DR อิงหุ้นนอก กระแสแรง บัญชีเทรดพุ่ง 400% วอลุ่มทะลัก

หุ้น ลงทุน

หลังจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เริ่มเปิดให้มีการเสนอขายตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (depositary receipt) หรือ DR ครั้งแรก เมื่อปลายปี 2561

จนถึงปัจจุบันการลงทุน DR ในตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยมากขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากซื้อขายได้ง่าย ใช้เงินไม่มาก ทำให้กลายเป็นทางเลือกการลงทุนที่ตอบโจทย์นักลงทุนมากขึ้น

โดยข้อมูลจาก ตลท. พบว่า ปัจจุบัน มี DR ที่ออกมาแล้วทั้งหมด 10 ตัว ซึ่งออกโดยธนาคารกรุงไทยกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2/2565 มูลค่าตามราคาตลาด (market cap)

ของ DR อยู่ที่กว่า 11,500 ล้านบาท เติบโตขึ้นกว่า 200% จากปี 2564 และมีจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายกว่า 45,000 บัญชีต่อไตรมาส หรือเพิ่มขึ้นกว่า 400% จากปีก่อน

นอกจากนี้ มูลค่าการซื้อขาย DR ในไตรมาส 2 ของปีนี้ มีมูลค่าการซื้อขายกว่า 15,500 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท สะท้อนว่าการลงทุนใน DR ได้รับความสนใจและกระแสตอบรับอย่างดีจากนักลงทุน

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าครึ่งปีหลังนี้ จะมี DR ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง

โดย “บรรณรงค์ พิชญากร” กรรมการผู้จัดการอาวุโส กิจการค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า DR ที่ออกมาได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังมีความกังวลอยู่มากเกี่ยวกับการลงทุน

ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าบรรยากาศการลงทุนตอนนี้ไม่ค่อยเป็นใจ โดยนักลงทุนไม่น้อยก็มองว่าการลงทุนผ่าน DR เป็นอีกหนึ่งตัวช่วย หรือเครื่องมือที่จะทำให้การเข้าไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศมีความสะดวกและง่ายขึ้น

“DR ของบัวหลวงที่นำออกมาเสนอขาย จะเน้นไปที่ DR ที่เป็นกองทุนรวมดัชนี หรือ ETF ซึ่งก็จะสามารถช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่าลงทุนในหุ้นตัวเดียวโดยตรง

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงของการลงทุนใน DR ก็ไม่ได้แตกต่างจากการซื้อหุ้นต่างประเทศแบบทั่วไปมากเท่าไหร่ ทำให้ราคาหุ้นอาจเกิดความผันผวนได้ตลอด ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น DR จึงมีความผันผวนเช่นเดียวกัน” นายบรรณรงค์กล่าว

“บรรณรงค์” กล่าวอีกว่า ที่สำคัญ DR ไม่ได้มีการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน เพราะฉะนั้นนอกจากความผันผวนที่เกิดจากภาพรวมของตลาดการลงทุนแล้ว นักลงทุนก็ต้องดูเรื่องค่าเงินด้วย

ซึ่งเป็นความผันผวนของการลงทุนในต่างประเทศที่นักลงทุนต้องรับความเสี่ยง และสุดท้ายข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่งของ DR ก็คือนักลงทุนจะสามารถลงทุนใน DR ได้ ก็ต่อเมื่อมีหลักทรัพย์นำขึ้นมาเสนอขายเท่านั้น ทำให้ยังไม่ได้มีให้เลือกเยอะมากในปัจจุบัน

ขณะที่ “ชวินดา หาญรัตนกูล” กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย กล่าวว่า DR ได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากเป็นทางเลือกในการลงทุนต่างประเทศอย่างหนึ่ง

ซึ่งสามารถซื้อขายได้ง่ายสะดวก ไม่มีจำนวนขั้นต่ำในการซื้อขาย (สามารถซื้อขายได้ตั้งแต่ 1 หน่วย) ไม่ต้องแลกเงิน หรือโอนเงินไปต่างประเทศ ซื้อขายตามเวลาไทย ชำระราคาวันที่ T+2 เหมือนการซื้อขายหุ้นปกติ รวมถึงสามารถลงทุนได้ผ่านบัญชีหลักทรัพย์ในไทย โดยมีค่าธรรมเนียมการซื้อขายเหมือนการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ

“การลงทุนผ่าน DR เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับนักลงทุนที่มีความสนใจในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยไม่ต้องใช้เงินจำนวนมาก” นางชวินดากล่าว

นอกจากนี้ DR ยังมี market maker คอยดูแลสภาพคล่องในตลาด เพื่อให้ราคาเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับสินทรัพย์อ้างอิง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนต้องคำนึงในการลงทุนผ่าน DR

ที่อาจทำให้ราคา DR เคลื่อนไหวไม่สอดคล้องกับสินทรัพย์อ้างอิงในระยะสั้น เช่น อุปสงค์และอุปทานของนักลงทุนไทย ค่าเงินบาท เป็นต้น แต่ในระยะยาวผลตอบแทนของ DR มีแนวโน้มที่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับสินทรัพย์อ้างอิง

“ดังนั้น DR จึงเหมาะสำหรับการลงทุนในระยะยาวมากกว่าการเก็งกำไรในระยะสั้น นักลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูล และผลประกอบการของสินทรัพย์อ้างอิงนั้น ๆ รวมถึงสภาพตลาดและเศรษฐกิจของประเทศที่สินทรัพย์อ้างอิงนั้น ทำการซื้อขายอยู่ เพื่อเป็นข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทยกล่าว

สอดคล้องกับคำแนะนำของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่แนะนำว่า ผู้ลงทุนควรจะตรวจสอบราคาสินทรัพย์อ้างอิงในต่างประเทศ

และอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อประกอบการตัดสินใจในการซื้อหรือขาย DR แต่ละตัว เนื่องจากบางช่วงราคา DR อาจปรับเพิ่มขึ้น หรือลดลงมากกว่าปกติได้ และศึกษาหนังสือชี้ชวนและสอบถามข้อมูลให้เข้าใจ เพื่อประกอบการพิจารณาลงทุนด้วย