ธปท.จับตาผลกระทบธุรกิจ “ต้นทุน-ค่าจ้าง-ราคาสินค้า”

ค้าปลีก จับจ่ายใช้สอย

แบงก์ชาติ เปิดผลสำรวจผู้ประกอบการ ชี้แนวโน้มเดือน ส.ค. ธุรกิจ “การผลิต-บริการ” ฟื้นตัวดีขึ้น หลังเปิดประเทศ ขณะที่ธุรกิจ “การค้า-อสังหาฯ” เผชิญหลายปัจจัยรุมเร้าฉุดการฟื้นตัว จับตาผลกระทบ 3 ปัจจัย

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือน ส.ค. มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดย ธปท.ได้สำรวจผู้ประกอบการ พบว่าภาคการผลิตและบริการมีแนวโน้มดีขึ้น ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวหลังเปิดประเทศ

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนและราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูง ยังกดดันกำลังซื้อ ทั้งนี้ ในภาคธุรกิจด้านการผลิตนั้น ผลสำรวจพบว่า ตลาดในประเทศดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และต้นทุนวัตถุดิบหลายรายการปรับลดลง ขณะที่ตลาดส่งออกทรงตัว

ขณะที่ภาคบริการ พบว่าโรงแรมและร้านอาหารดีขึ้น ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และผลดีของมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน แต่ด้านการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทรงตัว โดยความต้องการขนส่งสินค้ายังใกล้เคียงเดิม

ขณะที่การแข่งขันด้านราคามีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และอาจกดดันต่อกำไรของธุรกิจในระยะข้างหน้า อีกทั้งยังทำให้ธุรกิจขนส่งรายเล็กต้องปิดกิจการ

ด้านภาคธุรกิจด้านการค้า พบว่าสินค้าอุปโภคบริโภคดีขึ้นเล็กน้อย ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และการทำโปรโมชั่นของร้านค้า ส่วนสินค้าคงทนทรงตัว

แม้การเปิดตัวรถรุ่นใหม่จะทำให้ตลาดคึกคักมากขึ้น แต่ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังทำให้การส่งมอบรถยนต์ล่าช้า

ส่วนภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พบว่าธุรกิจอสังหาฯ ทรงตัวตามความต้องการบ้านแนวราบ และกลุ่มบ้าน luxury ที่มีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความต้องการกลุ่มอาคารชุดที่เริ่มฟื้นตัวหลังเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจกระทบผู้ที่กำลังตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ในขณะที่ธุรกิจก่อสร้างทรงตัว ทั้งงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวและ ราคาวัสดุก่อสร้างที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้จะปรับลดลงบ้าง

“แนวโน้มเดือน ส.ค. กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่ต้องติดตาม 3 ประเด็นคือ 1.การปรับขึ้นของต้นทุน ค่าจ้าง และราคาสินค้า 2.อุปสงค์ของต่างประเทศที่ชะลอตัว และ 3.การแพร่ระบาดของโควิด-19 และนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ”