ผู้ว่าธปท.ย้ำพร้อมปรับดอกเบี้ย-ประชุมนัดพิเศษ หากเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งเร็ว

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ย้ำพร้อมปรับนโยบายการเงินหากสถานการณ์เปลี่ยน ชี้หัวใจสำคัญที่ต้องติดตามใกล้ชิด “เงินเฟ้อพื้นฐาน” หากเร่งเร็วและแรงทำเครื่องยนต์เฟ้อติด พร้อม take action นัดประชุมพิเศษได้ คาดเงินเฟ้อเข้ากรอบกลางปี 66 หนุนแบงก์ส่งผ่านดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป-คงมาตรการทางการเงินดูแลกลุ่มเปราะบาง

วันที่ 29 กันยายน 2565 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ยังคงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป (gradual and measure) เพราะสถานการณ์วันนี้บริบทไทยไม่เหมือนต่างประเทศ ไม่เหมือนกับสหรัฐ แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนถ้าจำเป็นต้องหยุดขึ้นดอกเบี้ยก็พร้อมหยุด แต่หากจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.50% หรือมากกว่านั้น ก็พร้อมจะทำ หากตัวเลขเศรษฐกิจไม่ได้เป็นไปตามคาดการณ์

โดยหัวใจหลักของการปรับนโยบายการเงิน หากสถานการณ์เปลี่ยน หัวใจหลักที่ ธปท.ดูเป็นพิเศษคือ เงินเฟ้อพื้นฐาน เพราะเป็นตัวสะท้อนของโอกาสของเครื่องยนต์เงินเฟ้อที่อาจติดได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเห็นอัตราเร่งขึ้น 4 เดือนติดก่อนหน้า และเดือนล่าสุดเพิ่มขึ้น 0.1% ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ 0.5% ซึ่งตรงนี้ ธปท.จับตาดูพิเศษที่เป็นหัวใจสำคัญ

ขณะที่ภาพเงินเฟ้อโดยรวม ธปท.คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้จะอยู่ที่ 6.3% และปีหน้าจะต่ำกว่า 3% และคาดว่าจะถึงจุดสูงสุด (พีก) ในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ และทยอยปรับลดลงในไตรมาสที่ 4 และเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะพีกไตรมาส 4 ปีนี้ และทยอยลดลงในไตรมาสที่ 1/2566 โดยเงินเฟ้อจะเข้ากรอบเป้าหมาย 1-3% ภายในกลางปี 2566

ดังนั้น ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. ธปท.ไม่ได้มีโจทย์ว่า ท้ายที่สุดอัตราดอกเบี้ยต้องไปอยู่ที่อัตราใด แต่โจทย์ของ ธปท.คือ ทำตามเป้าหมายของเราได้ คือให้เงินเฟ้อกลับเข้ามาอยู่ในกรอบของ ธปท.ได้
“หากสถานการณ์ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ ก็เป็นปัจจัยที่ ธปท.จะต้องมาปรับเงื่อนไขขนาดและเวลาของนโยบายการเงินหรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาตอนนี้ยังไม่พบว่าโอกาสที่เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด แต่หากเงินเฟ้อพื้นฐานมาเร็วและแรงก็เป็นสิ่งที่คณะกรรมการจะต้องเข้าไป Take action ดังนั้น โอกาสที่จะมีความจำเป็นต้องมีการประชุมนัดพิเศษก็สามารถทำได้ เพราะก่อนหน้าเราได้ปรับตารางการประชุมลดลงเหลือ 6 ครั้ง ซึ่งหากมี Need Take action ก็ทำได้”

สำหรับการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยไปสู่สถาบันการเงิน มองว่า ธปท.ต้องการดำเนินโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้น ต้องการเห็นการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ย เพราะหากไม่สามารถส่งผ่านก็ไม่เกิด normalization ซึ่งการส่งผ่านก็เป็นเรื่องปกติ แต่อยากเห็นค่อยเป็นค่อยไป

ส่วนความกังวลต่อความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มเปราะบางนั้น จะเห็นว่าเป็นเหตุผลให้การดำเนินนโยบายการเงินต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน คนจะมีรายได้กลับมา ทำให้ความสามารถชำระหนี้ดีขึ้น แต่หากขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไป ภาระหนี้ของคนอาจสูงขึ้น ดังนั้น การฟื้นตัวเศรษฐกิจก็อาจไม่มา และอาจสะดุดได้ ทำให้ไม่เกิด Smooth take off ตามที่ ธปท.ต้องการ

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเรามีกลุ่มเปราะบาง เช่น ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และครัวเรือนรายได้ต่ำที่มีหนี้สูง ทำให้ที่ผ่านมา ธปท.ยังคงมาตรการทางการเงินที่ช่วยตรงจุด เช่น มาตรการ 3 ก.ย. 64 และล่าสุด มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อดูแลลูกหนี้ ซึ่งล่าสุดผลตอบรับค่อนข้างดี มีลูกหนี้เข้าร่วมลงทะเบียนสะสมแล้ว 2.6 หมื่นคน

“ที่เสียงออกมา 7 ต่อ 0 ไม่ได้บอกว่าแต่ละคนไม่ได้คิดเยอะ แต่คณะกรรมการคิดหนักก่อนตัดสินใจ ก่อนโหวตออกมา ดังนั้น ข้อมูลเปลี่ยนได้ กำลังบอกว่า ไม่ควรไปตีความว่า ครั้งนี้ที่ 7 ต่อ 0 ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีโอกาสว่าครั้งถัดไปจะเปลี่ยน เพราะหากสถานการณ์เปลี่ยน ข้อมูลเปลี่ยน คนก็มาชั่งน้ำหนัก ก็อาจเปลี่ยนได้”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจ ธปท.มั่นใจว่าการฟื้นตัวต่อเนื่อง บวกกับท่องเที่ยวที่กำลังมา ส่งผลให้ปรับตัวเลขท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 9 ล้านคน จากเดิมอยู่ที่ 6 ล้านคน ซึ่งจะเป็นแรงส่งสำคัญทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 3.3% และปีหน้าอยู่ที่ 3.8% และการบริโภคฟื้นตัวได้ดี โดยไตรมาสที่ 1/2565 อยู่ที่ 3.5% และเพิ่มขึ้นเป็น 6.9% ในไตรมาสที่ 2 และทั้งปีจะอยู่ที่ 5% ซึ่งเป็นผลจากการท่องเที่ยวฟื้นตัว ทำให้รายได้กลับมา และทิศทางการท่องเที่ยวปีหน้าน่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง

“ภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ก็เป็นเหตุผลทำให้ กนง.ต้องปรับจีดีพีปีหน้าลดลง จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่โดยพื้นฐาน เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ดีในปีหน้า ต่างกับประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นแบบนั้น ดังนั้น ปัจจัยสำคัญจะอยู่ที่มุมมองเงินเฟ้อ โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐาน” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว