SCBS ชี้ชัด หุ้นไทย Q3 ต่ำสุด ฉายภาพ 6 เทรนด์ลงทุนฝ่าวิกฤตซ้อนวิกฤต

“สุกิจ” เอ็มดีสายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ ชี้ชัดดัชนีหุ้นไทยไตรมาส 3/65 ต่ำสุด ทดสอบภาวะวิกฤตระดับ 1,500 จุด แย่สุดแล้วช่วง ก.ค. 65 เชื่อไตรมาส 4 ฟื้นตัวขึ้นหลังคาด “เงินเฟ้อสหรัฐ-ดอกเบี้ยเฟด” ผ่านช่วงเข้มข้นไปแล้ว คาดเป้าดัชนี SET สิ้นปี 1,650 จุด แกว่งกรอบ 1,500-1,750 จุด พร้อมฉายภาพ 6 เทรนด์ลงทุนอนาคตฝ่าวิกฤตซ้อนวิกฤต

วันที่ 17 สิงหาคม 2565 นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBS เปิดเผยในงานสัมมนาประชาชาติธุรกิจ “ถอดรหัสลงทุนยุคดอกเบี้ยขาขึ้น” ในหัวข้อพิเศษ “ส่องเทรนด์ลงทุน…ฝ่าวิกฤตซ้อนวิกฤต” ว่า

หุ้นไทย Q3 ต่ำสุด

มุมมองต่อทิศทางตลาดหุ้นโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 คาดว่าช่วงไตรมาส 3/65 มีโอกาสเป็นจุดต่ำสุด หากประเมินจากดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ในเดือน ก.ค. 65 หล่นลงไปที่ระดับ 1,500 จุด แต่ปัจุบันเด้งกลับขึ้นมาบริเวณ 1,600 จุด ถ้าเหตุการณ์ที่คาดการณ์เป็นจริงทั้งธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 20 ก.ย. 65 แค่ระดับ 0.50% สภาวะอัตราเงินเฟ้อสหรัฐและราคาน้ำมันทรงตัวอยู่ประมาณนี้ เป็นไปได้มากว่าดัชนี SET Index ที่บริเวณ 1,500 จุด จะเป็นระดับต่ำสุดไปแล้วก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม อาจยังไม่กล้าฟันธง เพราะยังเหลือเวลาอีก 1-2 เดือน

แต่ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 4/65 เชื่อว่าจะเป็นช่วงที่ฟื้นตัวดีขึ้น เพราะจังหวะนั้นทั้งสภาวะเงินเฟ้อสหรัฐและการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเริ่มจะผ่านช่วงที่เข้มข้นไปแล้ว ขณะที่ภาคธุรกิจไทยเองก็ได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นด้วย โดยประเมินเป้าดัชนี SET Index สิ้นปีนี้ไว้ที่ 1,650 จุด เคลื่อนไหวบริเวณ 1,500-1,750 จุด ซึ่งไม่คิดว่าจะลงต่ำกว่าระดับ 1,500 จุด เพราะได้มีการทดสอบภาวะวิกฤตต่าง ๆ ไว้แล้ว

“ผมคาดว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกในปี 66 จะเริ่มทรงตัว เพราะว่าเศรษฐกิจอาจจะรับไม่ไหว ส่วนเงินเฟ้อก็น่าจะเริ่มเข้าสู่ระดับที่ลดลง แต่ยังสูงกว่าในอดีต ฉะนั้น ในปีหน้าอาจยังไม่ใช่ปีที่วางใจเงินเฟ้อได้ ส่วนด้านราคาพลังงานอาจจะมีเสถียรภาพมากขึ้น และเงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) มีโอกาสไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่มากขึ้นด้วย แต่ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศทั้งจากจีน-ไต้หวัน และรัสเซีย-ยูเครน อาจคาดการณ์ไม่ได้เลย ซึ่งเป็นปัจจัยลบที่เข้ามากดดันได้ตลอดเวลา” นายสุกิจกล่าว

ส่อง 6 เทรนด์ลงทุนฝ่าวิกฤต

นายสุกิจกล่าวต่อว่า สำหรับเทรนด์การลงทุนในอนาคตมีด้วยกัน 6 เทรนด์ที่น่าสนใจ ประกอบด้วย 1.หุ้นที่มีอำนาจต่อรอง ซึ่งจะมีความแข็งแกร่งเวลาเผชิญเงินเฟ้อ 2.กลุ่มพลังงานสะอาดและรถยนต์อีวีคาร์ ซึ่งยังเป็นเทรนด์ที่มาแรงต่อเนื่อง เช่น ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่, ผู้ผลิตรถยนต์ดั้งเดิมที่ปรับตัวได้ เป็นต้น 3.ตลาดหุ้นจีน แม้ว่าเป็นตลาดที่ยากมากในการเข้าไปลงทุนจากที่มีนโยบายแปลก ๆ ออกมาตลอดเวลา แต่ให้มองการลงทุนต่อนโยบายเชิงบวก เช่น พลังงานสะอาด ซึ่งเป็นเจ้าตลาดโลก หรือแผนเรื่องการเปิดเมืองและลดวันการกักตัว

4.ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย เป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพในการเติบโตที่ดี จากเรื่องการย้ายฐานการผลิต ทั้งเรื่องอีวีคาร์และวัตถุดิบ 5.ลงทุนในบริษัทที่มีความยั่งยืนจากการทำ ESG ซึ่งเป็นเทรนด์ใหญ่และเชื่อว่าจะต่อเนื่องไปในอนาคต และ 6.หุ้นเทคโนโลยี แม้ตอนนี้ผลตอบแทนออกมามีทั้งดีและไม่ดี ดังนั้น ต้องเลือกซื้อลงทุน เพราะตอนนี้การแข่งขันในธุรกิจเทคโนโลยีค่อนข้างสูง จึงแนะนำลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีต้นน้ำ เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์, คลาวน์คอมพิวติ้ง และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเริ่มดีขึ้นในส่วนของซัพพลายดิสรัปชั่น

“เวลาซื้อหุ้นหรือลงทุนในบริษัท อนาคตและกำไรเป็นส่วนสำคัญ แต่เน้นย้ำว่าทุก ๆ เทรนด์การลงทุนไม่ได้ซื้อลงทุนแบบเหมา แต่ต้องซื้อแบบเลือกรายธุรกิจและรายบริษัท” นายสุกิจกล่าว

เปิดวิธีจัดสรรเงินลงทุนล้อ 4 วัฏจักร

สำหรับวิธีการจัดสรรเงินลงทุนแบ่งตาม 4 วัฏจักรเศรษฐกิจ (Boom, Slowdown, Recession, Recovery) จะไม่เหมือนกันเลย ซึ่งแต่ละประเทศวัฏจักรเศรษฐกิจก็จะต่างกันไปด้วย ตอนนี้วัฏจักรเศรษฐกิจในยุโรปและแถบอเมริกา กำลังเดินเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) แต่สำหรับวัฏจักรเศรษฐกิจของไทยอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว (Recovery)

ซึ่งวันนี้นักลงทุนส่วนใหญ่กังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะเกิดภาวะถดถอย (Recession) ดังนั้น พอร์ตปัจจุบันจะลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว และเริ่มลงทุนในหุ้นเติบโต ส่วนในภาวะการฟื้นตัว พอร์ตที่น่าจะเป็นคือลงทุนในตลาดหุ้น ตราสารหนี้เอกชนไฮยีลด์ หุ้นแวลูและหุ้น pricing power

“การลงทุนทุกครั้งต้องประเมินความเสี่ยงให้ออก รับได้มากหรือน้อย และต้องกำหนดผลตอบแทนที่เหมาะสม วันนี้อย่าเพิ่งคาดหวังผลตอบแทนสูงเกินไป เพราะเบื้องหลังแน่นอนว่ามีความเสี่ยงซ่อนอยู่ค่อนข้างมาก อย่าใจร้อน รอของถูกค่อยไล่ซื้อ เน้นธุรกิจมีอำนาจต่อรอง บริษัทที่มีฐานะการเงินมั่นคง” นายสุกิจกล่าว