
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า-กังวลเฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 55% เฟดปรับขึ้ดอกเบี้ยที่ระดับ 0.75% ขณะที่ปัจจัยในประเทศ นักลงทุนจับตาดูความชัดเจนเกี่ยวกับข่าวปมวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของประยุทธ์
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/8) ที่ระดับ 36.11/13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (22/8) ที่ระดับ 36.09/10 บาท
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
- กรุงไทย-ออมสิน ระเบิดโปรฯ เงินฝาก “ดอกเบี้ยพิเศษ” เช็กเงื่อนไขที่นี่
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงินสู่ระดับ 1091 จากการที่นักลงทุนยังคงเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์เงินเฟ้อโลกที่ยังไม่คลี่คลาย
นอกจากนี้นักลงทุนยังคงจับตาดูสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 55% การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดในการประชุมเดือนกันยายนที่ระดับ 0.75% แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐจะเริ่มส่งสัญญาณกลับตัวก็ตาม
ทั้งนี้ นักลงทุนจับตาการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 25-27 สิงหาคมนี้ เพื่อจับตาดูสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐต่อไป
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาคที่มีการอ่อนค่าลงจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐตามการปรับเพิ่มคาดการณ์ขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ อีกทั้งนักลงทุนจับตาดูความชัดเจนเกี่ยวกับข่าวปมวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.04-36.33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.13/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/8) ที่ระดับ 0.9942/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (22/8) ที่ระดับ 0.9944/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการคาดการณ์นักลงทุนเกี่ยวกับการที่เฟดอาจคงอัตราเร่งในการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวและต่อเนื่อง เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
อีกทั้งความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ซบเซาจากแรงกดดันจากราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้นักลงทุนปรับเพิ่มน้ำหนักในการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนกันยายน ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อจาก S&P Global ในยูโรโซน เดือนสิงหาคมที่ระดับ 49.2 สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 49.0 แม้ว่าลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.9 อีกทั้งรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตในยูโรโซนแสดงถึงการหดตัวในเดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 49.7 ต่ำกว่าจากในเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวระดับ 49.8
และรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการในยูโรโซน ขยายตัวในเดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 52.2 สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 49.0 แม้ว่าปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.2 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโร เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9900-0.9944 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9921/25 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/8) ที่ระดับ 137.22/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (22/8) ที่ระดับ 136.92/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงเคลื่อนไหวในแนวโน้มอ่อนค่า โดยได้รับแรงกดดันจากรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตในเดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 49.8 ต่ำกว่าการขยายตัวในเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.8
อีกทั้งรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการขยายตัวในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ระดับ 51.0 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.1 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 137.04-137.47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 137.38/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วประเทศเดือนกรกฎาคมจากเฟดชิคาโกของสหรัฐ, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นเดือนสิงหาคมจากเอสแอนด์พี โกลบอลของสหรัฐ, ยอดขายบ้านใหม่เดือนกรกฎาคมของสหรัฐ, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นเดือนสิงหาคมจากเอสแอนด์พี โกลบอลของเยอรมนี และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นเดือนสิงหาคมจากเอสแอนด์พี โกลบอล/ซีไอพีเอสของอังกฤษ
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -5.50/-5.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.50/-2.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ