สนง.สลากฯ จ่อชงคลัง เคาะหวยรูปแบบใหม่ “เลข 3 หลัก” ราคา 50 บาท

ลอตเตอรี่ หวย

สนง.สลากฯ สรุปการรับฟังความคิดเห็นและศึกษาผลกระทบสลาก L6 และ N3 เตรียมเสนอกระทรวงการคลังเพื่อชง ครม. กำหนดประเภท-รูปแบบสลากต่อไป เผยเลข 3 หลัก ราคา 50 บาท รายได้จากยอดขาย 60% จะกันไว้จ่ายรางวัล พร้อมลุ้นรางวัลแจ็กพอต

วันที่ 29 กันยายน 2565 นายธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ในฐานะประธานกรรมการศึกษาผลิตภัณฑ์และเกมสลากรูปแบบอื่น ๆ เปิดเผยว่า ความคืบหน้าเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและศึกษาผลกระทบทางสังคมเกี่ยวกับการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล แบบ L6 และ N3 ว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และศึกษาผลกระทบทางสังคมเกี่ยวกับการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ประจำปี 2565 เรียบร้อยแล้ว

และสำนักงานได้ดำเนินการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สรุปได้ว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่วนใหญ่เห็นด้วยในประเภทและรูปแบบของสลากกินแบ่งรัฐบาลทั้งสองรูปแบบ

ทั้งนี้ คณะกรรมการสลากได้เห็นชอบความคิดเห็นดังกล่าว ซึ่งขั้นตอนต่อไปสำนักงานสลากฯจะทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากประจำปี 2565 เพื่อพิจารณานำเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

สำหรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.สลากรูปแบบ L6 เป็นเลข 6 หลัก ราคา 80 บาท ไม่สะสมเงินรางวัล เป็นรูปแบบใบ 2.สลากรูปแบบ L6 เป็นเลข 6 หลัก ราคา 80 บาท ไม่สะสมเงินรางวัล เป็นรูปแบบสลากดิจิทัล และ 3.N3 เป็นรูปสะสมรางวัล ราคา 50 บาท โดยมีทั้งรางวัล 3 ตัวตรง, 3 ตัวโต๊ด, รางวัล 2 ตัว, และรางวัลแจ็กพอต ซึ่งรายได้จากยอดขาย 60% จะกันไว้จ่ายรางวัลตามกฎหมาย ส่วนรายละเอียดเรื่องการรับตัวแทนจำหน่ายอย่างไรนั้น จะต้องรอหารือร่วมกันอีกครั้ง

“ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่วนใหญ่เห็นว่าการออกสลากผลิตภัณฑ์ใหม่แบบดิจิทัลจะช่วยแก้ปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคา ในขณะเดียวกันยังคงมีความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบเชิงความห่วงใยอยู่บ้าง แต่ก็ได้มีแนวทางและมาตรการในการลดความกังวลใจดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการควบคุมและป้องกันการซื้อสลาก
กินแบ่งรัฐบาลของเด็กและเยาวชน รวมถึงการจำกัดปริมาณการซื้อสลากให้เหมาะสมสำหรับผู้ซื้อบางกลุ่มตลอดจนมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอันเกิดจากการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต”