เฟด กระหน่ำขึ้นดอกเบี้ย เสี่ยงทำ “เอเชีย” วิกฤต ?

เฟด ขึ้นดอกเบี้ย
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

นับตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณชัดว่าทิศทางดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้นโดยตลอด เพื่อควบคุมเงินเฟ้อและซ้ำด้วยการขึ้นดอกเบี้ยต่อครั้งในอัตรา “สูงผิดปกติ” 0.75% ติดต่อกัน ทำให้เกิดเสียงแสดงความกังวลว่าอาจเป็นสาเหตุเกิดวิกฤตการเงินในเอเชียและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เพราะค่าเงินของประเทศเหล่านี้จะถูกแรงกดดันจากค่าดอลลาร์ที่แข็งขึ้น

การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอย่างดุเดือด ทำให้บางคนหวนนึกถึงประวัติศาสตร์วิกฤตการเงินในเอเชียเมื่อปี 1997 หรือที่เรียกว่า “ต้มยำกุ้ง” เพราะครั้งสุดท้ายที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงในทศวรรษ 1990 ทำให้เงินทุนไหลออกจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เข้าไปสหรัฐ ค่าเงินบาทไทยและค่าเงินประเทศเอเชียอื่น ๆ ล่มสลาย ก่อให้เกิดวิกฤตการเงินเอเชียและสุดท้ายตลาดหุ้นดิ่งเหว

อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้นักวิเคราะห์บางคนกลับมองว่า ฤทธิ์ของดอกเบี้ยเฟดไม่น่าจะก่อวิกฤตการเงินรอบใหม่ให้กับเอเชีย เพราะว่าหลังจากผ่านไป 25 ปี พื้นฐานตลาดประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียได้พัฒนาสู่ความมีวุฒิภาวะมากขึ้น มีสุขภาพดีขึ้น และอยู่ในสถานะที่ดีกว่าเดิมในการทนทานต่อแรงกดดันจากอัตราแลกเปลี่ยน

“ตัน เต็ก เหล็ง” ผู้อำนวยการบริหารยูบีเอส โกลบอลเวลท์ เอเชีย-แปซิฟิก ระบุว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของเฟดอาจทำให้หลายคนหวนนึกถึงปี 1997 ที่ทำให้เงินทุนไหลออกจากเอเชีย แต่ตนคิดว่าครั้งนี้จะต่างออกไป เนื่องจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนของเอเชียมีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์มากกว่าช่วงปี 1997

ขณะเดียวกันในแง่การถือครองสินทรัพย์ท้องถิ่นของต่างชาติในเอเชียมีไม่มาก ดังนั้นจึงไม่คิดว่าจะเกิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนล่มสลาย การไหลออกใด ๆ หากจะมีก็จะสร้างผลกระทบค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม มีค่าเงินบางประเทศเช่นเปโซของฟิลิปปินส์ค่อนข้างเปราะบาง เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดอ่อนแอ

หลุยส์ คูอิส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอสแอนด์พี โกลบอล เรตติ้ง เอเชีย-แปซิฟิกชี้ว่า แรงกดดันต่อค่าเงินเอเชียอาจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดการคาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงครึ่งแรกของปี 2023 อย่างไรก็ตาม ไม่คิดว่าจะเกิดวิกฤตการเงินเอเชียอีกรอบ

“โชคดีที่นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของตลาดเกิดใหม่เอเชียตอนนี้แข็งแกร่งขึ้น และบรรดาผู้วางนโยบายก็มีความพร้อมมากกว่าเดิม บรรดาธนาคารกลางมีความยืดหยุ่นด้านอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น พวกเขาปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนดูดซับแรงกดดันภายนอก แทนที่จะอุ้มค่าเงินโดยขายทุนสำรองออกมา” คูอิสกล่าวและว่า ช่วงไม่กี่ปีมานี้รัฐบาลเอเชียยังดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างระมัดระวังมากกว่าปี 1997

มานิชิ เรย์ชอดูริ นักกลยุทธ์หุ้นเอเชียของ “บีเอ็นพี พาริบาส์” เห็นว่าสภาวการณ์ปัจจุบันในเอเชียไม่สามารถเทียบได้กับวิกฤตเอเชียปี 1997 เพราะตอนนี้ส่วนใหญ่มีงบดุลที่แข็งแรง มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง

ส่วน “เบิร์ต ฮอฟแมน” ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า บางประเทศในเอเชียดำเนินนโยบายดุลชำระเงินเกินดุลด้วยซ้ำไป และทุนสำรองระหว่างประเทศดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นผลจากความพยายามร่วมกันในระดับพหุภาคี เช่น “ความริเริ่มเชียงใหม่” เมื่อปี 2010 ซึ่งเป็นกลไกช่วยเหลือทางการเงินระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกันเอง และบวกอีก 3 ประเทศ เป็นมาตรการเพิ่มเติมจากความช่วยเหลือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

วิษณุ วราธัน หัวหน้าด้านกลยุทธ์มิซูโฮแบงก์ ระบุว่า ความปั่นป่วนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ยังคงมีนัยสำคัญต่อตลาดเอเชีย และมีแนวโน้มจะสร้างความกังวลในรูปแบบคล้ายกับปี 2013 เมื่อตลาดมีปฏิกิริยารุนแรงต่อความพยายามของเฟดที่จะลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณลง ด้วยการลดซื้อพันธบัตร มีผลให้เกิดการเทขายในตลาดหุ้น การตื่นตกใจว่าอาจเกิดวิกฤตการเงินรอบใหม่และอัตราแลกเปลี่ยน “ล่มสลาย” ดูจะเกินไปหน่อย แต่ถึงอย่างนั้นภัยคุกคามจากความปั่นป่วนของอัตราแลกเปลี่ยนยังมีอยู่ จึงไม่สามารถเพิกเฉยโดยไม่ระมัดระวัง