เศรษฐกิจไทยโตช้าไปไหม ?

เศรษฐกิจ ตลาด
คอลัมน์ : เช้านี้ที่ซอยอารีย์
ผู้เขียน : พงศ์นคร โภชากรณ์ ([email protected])

ในปี 2563 เศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหา COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจหดตัวลงร้อยละ -6.2 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวสูงสุดนับตั้งแต่ไทยเผชิญปัญหาวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540-2541 แต่หลังจากรัฐบาลดำเนินมาตรการเยียวยา กระตุ้น และฟื้นฟูเศรษฐกิจ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจก็ค่อย ๆ ฟื้นตัวเป็นลำดับ

โดยในปี 2564 พลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี และในไตรมาส 1 และ 2 ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นร้อยละ 2.3 และ 2.5 ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลให้ในครึ่งแรกของปี 2565 เศรษฐกิจขยายตัวได้ร้อยละ 2.4 ต่อปี และคาดการณ์ว่า ทั้งปี 2565 เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.0-3.5 ต่อปี

ผมขอขยายความคำว่า “โตช้า” ในความเห็นส่วนตัวของผม คือ 1) อัตราการเติบโตน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี 5 ปี และ 3 ปี อยู่ที่ร้อยละ 3.5 3.6 และ 3.4 ต่อปี ตามลำดับ 2) เมื่อเทียบกับการเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเดียวกัน (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม) ที่เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.3 และ 5.1 ต่อปี ในปี 2565 และ 2566

และ 3) เราตั้งเป้าว่าภายใน 10-15 ปี เราจะหลุดจากกลุ่มประเทศกับดักรายได้ปานกลาง ต้องมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4-5 ต่อปี ดังนั้น การเติบโตไม่ถึงร้อยละ 3.5 ต่อปี ผมจึงถือว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น

แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่นำมาสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2564 มาจนถึงครึ่งแรกของปี 2565 นั้น มาจากการส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว

และการบริโภคภาคเอกชนในหมวดภัตตาคารและโรงแรม และการขนส่ง ซึ่งก็ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ถ้ามองกันให้ถึงแก่นแท้ของการเติบโตของเศรษฐกิจแล้ว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังติดยึดอยู่กับพลวัตรของเศรษฐกิจโลก

ผ่านการส่งออกสินค้าและบริการที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 66 ของ GDP ไม่ได้มาจากการลงทุนของภาครัฐและเอกชนอย่างที่ผมอยากจะให้เป็น

โดยสัดส่วนของการลงทุนอยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 25 ของ GDP มาตั้งแต่ปี 2541 หลังจากเศรษฐกิจล้มครืนลงจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งสะท้อนว่า 20 กว่าปีที่ผ่านมา บทบาทของการลงทุนที่มีต่อเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับต่ำมาอย่างยาวนาน

แล้วเศรษฐกิจไทยจะก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้อย่างไร เราจะพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยให้ทันสมัยได้อย่างไร เราจะมี smart city ในแต่ละจังหวัดได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นคำถามอยู่ในใจผมตลอดเวลา

นอกจากนี้ ข้อมูลคาดการณ์ปี 2565 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ฟ้องไปในทำนองเดียวกันว่า แม้สัดส่วนการลงทุนของภาครัฐและเอกชนต่อ GDP ของไทยมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชีย-แปซิฟิก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย เวียดนาม มีสัดส่วนนี้ที่ร้อยละ 43.6 32.3 32.5 และ 28.0 ตามลำดับ เป็นต้น ผมจึงไม่แปลกใจที่ประเทศเหล่านี้ถึงเติบโตเร็วกว่าเรามาก และการที่เราหวังว่ารายได้ต่อหัวของคนไทยจะเพิ่มขึ้นจนก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางนั้น จะต้องรออีกนานแค่ไหน

และเมื่อย้อนกลับมาดูรายจ่ายลงทุนในงบประมาณรายจ่ายประจำปีของไทยในช่วงปี 2560-2566 พบว่า งบฯลงทุนมีสัดส่วนเฉลี่ยประมาณร้อยละ 21.3 ของงบประมาณรวม แม้สัดส่วนจะค่อนข้างคงที่ในแต่ละปี แต่ไม่ใช่เรื่องที่เราควรสบายใจ

เพราะตัวเลขนี้ทำให้ผมสงสัยอยากรู้ว่า 1) เราไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนการลงทุนภาครัฐได้แล้วจริง ๆ ใช่หรือไม่ 2) งบฯลงทุนภาครัฐของเราถูกเบียดบังจากงบประจำมากเกินไปจนไม่สามารถทำอะไรได้มาก ใช่หรือไม่

3) เราเคยลองรีดไขมันส่วนเกินหรืองบประมาณรายจ่ายประจำจากโครงการต่าง ๆ ที่มีการจ่ายเงินซ้ำซ้อนหรือไม่ เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง (fiscal space)

แล้วนำไปเพิ่มในก้อนงบฯลงทุนภาครัฐหรือไม่ 4) งบฯลงทุนกระจายไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเพียงพอที่จะจุดระเบิดศักยภาพของเขาขึ้นมาเติบโตจากท้องถิ่นเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินที่รัฐบาลเก็บให้ แบ่งให้ และเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอยู่ร่ำไปหรือไม่

และ 5) งบฯลงทุนภาครัฐกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดสำคัญทางเศรษฐกิจหรือไม่ เพราะถ้าดูจากขนาดของเศรษฐกิจที่วัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัด หรือ GPP (gross provincial product) พบว่า 15 จังหวัดหลัก มี GPP รวมกันสูงถึงร้อยละ 85 ของ GDP ประเทศ ในขณะที่อีก 62 จังหวัดที่เหลือมีส่วนแบ่งรวมกันเพียงร้อยละ 15 ของ GDP ประเทศ หรือตกจังหวัดละร้อยละ 0.2 ของ GDP เท่านั้น

แล้วเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเร็วขึ้นได้อย่างไร ผมคิดว่า 1) รัฐบาลต้องเพิ่มเม็ดเงินลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชนให้มากขึ้น โดยมีการลงทุนภาครัฐเป็นตัวนำ 2) การลงทุนนั้นต้องกระจายไป 62 จังหวัดให้มากขึ้น ซึ่งจะลงทุนถนน ราง สนามบิน ท่ารถ ท่าเรือ แหล่งน้ำ ก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลช่องว่างการพัฒนาในแต่ละพื้นที่

และ 3) การลงทุนต้องให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ขาดโอกาสและศักยภาพในการเติบโตก่อนเป็นลำดับต้น ๆ เพื่อทำให้พื้นที่และท้องถิ่นมีความเสมอภาคและโอกาสในการเติบโตอย่างทั่วถึง (inclusive growth)

จริงอยู่ที่การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน GDP คงไม่สามารถทำได้ภายใน 1-2 ปี แต่หากเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาการส่งออกและบริการที่ผูกกับเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน ยุ่งเหยิง และมีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น แบ่งขั้วแบ่งค่ายชัดเจนมากขึ้น

ระวังเราจะกลายเป็นประเทศที่เติบโตช้าเรื้อรัง


บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด