อเสริมศักยภาพด้านสินค้าและบริการ ให้ร้านค้าของเรายกระดับเป็นศูนย์กลางชุมชน ก่อนจะต่อยอดไปสู่การแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

โดยขณะนี้ทยอยขยายฟังก์ชั่นของร้านถูกดีฯ จากจุดจำหน่ายสินค้า (Point of sale) เพิ่มการเป็นจุดให้บริการ (Point of service) อาทิ “ถูกดีสั่งได้” ซึ่งเป็นการพรีออร์เดอร์สินค้าจากพอร์ตสินค้าของซีเจมอร์ ช่วยเพิ่มไลน์อัพสินค้าของร้านโชห่วยที่ปกติจะมีเพียง 200-300 รายการ เป็นมากกว่าหมื่นรายการ และจะขยายไปสู่การเป็นศูนย์กลางของชุมชน หรือ Point of Everything

รวมถึงเริ่มทดลองการให้บริการทางการเงิน เช่น การให้สินเชื่อ หลังบริษัทร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยไปก่อนหน้านี้

พร้อมกันนี้เร่งขยายพอร์ตสินค้าของบริษัท สหมิตร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือทำธุรกิจผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ให้มากขึ้นจากปัจจุบันมีสินค้าแบบโอนแบรนด์ (own brand) กว่า 300 รายการ อาทิ น้ำยาล้านจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ขนม ฯลฯ รวมถึงขยายคลังสินค้าขนาด 50,000 ตร.ม. ให้ครบ 10 แห่งทั่วประเทศ เพื่อรองรับการขยายตัวของร้านสาขา

“เดิมเรามองว่าการจะทำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ แต่ในตลาดที่มีผู้บริโภค 50-60 ล้านคนอย่างประเทศไทยนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะมีฐานลูกค้าไม่เพียงพอ แต่เมื่อมีเครือข่ายร้านถูกดีฯ ที่เจาะเข้าถึงระดับชุมชนมาเป็นกระดูกสันหลังแล้ว เชื่อว่าแนวคิดนี้จะสามารถเป็นจริงได้” นายเสถียรกล่าว