เทรนด์ “ทองขาลง” ถึงสิ้นปี ปัจจัยลบรุม-ติดดอยรอลุ้นยาว

ซื้อขายทอง

ผู้ค้าทองรายใหญ่ประสานเสียง “ราคาทองคำ” แกว่งตัวทิศทางขาลงถึงปลายปี สารพัดปัจจัยกดดัน “เฟดขึ้นดอกเบี้ย-ลดคิวที-ดอลลาร์แข็งค่า” เผย 5 เดือนหลัง ราคาทองขาลงต่อเนื่อง จากทำจุดสูงสุดเมื่อต้น มี.ค. 65 “YLG” จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ย ก.ย.นี้ ลุ้นทองรีบาวนด์เล็ก ๆ “แม่ทองสุก” มองภาพระยะสั้นแนวรับที่ 1,650-1,670 ดอลลาร์/ออนซ์ “บล.โกลเบล็ก” ชี้นักลงทุนติดดอยรอลุ้นยาวปีหน้า ฟาก “สมาคมค้าทองฯ” ระบุกำลังซื้อทรุดฉุดนำเข้าทองชะลอตัว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงล่าสุด (5 ก.ย.) ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลง 116 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ -6.34% จากราคาเปิด 1,828 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับ 1,712 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำในประเทศปรับตัวสูงขึ้น 950 บาทต่อบาททองคำ หรือเพิ่มขึ้น +3.31% จากราคาเปิดที่ 28,650 บาทต่อบาททองคำ สู่ระดับ 29,600 บาทต่อบาททองคำ

โดยจะเห็นได้ว่าราคาทองคำในประเทศปรับตัวขึ้นสวนทางกับราคาทองคำในตลาดโลก ซึ่งเป็นผลมาจากเงินบาทที่อ่อนค่าลงมากจากระดับ 33.20 บาทต่อดอลลาร์ สู่ระดับ 36.60 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ ราคาทองคำขึ้นไปทำระดับสูงสุดที่ 2,069.74 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 65 หลังจากรัสเซียบุกยูเครนเมื่อเดือน ก.พ. ทำให้ราคาทองในประเทศปรับตัวทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ เมื่อ 9 มี.ค. 65 ด้วยราคาขายออก 32,100 บาทต่อบาททองคำ และซื้อเข้าที่ราคา 32,000 บาทต่อบาททองคำ

เฟดขึ้น ดบ.กดราคาทองคำ

นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) กล่าวว่า หลังจากระดับสูงสุดของปีนี้ คือ 2,069.74 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งขึ้นไปทดสอบในวันที่ 8 มี.ค. 2565 อย่างไรก็ตาม ช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ราคาทองคำมีทิศทางไซด์เวย์ในทิศทางขาลง โดยลงไปจุดต่ำสุดที่ 1,681 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และช่วงนี้ราคาก็ไซด์เวย์ลงไปต่ำสุดในรอบ 2 เดือนที่บริเวณ 1,688 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ปัจจัยหลักที่กดดันราคาทองคำในช่วงนี้คือ การที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) บอกว่าจะเดินหน้าเพิ่มอัตราดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ บวกกับการทำ quantitative tightening (QT) คือการดูดเงินจากระบบกลับเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ รวมถึงในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ เฟดจะมีการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งถ้ามองตาม FedWatch Tool โอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ (21 ก.ย.) อยู่ที่ 0.75% ถ้าเป็นไปตามคาดการณ์ ราคาทองคำจะย่อตัวลงอีกเล็กน้อย และเมื่อจบการย่อตัวในรอบนี้เชื่อว่าทองคำน่าจะมีโอกาสรีบาวนด์ได้

โดยประเมินแนวรับไว้ที่ 1,688 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ถ้าหลุดแนวรับที่ 1,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์จะเริ่มน่ากังวล และแนวรับสุดท้ายที่มองไว้ถ้าหลุด 1,670 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สิ่งที่มองไว้ว่าราคาทองคำจะมีโอกาสรีบาวนด์อาจจะต้องเปลี่ยนมุมมอง

ลุ้นรีบาวนด์แต่ไปไม่ไกล

นางพวรรณ์กล่าวว่า แต่หากมีการรีบาวนด์ในรอบนี้ถึงแม้จะปรับตัวขึ้น แต่ก็คงขึ้นไปไม่ได้ไกล โดยมองแนวต้านแรกไว้ที่ 1,715 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ถัดไปที่ 1,725 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และ 1,735 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และแนวต้านสูงสุดน่าจะอยู่แถวบริเวณไม่เกิน 1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในปีนี้

ขณะที่กรณีหากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย มองว่าเฟดน่าจะมีเครื่องมือทางการเงินที่จะเข้ามาจัดการได้ ซึ่งหลายวาณิชธนกิจก็มองว่าในช่วงปลายปี หรือต้นปีหน้า หากทิศทางเศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อาจจะได้เห็นนโยบายของเฟดที่เปลี่ยนไปก็น่าจะทำให้ได้เห็นการรีบาวนด์ของราคาทองคำ

ราคาไซด์เวย์ยาวถึงสิ้นปี

ซีอีโอวายแอลจีกล่าวว่า คาดการณ์ราคาทองคำ ณ สิ้นปีนี้ น่าจะแกว่งตัวไซด์เวย์ในกรอบ 1,670-1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จนกว่านโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการทำ QT จะสิ้นสุดลง และกรณีพิพาทระหว่างจีนกับไต้หวันและสหรัฐ ถ้าไม่ได้ลุกลามบานปลายราคาทองคำก็น่าจะแกว่งตัวในกรอบที่ให้ไว้ไปจนถึงสิ้นปี ส่วนราคาทองคำในประเทศ ถึงแม้ว่าราคาทองคำต่างประเทศจะย่อลงมาเยอะ แต่ด้วยเงินบาทที่อ่อนค่ามาก ๆ ทำให้ราคาทองคำในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ สำหรับนักลงทุนที่ติดดอยทองคำอยู่ คงต้องรอจังหวะหลังเฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ยเดือนกันยายนนี้ หลังย่อตัวลงมีโอกาสรีบาวนด์ขึ้นได้ และสำหรับนักลงทุนที่หาจังหวะลงทุนในช่วงที่ทองคำขาลงช่วงนี้มองเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อ และรอจังหวะราคาทองคำรีบาวนด์เป็นโอกาสทำกำไร โดยราคาทองในประเทศมองว่าแนวรับอยู่ที่บริเวณ 29,400 บาทต่อบาททองคำ และแนวต้านที่ 31,500 บาทต่อบาททองคำ

ทองคำทิศทางขาลง

ขณะที่นายแพทย์กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท MTS GOLD แม่ทองสุก กล่าวว่า ราคาทองคำหลังจากหลุดระดับ 1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ลงมาในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ในภาพรวมราคาทองคำเป็นแนวโน้มทิศทางขาลง หมายความว่าภาพรวมของราคาทองคำ ถูกกดดันจากนโยบายการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เพื่อคุมเงินเฟ้อ

แต่ถามว่าราคาทองคำจะลงได้ลึกมากน้อยแค่ไหน แนวรับถัดไปในระยะสั้นประเมินไว้ที่ 1,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ถ้าหลุด 1,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จะมีแนวรับถัดไปที่ 1,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่คาดว่าอย่างไรก็ตาม ราคาทองคำน่าจะไม่หลุด 1,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในปีนี้

ภาวะกดดันราคาทองคำมี 2 เรื่องหลัก คือ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และเรื่องของการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ส่วนปัจจัยที่ยังหนุนราคาทองคำได้บ้าง คือเรื่องของภาวะเงินเฟ้อกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน

บาทอ่อนพยุงทองในประเทศ

นายแพทย์กฤชรัตน์กล่าวว่า เนื่องจากมีทั้งปัจจัยกดดันและปัจจัยหนุน จึงทำให้การย่อตัวลงของราคาทองคำในรอบนี้ก็คงจะลงไม่ลึกมากนัก ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาทองคำในประเทศมีการปรับตัวลงไม่มาก

“ในภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูงทั้งเรื่องของนโยบายของเฟด ภาพเศรษฐกิจ ทั้งการแกว่งตัวของค่าเงินดอลลาร์ รวมถึงผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ทำให้ภาพหลักจึงไม่ควรมองระยะไกลมากนัก เน้นการวิเคราะห์มองภาพระยะสั้นลง เพราะโอกาสในการผิดพลาดมีค่อนข้างมาก แนะนำให้มองภาพระยะสั้นเดือนต่อเดือนจะดีที่สุด” นายแพทย์กฤชรัตน์กล่าวและว่า

ราคาทองคำในช่วงเดือนกันยายนนี้น่าจะเคลื่อนตัวในกรอบทิศทางขาลง โดยมีแนวรับที่บริเวณ 1,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และแนวต้านที่บริเวณ 1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำในประเทศมีแนวรับที่บริเวณ 29,000 บาทต่อบาททองคำ และแนวต้านที่บริเวณ 29,800 บาทต่อบาททองคำ

นักลงทุนติดดอยปีนี้หมดหวัง

นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก กล่าวว่า ราคาทองคำมีการปรับตัวลงมาติดต่อกันรวม 5 เดือน และมีทิศทางที่ไซด์เวย์ขาลง และมีการปรับตัวขึ้นค่อนข้างจำกัดจากความกังวลเรื่องนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ที่กลับมามีโอกาสเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ในเดือนกันยายนนี้ยังคงต้องจับตาดูการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่อาจทำให้ราคาทองคำย่อลงได้อีก โดยมองกรอบราคาทองคำตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงสิ้นปีนี้ เป็นกรอบใหญ่ที่บริเวณ 1,680-1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนราคาทองคำในประเทศให้กรอบไว้ที่ 29,300-30,200 บาทต่อบาททองคำ

ขณะที่นักลงทุนที่ติดดอยราคาทองคำอยู่ ในปีนี้โอกาสที่ราคาจะปรับตัวกลับขึ้นไปจุดพีกคงจะยาก อาจจะต้องรอไปก่อน เนื่องจากข่าวลบต่อราคาทองคำยังคงมีอยู่ และยังไม่เห็นมุมที่จะสิ้นสุดในปีนี้ ทำให้ราคาทองคำยังคงไซด์เวย์ ยกเว้นประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวันเกิดลุกลามปะทุจนกลายเป็นสงครามในปีนี้ ก็อาจจะเป็นปัจจัยที่เข้ามาหนุนให้ราคาทองคำดีดตัวกลับขึ้นไปได้

สำหรับคำแนะนำลงทุนทองคำในภาวะนี้ หากเป็นนักลงทุนระยะกลางถึงยาวยังแนะนำรอจังหวะย่อใกล้บริเวณแนวรับแล้วค่อยเข้าซื้อ และรอจังหวะรีบาวนด์เพื่อขาย ซึ่งก็มองว่ายังมีโอกาสที่จะขายได้อยู่บ้าง สำหรับนักลงทุนที่เล่นรอบหรือนักลงทุนระยะสั้น ที่รอซื้อตอนราคาหลุดแนวรับแล้วเมื่อเห็นจังหวะรีบาวนด์กลับขึ้นมาก็มีโอกาสขายทำกำไร

สมาคมชี้กำลังซื้อทรุดนำเข้าลด

นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่า ราคาทองคำมีปัจจัยกดดันจากนโยบายเฟดที่ต้องการคุมเงินเฟ้อจากระดับ 8-9% ให้ลดลงไประดับ 2% ทำให้เฟดจากเดิมที่เคยส่งสัญญาณว่าจะชะลอปรับขึ้นดอกเบี้ย กลับมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง บวกกับดอลลาร์ที่แข็งค่าทำให้ราคาทองคำปรับตัวลง ทั้งนี้ ต้องจับตาหลังเฟดประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนนี้ โดยราคาทองคำจะย่อตัวลง และมีโอกาสปรับตัวขึ้น แต่มากน้อยแค่ไหน

โดยคาดการณ์ราคาทองคำในระยะสั้น หากไม่ผ่านแนวต้าน 1,725 ดอลลาร์ต่อออนซ์ มีโอกาสย่อลงอีก ส่วนราคาทองคำในประเทศ ผลจากเงินบาทที่อ่อนค่ามาก ทำให้ราคาทองคำปรับตัวลงน้อยกว่า โดยให้กรอบระยะสั้นไว้ที่ 29,500-30,000 บาทต่อบาททองคำ และแนะนำนักลงทุนสามารถทยอยซื้อทองคำเก็บไว้ได้ เพราะเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง มีโอกาสที่ทองคำจะปรับตัวขึ้น


นายจิตติกล่าวว่า แม้ว่าราคาทองคำจะเป็นช่วงขาลง แต่ปีนี้ประเทศไทยนำเข้าทองคำน้อยลง เนื่องจากกำลังซื้อของนักลงทุนลดลงค่อนข้างมาก ขณะที่เศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ทำให้ผู้ค้าทองเน้นไปที่การส่งออกมากกว่า โดย 8 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ส.ค. 65) ตัวเลขนำเข้าทองคำอยู่ที่ 108 ตัน และส่งออก 89 ตัน โดยปีนี้คาดว่านำเข้าจะน้อยกว่าส่งออก ต่างจากปี’64 ที่ทั้งปีนำเข้าอยู่ที่ 151 ตัน และส่งออกอยู่ที่ 70 ตัน