ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า หลังความเห็นของเฟดหลายสาขายังหนุนขึ้นดอกเบี้ย

ภาพ : pixabay

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังความเห็นของเฟดหลายสาขายังหนุนการขึ้นดอกเบี้ย แต่คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยแค่ 0.25-0.50% ไม่น่าถึง 0.75% หลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมชะลอตัว จับตาการประชุมในวันที่ 25-27 สิงหาคมนี้ ขณะที่แบงก์ชาติแจงเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 15-19 สิงหาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (15/8) ที่ระดับ 35.36/38 บาท-ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/8) ที่ระดับ 35.21/23 บาท/ดอลาร์สหรัฐ

โดยแม้ว่าตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐจะย่อลงจากเดือนที่แล้ว แต่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงได้รับแรงหนุนจากการที่สมาชิกของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลายคนยังคงให้ความเห็นหนักแน่นในการสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป

โดยนางแมรี ดาลี ประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโก ได้กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่เฟดจะประกาศชัยชนะในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ และคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 ในการประชุมเดือนกันยายนนี้

ขณะที่ในวันอังคาร (16/8) นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานเฟดสาขาชิคาโก ได้กล่าวถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งบ่งชี้ว่า เงินเฟ้อของสหรัฐได้ชะลอตัวลงในเดือนกรกฎาคม และถือเป็นข้อมูลในเชิงบวกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เฟดเริ่มใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน อย่างไรก็ดี นายอีแวนส์กล่าวว่า เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่สูงอย่างยอมรับไม่ได้ และเฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

ค่าเงินดอลาร์สหรัฐยังได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการเปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 26-27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่า กรรมการเฟดมีความมุ่งมั่นที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงที่สุดเท่าที่จำเป็น จนกว่าจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ แต่ในขณะเดียวกัน เฟดก็ส่งสัญญาณว่าอาจจะชะลอการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยตระหนักถึงความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

อย่างไรก็ดี สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า มีแนวโน้มที่เฟดอาจจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนหน้า หลังจากรายงานการประชุมเฟดระบุว่า “เมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาในการประเมินว่า การดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร เฟดจึงมองว่า อาจเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยอาจจะปรับขึ้น 0.50% หรืออาจปรับขึ้นเพียง 0.25% จากที่เคยปรับขึ้นรุนแรงถึง 0.75% ในการประชุมเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม

ทั้งนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีการเคลื่อนไหวในเชิงที่ค่อนข้างแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เนื่องจากนักลงทุนยังคงเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์เงินเฟ้อโลกที่ยังไม่คลี่คลาย

โดยนักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกจับตาการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง วันที่ 25-27 สิงหาคมนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังเงินเฟ้อเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลงในเดือนกรกฎาคม

โดยหัวข้อการประชุมในปีนี้คือ “Reassessing constraints on the Economy and Policy” สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 55.1 ในเดือนสิงหาคม โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 52.5 และเพิ่มขึ้นจากระดับ 51.5 ในเดือนกรกฎาคม

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น ในช่วงต้นสัปดาห์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้เปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาสที่ 2/65 ขยายตัว 2.5% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 2.3% ในไตรมาสที่ 1/65 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการเร่งตัวของภาคบริการที่มีแรงสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ประกอบกับการดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติขยายตัวสูง อีกทั้งภาวะเงินบาทอ่อนค่า ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกโดยรวมขยายตัว

ด้านเสถียรภาพภายในประเทศพบว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 2 ขยายตัว 6.5% ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ที่ 1.37% หนี้สาธารณะ อยู่ที่ 61.1% ของจีดีพี และทุนสำรองระหว่างประเทศ ยังอยู่ในระดับสูงที่ 2.2 แสนล้านดอลลาร์

ขณะที่ในวันพฤหัสบดี (18/8) รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า จากการเคลื่อนไหวของเงินบาทในกรอบ 35-36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐในช่วงที่ผ่านมานั้น พบว่าการเคลื่อนไหวโดยรวม สอดคล้องกับสกุลภูมิภาคที่มีการแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ตามการปรับลดคาดการณ์การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐเริ่มปรับตัวลดลง

ประกอบกับแนวโน้มภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าลงทุนในสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.25-35.78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (19/8) ที่ระดับ 35.62/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (15/8) ระดับ 1.0258/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/8) ที่ระดับ 1.0337/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ จากการที่เฟดยังคงหนักแน่นในการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

ขณะที่ในส่วนของตลาดยุโรปเองนั้นยังคงขาดปัจจัยชี้นำตลาด นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของอังกฤษ พุ่งขึ้น 10.1% ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการปรับขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2525 โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 9.4% ในเดือนมิถุนายน และสูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในการสำรวจของรอยเตอร์สที่ 9.8%

ทั้งนี้ โดยตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐโดยมีกรอบระหว่าง 1.0078-1.0268 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (19/8) ที่ระดับ 1.0086/90 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (15/8) ที่ระดับ 133.22/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/8) ที่ระดับ 132.63/65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนยังคงเคลื่อนไหวในเชิงอ่อนค่า จากการดำเนินนโยบายทางการเงินที่สวนทางกับสหรัฐ ขณะที่ในวันจันทร์ (15/8) รัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2565 ขยายตัว 2.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวติดต่อกัน 3 ไตรมาส โดยได้แรงหนุนจากการอุปโภคในภาคเอกชนที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม ตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ขยายตัวต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 2.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี และเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส GDP ไตรมาส 2 ขยายตัว 0.5% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 0.6% ในขณะที่ในวันอังคาร (16/8) กระทรวงการคลัง ญี่ปุ่นได้เปิดเผยตัวเลขการค้า ซึ่งขาดดุลการค้า 1.44 ล้านล้านเยน (1.07 หมื่นล้านดอลลาร์) ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของสกุลเงินเยนและราคาสินค้าที่สูงขึ้น ซึ่งนับเป็นการขาดดุลเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน

ทั้งนี้ ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 132.54-136.76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (19/8) ที่ระดับ 136.47/50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ