สรรพสามิตจ่ายเงินอุดหนุนรถอีวีลอตแรก 500 คัน คาดค่ายรถเข้าร่วมอีก 2-3 แห่ง

รถอีวี

สรรพสามิตลุยจ่ายเงินอุดหนุนรถอีวีลอตแรก 500 คันในช่วงปลายเดือนนี้ และเตรียมจ่ายให้อีก 1,700 คัน หลังมีการจดทะเบียนแล้วเสร็จ คาดค่ายรถเข้าร่วมมาตรการอีก 2-3 แห่ง เตรียมลงนามเร็ว ๆ นี้

วันที่ 27 กันยายน 2565 นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณ 2,900 ล้านบาทเมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้กรมนำไปอุดหนุนผู้ซื้อรถอีวีตามนโยบายดังกล่าว ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างการรอการเบิกจ่ายเงินงบประมาณดังกล่าว คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ราวสัปดาห์หน้า

“หลังจากกรมได้รับเงินงบประมาณดังกล่าวแล้ว ก็จะดำเนินการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการทันที โดยขณะนี้มียอดที่รอการจ่ายเงินอุดหนุนจำนวนประมาณ 500 คัน ซึ่งเป็นรถที่มีการจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว และมีรถอีวีที่เตรียมจะจดทะเบียนอีกประมาณ 1,700 คัน เมื่อมีการจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ทางกรมก็จะดำเนินการจ่ายเงินอุดหนุนให้ทันที”

ทั้งนี้ ยอดจองรถอีวีในปัจจุบันยังอยู่ที่ประมาณกว่า 1 หมื่นคัน โดยส่วนใหญ่หรือกว่า 1 หมื่นคัน เป็นรถยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการกับภาครัฐ อย่างไรก็ดี จะเห็นว่ายอดจองรถอีวีดังกล่าวไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเหมือนกับช่วงแรกที่เปิดโครงการ หรือในช่วงมอเตอร์โชว์ แต่เชื่อว่ายอดจะเพิ่มขึ้น หลังจากที่มีค่ายรถยนต์อื่นเข้าร่วมมาตรการ
ซึ่งปัจจุบันมีค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 8 ค่าย แบ่งเป็นรถยนต์ 6 ค่าย และรถมอเตอร์ไซค์ 2 ค่าย คาดว่าเร็ว ๆ นี้ จะมีค่ายรถยนต์เข้าร่วมโครงการอีกประมาณ 2-3 ค่าย

นอกจากนี้ รัฐบาลมอบงบประมาณให้เราบริหารในโครงการสนับสนุนรถอีวีในปีแรก 3,000 ล้านบาท ฉะนั้น คาดว่างบประมาณในปีแรกเพียงพออยู่แล้ว ยกตัวอย่าง วันนี้ยอดจองรถประมาณ 1 หมื่นคัน เฉลี่ยงบต่อคันที่ 1.5 แสนบาท ก็ประมาณ 150 ล้านบาทเท่านั้น ถือว่ายังมีช่องทางขยายได้อีกมาก

อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ทางรัฐบาลก็ได้มอบหมายให้กรมกับสภาพัฒน์ไปหารือเกี่ยวกับงบประมาณในอีก 3 ปีถัดไป หรือนับตั้งแต่ปี 2566-2568 ซึ่งนโยบายเบื้องต้นให้ตั้งงบประมาณไว้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ เงื่อนไขการร่วมโครงการ มีดังนี้

1.กรณีรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท แบ่งเป็น สำหรับรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง จำนวนเงินอุดหนุน 7 หมื่นบาทต่อคัน ส่วนรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป จำนวนเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาทต่อคัน

2.กรณีรถยนต์กระบะประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศและมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป (เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศเท่านั้น) จำนวนเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาทต่อคัน

3.กรณีรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 1.5 แสนบาท จำนวนเงินอุดหนุน 1.8 หมื่นบาทต่อคัน

ทั้งนี้ ในส่วนผู้ขอรับสิทธิเพื่อขอรับเงินอุดหนุนตามมาตรการจะต้องดำเนินการ ต้องเป็นบุคคลตามประกาศกรมสรรพสามิตกำหนด เช่น ผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่มีโรงงานอุตสาหกรรม ผู้นำเข้าที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการและต้องเข้ามาทำข้อตกลงร่วมกับกรมสรรพสามิต เพื่อรับทราบและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ที่กรมสรรพสามิตกำหนด และยอมรับบทลงโทษหากไม่สามารถดำเนินการได้

โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องยื่นขอรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าของตนเองเป็นรายรุ่น เพื่อให้กรมสรรพสามิตพิจารณาโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำก่อนและหลังรับสิทธิ ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ เพื่อให้ราคาขายปลีกแนะนำสำหรับยานยนต์รุ่นดังกล่าวสะท้อนถึงส่วนลดต่าง ๆ ที่ภาครัฐมอบให้ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

รวมทั้งนำส่งรวบรวมเอกสารหลักฐานการจำหน่ายและการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า ให้กรมสรรพสามิตเป็นรายไตรมาส เพื่อให้กรมสรรพสามิตดำเนินการพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินอุดหนุนต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบกิจการไม่ดำเนินการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถจักรยานยนต์ แล้วแต่กรณี เพื่อชดเชยการนำเข้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด


ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตจะเรียกคืนเงินอุดหนุนดังกล่าวจากผู้ได้รับเงินอุดหนุนเป็นรายคันตามจำนวนที่ไม่สามารถดำเนินการผลิตชดเชยได้ พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี โดยไม่คิดทบต้น และจะบังคับตามหนังสือสัญญาค้ำประกันโดยธนาคารที่วางไว้