กอบศักดิ์ยกบทเรียนญี่ปุ่นแทรกแซงค่าเงิน สูญ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ในพริบตา

เงินเยน
REUTERS/Thomas White/Illustration/File Photo

ดร.กอบศักดิ์ยกบทเรียนทางการญี่ปุ่นแทรกแซงค่าเงิน ทำสูญ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ในพริบตา สุดท้ายแก้ปัญหาเงินเยนอ่อนค่าไม่ได้ แถมเปิดช่องให้นักเก็งกำไรเข้าหาประโยชน์ แนะไทยตุนเงินสำรองไว้รับมือเศรษฐกิจปีหน้าดีกว่า

วันที่ 6 ตุลาคม 2565 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์เฟซบุ๊ก “Dr.KOB” (https://www.facebook.com/drkobsak) ระบุว่า บทเรียนที่ดีสำหรับไทยในยุคดอลลาร์แข็ง หลังญี่ปุ่นยอมอดทนให้ค่าเงินของตนอ่อนค่าต่อเนื่องจาก 103 เยน/ดอลลาร์ เมื่อต้นปี 2021 มาที่ 145 เยน/ดอลลาร์ หรืออ่อนลงประมาณ 30%

สุดท้ายทางการญี่ปุ่นก็อดใจไม่ได้ ตัดสินใจเข้าแทรกแซงตลาดค่าเงินเยนเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี จนกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ใช้เงินไปทั้งหมดประมาณ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 7.5 แสนล้านบาท

“หลายคนอยากรู้ว่า ผลเป็นอย่างไร น่าเลียนแบบไหม เงิน 7-8 แสนล้านบาทที่ใช้ไปนั้น ผลก็คือช่วยซื้อเวลาให้ญี่ปุ่นได้เพียง 2 วัน ทันทีที่เข้าแทรกแซง ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นจาก 146 เยน/ดอลลาร์ มาที่ 140 เยน/ดอลลาร์ แต่เพียง 5 ชั่วโมงให้หลัง ค่าเงินเยนก็เริ่มอ่อนค่าลงอีกครั้ง และในอีก 3 ชั่วโมงต่อมา กลับมาที่ 142 เยน/ดอลลาร์ หลังจากนั้น ใน 2 วันให้หลัง ค่าเงินเยนก็กลับไปที่ 144.75 เยน/ดอลลาร์ เท่ากับว่า เงิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ได้สลายหายไป ละลายไปในแม่น้ำ สิ่งที่ได้มาก็คือ ช่วยผู้นำเข้าที่ลำบากเพราะค่าเงินเยนอ่อน ให้ออกตัวได้ในช่วงสั้น ๆ แต่ช่วงนาทีทองดังกล่าว ก็ได้เปิดโอกาสให้นักเก็งกำไรสามารถเข้าเก็งกำไรได้ง่าย ๆ”

ดร.กอบศักดิ์ชี้ว่า จึงเป็นบทเรียนให้ประเทศอื่น ๆ รวมถึงไทย ให้ตระหนักว่า “เราเล็กเกินไป เงินเรามีน้อยเกินไปที่จะไปฝืนตลาด” โดยเฉพาะในช่วงที่ “ดอลลาร์แข็ง จากความแตกต่างของนโยบายระหว่างประเทศหลัก”

“เก็บเงินสำรองไว้ดีกว่า เพราะปีหน้าเราจะมีความจำเป็นที่ต้องมีเงินสำรองให้มากพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ว่าฐานะของเรายังมั่นคง และเราได้เห็นมาแล้วว่า ประเทศที่มีเงินสำรองน้อย (อย่างศรีลังกา) สุดท้ายก็ตกเป็นเหยื่อของนักเก็งกำไร” ดร.กอบศักดิ์ระบุ