ดอลลาร์แข็งค่า หลังธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75%

ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์แข็งค่า หลังจากธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เป็น 3% เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อที่ยังเพิ่มสูงขึ้น นักลงทุนยังคาดการณ์เฟดยังคงต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75%ในการประชุมครั้งหน้าในเดือน พ.ย. ขณะที่เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/9) ที่ระดับ 37.33/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (21/9) ที่ระดับ 37.14/37.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นหลังจากธนาคารกลาง Fed ตัดสินใจปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากระดับ 2.25 เป็น 3% หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาวันที่ 13 เดือนกันยายน ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นและสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ทำให้ทางธนาคารกลางตัดสินจัดดอกเบี้ยสูงถึง 0.75% เป็นครั้งที่ 3 โดยนักลงทุนส่วนมากยังคาดการณ์ว่ายังจะมีการปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก 0.75% ในการประชุมครั้งหน้าในต้นเดือนพฤศจิกายน

หลังจากคำอภิปรายของประธานเฟด นายเจอโรม พาวเวลล์ ที่ส่งสัญญาณในน้ำเสียงนกเหยี่ยวกล่าวถึงการที่จะนำเงินเฟ้อลงถึงระดับเป้าหมายที่ 2% นั้นเป็นเป้าหมายหลักของธนาคารและการชะลอตัวการปรับดอกเบี้ยก่อนควรนั้นจะทำให้ช่วงเวลาเงินเฟ้อที่สูงมากเกินไปนั้นยืดยาวและจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจมากกว่าการชะลอตัวระยะสั้นของเศรษฐกิจ

โดยหลังจากคำอภิปรายของนายพาวเวลล์ที่ทำให้นักลงทุนกังวลถึงมุมมองการปรับดอกเบี้ยในอนาคตของธนาคารกลาง อัตราการตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะ 2 ปีของสหรัฐ พุ่งขึ้นสูงกว่า 4.07% ซึ่งส่งแรงกดดันต่อสินทรัพย์เสี่ยงและสินทรัพย์ที่ไร้ผลตอบแทน เช่น ทอง และความแตกต่างของอัตราการตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐและประเทศอื่นสนับสนุนดอลลาร์ให้แข็งขึ้นมากกว่าเดิม

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.33-37.45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/9) ที่ระดับ 0.9812/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (21/9) ที่ระดับ 0.9923/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สกุลเงินยูโรอ่อนลงจาก 2 ปัจจัยหลัก

โดยที่ปัจจัยแรกมาจากการปรับดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางเฟด และหลังจากประธานาธิบดีของรัสเซียปูตินกล่าวถึงการขยายกองกำลังทัพ โดยเพิ่มการเกณฑ์ทหารจากกองกำลังสำรองและกล่าวเตือนชาติในตะวันตกถึงการสนับสนุนยูเครนในสงคราม ทำให้นักลงทุนกังวลถึงการเพิ่มระดับความรุนแรงในสงครามยูเครน ซึ่งอาจจะนำสู่สงครามในระดับที่กว้างกว่าแค่ยูเครนและรัสเซีย โดยส่งผลให้มีนักลงทุนจากยุโรปวิ่งเข้าซื้อดอลลาร์ที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเลยทำให้สกุลเงินยูโรอ่อนลง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9815-0.9907 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9881/0.9885 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/9) ที่ระดับ 144.36/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (21/9) ที่ระดับ 143.86/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่นแถลงการณ์ว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่เดิม โดยการตัดสินใจครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงนโยบายที่ตรงกันข้ามกับธนาคารประเทศอื่นที่กำลังปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังพบปัญหาเงินเฟ้อสูง

โดยหลังจากการตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 10 ปีก็ปรับตัวลงอยู่ที่ 0.225% ระดับต่ำสุดใน 3 อาทิตย์ โดยความแตกต่างระหว่างผลตอบแทนของพันธบัตรญี่ปุ่นและประเทศอื่น เช่น สหรัฐ สนับสนุนให้เงินเยนอ่อนค่าลงในช่วงเช้า แต่ในช่วงบ่ายธนาคารกลางญี่ปุ่นออกมาแถลงการณ์ว่าจะมีการเข้าแทรกแซงกับราคาเงินเยนในอนาคตจึงทำให้ราคาเงินเยนแข็งขึ้นมา ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 140.80-145.85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 142.28/142.30 เยน/ดอลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (22/09 6 โมงเย็นเวลาไทย), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (22/9), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน ก.ย. จากเอสแอนด์พี โกลบอล ของเยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ (23/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.4/-7.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.81/+1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ