ขาดดุลการค้าจ่อ 5 แสนล้าน ทุบสถิติ 27 ปี สต๊อกน้ำมันรับราคาฤดูหนาว

ส่งออก-การค้า

ไทยขาดดุลการค้าพุ่ง 410,000 ล้านบาท ทุบสถิติรอบ 27 ปี เหตุนำเข้าพลังงาน น้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ ค่าบาทอ่อน คาด 5 เดือนข้างหน้าจะขาดดุลเพิ่ม ทะลุ 500,000 ล้านบาท จากราคาพลังงานพุ่งสูงช่วงฤดูหนาว บริษัทผู้ค้าน้ำมันเร่งปรับตัว

“บางจาก” ตัดสินใจซื้อน้ำมันดิบล่วงหน้าเพิ่มสต๊อกมากที่สุดและนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปรองรับตลาดในประเทศโต 8-10% นักวิชาการเตือนเอฟเฟ็กต์ยอดขาดดุลสะสมกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนหนีไปประเทศเพื่อนบ้าน สินค้าแพง-เงินเฟ้อ

เผยตัวเลข ธปท.ชี้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเหลือ 2.18 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ต่ำสุดในรอบ 3 ปี

แม้ว่าภาพรวมของการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค. 2565) ในรูปของค่าเงินบาทนี้คิดเป็นมูลค่า 5.77 ล้านล้านบาทโตกว่าร้อยละ 22.2 หรือเกินกว่าเป้าหมายที่วางเอาไว้ร้อยละ 4 ทว่า เมื่อเปรียบเทียบกับฝั่งการนำเข้ามูลค่า 6.19 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับไทยยังขาดดุลการค้าโดยรวมอยู่ถึง 417,939.1 ล้านบาท ถือเป็นการขาดดุลการค้าสูงสุดในรอบ 27 ปีนับจากปี 2539 ซึ่งเคยขาดดุลการค้า 420,715 ล้านบาท

โดยการขาดดุลการค้าในรอบนี้มีปัจจัยมาจากค่าบาทอ่อนค่าลงอย่างมากในรอบ 16 ปี บวกกับการที่ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าสินค้ากลุ่มเชื้อเพลิง ที่มีสัดส่วนถึง 20.7% ของการนำเข้าทั้งหมด ส่งผลให้ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 89% มูลค่า 37,845 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.32 ล้านล้านบาท

ตารางดุลการค้า

Advertisment

กลุ่มสินค้าเชื้อเพลิง แบ่งเป็น การนำเข้าน้ำมันดิบมูลค่า 24,095 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 843,000 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 81.4%, น้ำมันสำเร็จรูป 3,521 ล้านเหรียญ หรือ 123,000 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.2% และก๊าซธรรมชาติ 7,258 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 254,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 190.2%

นอกจากนี้ประเทศไทยยังนำเข้าสินค้าหมวดอื่น เช่น สินค้าทุนมีมูลค่า 40,018 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นเพียง 8.4%, สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป มูลค่า 76,677 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 14.4%, สินค้าอุปโภคบริโภค มูลค่า 19,065 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 7.4%, สินค้ายานพาหนะและการขนส่ง มูลค่า 6,857 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 5.4% และอาวุธ-ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่น ๆ อีก 2,265 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 960%

Advertisment

ล่าสุดมีการคาดการณ์กันว่า ในอีก 5 เดือนข้างหน้าหลังจากนี้ “ประเทศไทยจะขาดดุลการค้าเพิ่มมากยิ่งขึ้น” จากที่ไทยต้องนำเข้าพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำมันและก๊าซ ในช่วงโค้งสุดท้ายเพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานช่วง “ไฮซีซั่น” 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้

บวกกับสถานการณ์เงินบาทยังอ่อนค่าต่อเนื่อง และกลุ่มโอเปกพลัส (กลุ่มประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน และพันธมิตร) ที่จะประชุมกันวันที่ 5 กันยายน 2565 ได้มีมติไม่ปรับเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในช่วงปลายปีจะพุ่งสูงขึ้นเกินกว่า 100 เหรียญ/บาร์เรลอีกครั้งจากราคาปัจจุบัน (2 ก.ย. 65) อยู่ที่ตลาดเบรนต์ปรับขึ้น 1.20 เหรียญ หรือ 1.3% ทะลุ 93.50 เหรียญ/บาร์เรล ตลาดล่วงหน้าเวสต์เทกซัส พุ่ง 1.16 เหรียญ หรือ 1.3% อยู่ที่ 87.77 เหรียญ/บาร์เรล

บางจากส่งสัญญาณนำเข้าเพิ่ม

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP กล่าวว่า บางจากเตรียมพร้อมจัดซื้อและนำเข้า “น้ำมันดิบล่วงหน้า” ในปริมาณที่สามารถนำเข้าให้ได้มากที่สุด เพื่อเก็บสต๊อกภายหลังจากประเมินแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในช่วงปลายปีนี้จะปรับสูงขึ้นตามความต้องการใช้น้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว

ประกอบกับแนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันในช่วงปลายปีของประเทศไทยจะเติบโตเพิ่มขึ้น หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายทั่วโลก และรัฐผ่อนคลายมาตรการในการเดินทางเข้า-ออกประเทศ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเครื่องบิน (Jet) ค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมา ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวช่วงปลาย จากที่รัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

และการปรับนโยบายส่งเสริมให้เพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไปผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซธรรมชาติที่มีราคาสูง จึงทำให้ภาพรวมความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น

โดยการนำเข้าน้ำมันของบางจากจะมีทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป เพราะในส่วนของบางจากปรากฏข้อมูลครึ่งปีแรกมีการใช้กำลังการกลั่นระดับ 123,000-124,000 บาร์เรล/วัน หรือตามนโยบายที่ยังคงอัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 120,000 บาร์เรล/วัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ปริมาณการจำหน่ายผ่านสถานีบริการน้ำมันมีความต้องการใช้สูงเกินอัตรากำลังการผลิตอยู่ที่ 140,000 บาร์เรล/วัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องนำเข้า “น้ำมันสำเร็จรูป” หรือซื้อจากโรงกลั่นในประเทศมาจำหน่ายด้วย

“ผลประกอบการปีนี้ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครตอบได้ สำหรับเราดูว่า ฤดูหนาวราคาน้ำมันจะขึ้น จากนั้นราคาจะลง จะกระทบอย่างไร แต่ช่วงนี้ก็มีข่าวดีก็คือ ราคาไบโอดีเซล (B100) ถูกลงและอยู่ในระดับต่ำกว่าน้ำมันดีเซล จากช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ที่อินโดนีเซียไม่ส่งออก ราคา B100 ขึ้นไป แตะ 50 บาท/ลิตร แต่ล่าสุดลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 33-34 บาท/ลิตร ก็ต่ำกว่าราคาน้ำมันดีเซลแล้วและก็มีโอกาสที่รัฐบาลจะหันกลับไปเพิ่มสัดส่วนผสม B100 ในดีเซล” นายชัยวัฒน์กล่าว

สอดคล้องกับนางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่ประเมินว่า แนวโน้มภาพรวมการใช้พลังงานในปีนี้จะเติบโต 8-10% จากช่วงครึ่งปีแรกโดยเฉพาะในไตรมาส 3-4 ที่จะเป็นช่วงฤดูกาลที่มีการท่องเที่ยว ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกผ่อนคลายลง ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกลดลงในไตรมาส 3

ขาดดุลการค้าฉุดความเชื่อมั่น

ด้าน ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันประเทศไทยขาดดุลการค้า 4.3 แสนล้านบาท “ซึ่งถือว่าสูงและไม่ได้เกิดขึ้นมานานแล้วนับจากวิกฤตปี 2540” หากเทียบแล้วการขาดดุลการค้าตอนนี้คิดเป็นสัดส่วน 3% ของ GDP ซึ่งยังอยู่ระดับที่ “ยังไม่รุนแรงนัก” ถ้าเทียบกับประเทศที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจตามที่ปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้อย่าง ศรีลังกา หรือ สปป.ลาว ที่มีการขาดดุลการค้าเป็นตัวเลขสูงถึง 30-40% ของ GDP อีกทั้งไทยยังมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับที่สูงถึง 218,000 เหรียญสหรัฐอยู่แล้ว

“ไทยพึ่งพาสินค้าพลังงานอย่างมากและมีแนวโน้มว่า การนำเข้าสินค้าพลังงานช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2565 จะเพิ่มขึ้นอีก ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง หลังจากนโยบายสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า เราต้องจ่ายเงินซื้อน้ำมันในราคาแพงขึ้น จากเดิมเคยซื้อ 30 บาท ตอนนี้ซื้อ 35-36 บาท

“แต่หากอ่อนไปอีกถึง 37 บาท ก็จะมีผลต่อการขาดดุลการค้าของไทย อาจจะสูงเกินกว่านี้หรือขาดดุลที่ระดับ 500,000 ล้านบาท ก็มีโอกาสที่จะได้เห็นการขาดดุลสะสมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานไม่ดี จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะนั่นเท่ากับว่าการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจะทำให้พวกเขาต้องแบกรับภาระต้นทุนสูงกว่าการไปลงทุนประเทศอื่น

“โดยเฉพาะหากเทียบกับมาเลเซีย ราคาพลังงานเราสูงกว่า 3 เท่า การผลิตสินค้าจากไทยเสียเปรียบ ด้านขีดความสามารถในการแข่งขันและอีกด้านสินค้าที่จำหน่ายในประเทศก็จะมีต้นทุนสูง ราคาแพงขึ้น เกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมา ปัญหาภาระค่าครองชีพส่งผลต่อการตัดสินใจมาเดินทางท่องเที่ยวของต่างชาติด้วยส่วนหนึ่ง ก็จะทำให้จำนวนนักลงท่องเที่ยวลดลงไปด้วย” ผศ.ดร.อัทธ์กล่าว

รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานตัวเลขทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2565 ปรากฏระดับทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยมียอด 218,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลง 3,000 ล้านเหรียญ จากวันที่ 1 ก.ค. 65 ถือเป็นการลดลงต่ำกว่าระดับ 220,000 ล้านเหรียญเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี หลังจากภาวะเงินบาทอ่อนค่า 36.76 บาท/เหรียญ

KKP ชี้ขาดดุลจาก 3 ประเด็น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ไทยน่าจะขาดดุลการค้าไปอีกระยะหนึ่ง แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะค่อย ๆ ดีขึ้น

สอดคล้องกับ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า การขาดดุลการค้าของไทยในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา จะมาจาก 3 ประเด็น คือ การส่งออกที่เริ่มชะลอตัว, เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวทำให้มีการนำเข้ามากขึ้น และการนำเข้าพลังงานและค่าขนส่งที่สูง ซึ่งความน่ากังวลจะอยู่ที่ว่า หากนักท่องเที่ยวไม่กลับมาแล้วประเทศไทยยังขาดดุลการค้าด้วยก็จะไม่มีอะไรมาช่วยซัพพอร์ตค่าเงิน

“ก่อนหน้านี้ เราเกินดุลการค้า แต่ขาดดุลบริการ มาช่วงหลังที่ขาดดุลการค้าเพราะนำเข้าเริ่มฟื้น เนื่องจากเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดทำให้เป็นแรงกดดันเงินบาทให้อ่อนค่า ซึ่งถ้านักท่องเที่ยวกลับมามากขึ้น แรงกดดันตรงนี้ก็จะลดลงไป” ดร.พิพัฒน์กล่าว