เศรษฐกิจถดถอยจะมาเร็วขึ้นจริงไหม รับมืออย่างไร ?

เศรษฐกิจถดถอยจะมาเร็วขึ้นจริงไหม รับมืออย่างไร ? กับ “ณัฐชาต เมฆมาสิน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด

วันที่ 3 ตุลาคม 2565 เมื่อความกังวลในเรื่องของเศรษฐกิจถดถอยยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และเฟดที่ยืนยันจะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัด นี่จะกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยมาเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์หรือไม่ เรามีคำตอบกับ “ณัฐชาต เมฆมาสิน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด

Q : เฟดมีการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดก็มีการส่งสัญญาณยืนยันว่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไป เรามองยังไงบ้างว่าเศรษฐกิจถดถอยจะมาเร็วกว่าที่คาดไหม หรือว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป

ต้องบอกว่าเป็นปัญหาที่ต้องบอกว่าเป็นปัญหาหนักอกของใครหลายคนตอนนี้ เพราะว่าการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาเราคิดว่าเราผ่านจุดยอดสูงสุดของความกลัวในเรื่องของเงินเฟ้อไปแล้ว แต่มันก็มีจุดยอดของความกังวลสูงสุดอีกอันหนึ่งที่รออยู่ ก็คือเรื่องของเศรษฐกิจถดถอยนั่นเอง ซึ่งคำถามก็คือว่าจุดยอดสองจุดนี้มันมีระยะห่างมากน้อยขนาดไหน ในอดีตสมัย

lehman crisis ปี 2008 เราจะเห็นระยะห่างที่ใกล้กันมาก คือผ่านช่วงจุดยอดสูงสุดเงินเฟ้อไม่ทันไร lehman ก็ล้มทันทีเลย แต่ภาพในปัจจุบันต้องบอกว่าสถานการณ์ไม่ได้เหมือนกันซะทีเดียว ถ้าเราติดตามในเรื่องส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ เอาของตัวเลขในฝั่งของสหรัฐก็ได้ เราจะยังเห็นว่าภาพของเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาตอนนี้ยังไม่ได้มีสัญญาณอะไรที่น่าเป็นกังวลมากนัก

ตัวเลขอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ยังคงอยู่ต่ำเพียงแค่ 3% กว่าเท่านั้นเอง ย้อนไปดูวิกฤตเศรษฐกิจของอเมริกาในอดีต อัตราการว่างงานต้องทะลุ 5% ขึ้นไปแล้ว ณ วันนี้ 3% กว่ายังห่างไกลอยู่ ไปดูในส่วนของตัวแปรทางด้านภาคการผลิตด้วย ตัวแปรชี้นำอันหนึ่งที่สำคัญก็คือ PMI ภาคการผลิตดัชนี PMI ของโลก (Global PMI) วันนี้ยังอยู่ในโซนขยายตัวได้อยู่ ในโซน 50 จุดกว่า ๆ ยังเป็นโซนที่ขยายตัวได้ เพราะฉะนั้นสัญญาณของภาคการผลิตที่เป็นเซ็กเตอร์ชี้นำก็ยังไม่ได้มีอะไรที่น่าเป็นกังวลมากนัก อันนี้ก็เป็นตัวแปรทางด้านเศรษฐกิจที่อาจจะบอกเราได้ว่า ความกังวลในเรื่องของเศรษฐกิจถดถอยอาจจะยังไม่ได้รุนแรงมากนักในช่วงนี้ เมื่อมาประกอบกับในฝั่งของการกระทำของธนาคารกลาง

ซึ่งในขาของอัตราดอกเบี้ยเราก็จะเห็นว่าเขาก็ยังมีการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ว่าในอีกเครื่องไม้เครื่องมือหนึ่ง ซึ่งเขาเคยใช้เครื่องมือนี้เป็นตัวแปรสำคัญในการที่จะกำหนดนโยบายในเรื่องของสภาพคล่อง ก็คือเรื่องของการบริหาร Balance Sheet หรือว่างบดุลของเขา ปรากฏว่าปีนี้สิ่งที่แต่เดิมทีหลายคนกังวลว่าเฟดจะมีการลดขนาดงบดุลในระดับที่รุนแรง แต่พอเอาเข้าจริงแล้วนับตั้งแต่ที่เขามีการทำโครงการ QT ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา เราจะเห็นว่าเฟดมีการลดขนาดงบดุลไปน้อยมาก ๆ คือทำได้ไม่ตามเป้าที่วางเอาไว้

เพราะฉะนั้น ตรงนี้เราเห็นแล้วแหละว่าจริง ๆ แล้วเบื้องลึกท่าทีของเฟดเองเขาก็คงยังไม่ได้อยากช็อกตลาด หรือว่าช็อกระบบเศรษฐกิจเองมากนัก พยายามที่จะยั้งหรือว่าประคองเอาไว้ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นในส่วนของการดำเนินนโยบาย ผมก็เลยมองว่ามันยังไม่ได้ถึงขั้นที่รุนแรงแบบสุดโต่ง คือถ้ามันแบบน่ากังวลมาก ๆ เฟดต้องมีการเร่งลดงบดุลในขนาดที่มากกว่านี้แล้ว

กล่าวโดยสรุปว่า ทั้งตัวแปรทางด้านเศรษฐกิจเอง ทั้งตัวแปรทางด้านการบริหารนโยบายของธนาคารกลางต่าง ๆ ผมเลยมองว่าเรายังไม่ได้ก้าวไปสู่จุดสูงสุดของความกังวลในเรื่องของเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งถ้าดูจาก Outlook บทวิเคราะห์ของเราไตรมาส 4 ที่เพิ่งออกไป เราก็ค่อนข้างพูดชัดเจนว่า ณ เวลานี้และอาจจะไปถึงช่วงไตรมาส 4 รวมไปถึงไตรมาส 1 ปีหน้า ผมคิดว่าเราอยู่ระหว่างทาง เป็นช่วงระหว่างกลางระหว่างจุดยอดความกลัวเงินเฟ้อกับจุดยอดความกังวลในเรื่องของเศรษฐกิจถดถอย

ถ้าจะไปในส่วนของความกังวลเรื่องของเศรษฐกิจถดถอยแบบเต็มที่ ผมคิดว่ามันอาจจะเกิดขึ้นในช่วงของสักประมาณไตรมาส 2 ไตรมาส 3 ปีหน้า เพราะฉะนั้น ปกติราคาหุ้นก็มักจะสะท้อนก่อน 3-6 เดือนอยู่แล้ว มันก็อาจจะสะท้อนในช่วงของสักประมาณไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 ปีหน้า

Q : นักลงทุนหลายคนที่กังวลว่า แล้วถ้าสมมติว่ามันเกิดเร็วกว่าที่คิด เกิดอะไรกะทันหันขึ้นมา มันจะกระทบต่อตลาดหุ้น หรือว่าการลงทุนอย่างไรบ้างคะ ถ้าเรามองไปในอนาคต

อันนี้ก็คือเป็นความเสี่ยง ถ้าสมมติว่าสิ่งที่เราประเมินไว้มันมาเร็วกว่าที่คาด โดยปกติแล้วเราก็ต้องดูว่ามันเป็นสิ่งที่ตลาด Price In ไปแล้วหรือยัง ซึ่งถ้าถาม ณ วันนี้ถ้าเราไปดู recession probability หรือความน่าจะเป็นของการเกิดเศรษฐกิจถดถอยที่ตลาดรับรู้อยู่ ณ ขณะนี้ เขาบอกเพียงแค่ประมาณความน่าจะเป็น 50% เท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้ามันเข้ามาเร็วกว่าคาด แน่นอนนักลงทุนก็จะยิ่งมีการเร่ง Price In

ตัวประเด็นเศรษฐกิจถดถอยนี้ ซึ่งในอดีตก็ตามคาด ก็คือเวลามีความเสี่ยงของ downside risk ในเรื่องของเศรษฐกิจมากขึ้น ตัวสินทรัพย์เสี่ยงต่าง ๆ ทั้งหลาย ซึ่งหุ้นก็เป็นหลักใหญ่ในนั้น แน่นอนว่ามันจะต้องมีการ Price In มีการปรับลดลงไปก่อน เพราะว่าคนก็เล็งเห็นข้างหน้าแล้วว่าถ้าเศรษฐกิจถดถอยมา อย่างไรก็ตาม กำไรของบริษัทจดทะเบียนทั้งหลายก็คงจะต้องมีการถูกปรับลดลงแน่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นในกลุ่มที่เป็นพวกกลุ่มวัฏจักร ที่มันล้อไปกับวงจรเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจมีความเสี่ยงด้านล่างมากขึ้น หุ้นกลุ่มวัฏจักรเหล่านี้ก็จะโดนผลกระทบไปก่อน

แต่ในทางกลับกัน มันก็อาจจะพอมีหลุมหลบภัยได้บ้างในฝั่งของหุ้นที่เป็น Defensive ทั้งหลาย ที่ไม่ว่าจะเกิดเศรษฐกิจขยายตัวหรือหดตัวก็ต้องกินต้องใช้ เพราะฉะนั้น กลุ่ม Defensive เหล่านี้ก็อาจจะเป็นแหล่งพักเงินได้ในระยะสั้นเหมือนกัน ถ้าพูดถึงในแง่ของ Asset Allocation บ้าง การกระจายสินทรัพย์ถ้าสมมติว่าเศรษฐกิจถดถอยเข้ามาเร็วกว่าคาดจริง ตราสารอันหนึ่งที่อาจจะน่าสนใจ ก็คือในส่วนของพันธบัตรนั่นเอง พันธบัตรที่เราเห็นผลตอบแทนทุกวันนี้ขึ้นแทบทุกวัน 10 ปีสหรัฐตอนนี้ขึ้นไปเกือบ 4% แล้ว

ผมคิดว่าถ้าเรายึดสถิติในอดีตที่เวลามีเรื่องของเศรษฐกิจถดถอย เดี๋ยวเราจะเริ่มได้เห็นการโยกย้ายเม็ดเงินออกจากตลาดหุ้นเข้าไปสู่ตัวของตลาดตราสารหนี้มากขึ้น ซึ่งเมื่อนั้นผลตอบแทนก็จะค่อย ๆ ปรับลดลงมา ซึ่งผลตอบแทนที่ลดลงมาก็หมายถึงราคาของพันธบัตรที่มันสูงขึ้นนั่นเอง เพราะฉะนั้น นักลงทุนก็อาจจะใช้กลยุทธ์นี้

ถ้าเริ่มมีสัญญาณตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ เริ่มส่งสัญญาณในเรื่องของเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้นเท่าไหร่ ก็อาจจะเป็นจังหวะที่ดีที่เราจะโยกเงินออกจากหุ้นไปพักไว้ในตัวตราสารหนี้ หรือพันธบัตรไว้ก่อนก็ได้ครับ