โอกาสและความท้าทายของ เอสเอ็มอี กับ Sustainable Finance

เอสเอ็มอี กับ Sustainable Finance
คอลัมน์ : Smart SMEs
ผู้เขียน : ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

จากการที่ภาครัฐ ภาคการเงิน และธุรกิจในทุกภาคส่วนได้เล็งเห็นความสำคัญเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรณรงค์เพื่อการแก้ปัญหาลดโลกร้อน พร้อมต่อยอดแนวความคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050

สิ่งสำคัญที่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในโลกยุคใหม่ต้องตระหนักในการวางกลยุทธ์โมเดลธุรกิจ คือการปรับเปลี่ยนองค์กรเป็นธุรกิจสีเขียว ที่เน้นการลงทุนแบบยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Sustainable Finance)

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs จำเป็นต้องปรับตัวเข้ากับเมกะเทรนด์ของโลกในการรับมือกับกฎระเบียบใหม่ต่าง ๆ หรือความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

SMEs จะปรับตัวอย่างไร สู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาองค์กรที่ยั่งยืน

การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเดิมมุ่งสู่ธุรกิจสีเขียว (Business Model Transition)

เจ้าของธุรกิจ SMEs ต้องเชื่อมต่อโมเดลการทำธุรกิจเดิมสู่การปรับเปลี่ยนองค์กรเป็นธุรกิจสีเขียว พร้อมปรับเปลี่ยน กลยุทธ์ในการผลิตและการบริการ รวมถึงการลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทานที่สร้างผลกระทบให้กับโลกและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

เสริมสร้างความรับรู้ให้กับกลุ่มผู้บริโภคที่หันมาใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การพัฒนายกระดับ SMEs มุ่งสู่ธุรกิจสีเขียวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจะทำให้ SMEs สามารถสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรได้

เศรษฐกิจหมุนเวียนและการบริหารจัดการของเสีย (Circular Economy and Waste Management)

เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรในการผลิตอย่างคุ้มค่า ในการสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ จากการนำทรัพยากรที่ใช้แล้วมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือผลิตเป็นสินค้ารูปแบบใหม่ เพื่อลดปริมาณขยะจากการนำกลับเข้ามาสู่วงจรการผลิตได้ และปล่อยของเสียออกสู่สภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด และเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

การลงทุนในการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก (Green Energy)

การใช้พลังงานทดแทนประเภทหมุนเวียนที่ใช้แล้วเกิดขึ้นใหม่ได้ตามธรรมชาติ ปราศจากมลพิษ เช่น การติดตั้งโซลาร์รูฟจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานให้กับธุรกิจในระยะยาว

อีกทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจากการใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอน และช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจในเรื่องการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและการเติบโตอย่างยั่งยืน

การเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance)

ภาคการเงินมีส่วนสำคัญที่จะเป็นฟันเฟืองในการสนับสนุนให้กับภาคธุรกิจต่าง ๆ บรรลุเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนองค์กรเป็นธุรกิจสีเขียว ที่เน้นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ในการออกผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อมของสถาบันการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจ

ทั้งในด้านสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ยพิเศษ เช่น สินเชื่อด้านความยั่งยืน สินเชื่อเพื่อธุรกิจสีเขียว สินเชื่อพลังงานทดแทน สินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม และสินเชื่อโซลาร์รูฟท็อป เป็นต้น เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ

พร้อมกำหนดมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยองค์กรจำเป็นต้องมีแผนกิจกรรมอย่างชัดเจน

ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามทิศทางขององค์กรขนาดใหญ่ที่มุ่งสู่องค์กรสีเขียว

ซึ่งมีการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน (Sustainability Supply Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ เพื่อเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและสร้างการแข่งขันในเวทีโลก

การจัดเตรียมข้อมูลและเปิดเผยข้อมูลด้านการเปลี่ยนองค์กรเป็นธุรกิจสีเขียว รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจ และเพิ่มทักษะของบุคลากรในองค์กรให้ตระหนักในการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม เพราะการปรับเปลี่ยน องค์กรในด้านต่าง ๆ นั้นจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ (Transition Cost) เกิดขึ้น

การสร้างการเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาองค์กรสีเขียวของผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs จะเป็นทางออกของการฟื้นตัวของธุรกิจอย่างยั่งยืนให้กับองค์กร

ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงต้องมีวิธีการและแนวทางดำเนินการที่พร้อมรับมือกับมาตรการและระเบียบต่าง ๆ ทั้งจากภายในประเทศและของทั่วโลก ในการผลักดันให้ธุรกิจใส่ใจสิ่งแวดล้อม

หากธุรกิจไม่เริ่มดำเนินการตั้งแต่บัดนี้ ในอนาคตอาจจะกลายเป็นข้อจำกัดทางการค้าในการทำธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศได้