ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ท่ามกลางความกังวลการประชุมฉุกเฉินของเฟด

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ท่ามกลางความกังวลการประชุมฉุกเฉินของเฟด ส่วนปัจจัยในประเทศ กนง.ยันเศรษฐกิจจะกลับคืนภาวะปกติภายปีหน้า จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่เงินเฟ้อยังเป็นปัญหาจากราคาพลังงานและอาหารสด โดยเฉพาะราคาอาหารในห้างสรรพสินค้าที่ปรับขึ้นไปแล้วลดลงยาก

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/10) ที่ระดับ 37.85/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/9) ที่ระดับ 37.77/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐ ออกมาสูงกว่าคาด

ประกอบกับถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดที่ยังส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยสูงและแรงต่อเนื่อง ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผย ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.9% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบรายปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.7% จากระดับ 4.7% ในเดือนกรกฎาคม

นอกจากนี้เว็บไซต์ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า คณะผู้ว่าการเฟดจะจัดการประชุมแบบปิด Closed Meeting) ในเวลา 11.30 น. ของวันนี้ตามเวลาท้องถิ่น หรือประมาณ 22.30 น.ตามเวลาไทย โดยเป็นการประชุมที่จัดขึ้นแบบเร่งด่วน และคาดว่าจะพิจารณาทบทวนและตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าและอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (Advance and Discount Rate)

ในขณะเดียวกัน สหรัฐได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่อรัสเซีย หลังจากรัสเซียประกาศผนวกดินแดน 4 แคว้นของยูเครน โดยสหรัฐมุ่งเป้าคว่ำบาตรประชาชนและบริษัทจำนวนหลาย 100 ราย ซึ่งรวมถึงบุคคลในกองทัพและภาคอุตสาหกรรม และสมาชิกสภานิติบัญญัติของรัสเซีย

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มั่นใจว่าภาวะเศรษฐกิจจะกลับสู่ปกติภายในปีหน้าจากการฟื้นตัวด้านท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 21 ล้านคน โดยเป็นการฟื้นตัวแบบ K Shape แต่มีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อจากราคาพลังงาน และอาหารสด โดยเฉพาะราคาอาหารในห้างสรรพสินค้าที่ปรับขึ้นไปแล้วลดลงมายาก

อย่างไรก็ตามคาดว่าเงินเฟ้อ จะอยู่ระดับสูงสุดในไตรมาส 3/65 และกลับเข้าสู่ระดับเป้าหมายภายในปี 66 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.84-38.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 38.06/08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/10) ที่ระดับ 0.9824/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/9) ที่ระดับ 0.9838/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พุ่งแตะ 10% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากระดับ 9.1% ในเดือนสิงหาคม ซึ่งสูงกว่าระดับคาดการณ์เฉลี่ยในผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ระดับ 9.7% และสูงกว่าระดับคาดการณ์ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 และดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาพลังงานและอาหาร พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.8% ในเดือนกันยายน

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโร เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9752-0.9833 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9783/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/10) ที่ระดับ 144.78/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (28/9) ที่ระดับ 144.28/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายชูนิชิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ญี่ปุ่นพร้อมดำเนินการ “อย่างเด็ดขาด” ในตลาดปริวรรตเงินตรา หากค่าเงินเยนยังคงผันผวนรุนแรงต่อเนื่อง นับเป็นการส่งสัญญาณเตือนนักลงทุนต่อการเข้าแทรกแซงค่าเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นในอนาคต ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 144.50-145.31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 145.07/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ข้อมูลการจ้างงาน ภาคเอกชน ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือน ก.ย. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน ส.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -6.75/-6.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.4/-3.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ