เปิดรายงาน กนง. ประเมิน “บาทอ่อน” ไม่กระทบขีดแข่งขัน ปรับดอกเบี้ย “เหมาะสม”

เงินบาท

กนง. วิเคราะห์สถานการณ์ “บาทอ่อน” ยังไม่กระทบขีดความสามารถการแข่งขัน-ทุนสำรองประเทศยังแข็งแกร่งรองรับความผันผวนได้ เกาะติดประเด็นขาดแคลนแรงงานใกล้ชิด มองขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป “เหมาะสม” กับสถานการณ์ แจงพร้อมเพิ่ม/ลดความแรงปรับดอกเบี้ยหากจำเป็น

วันที่ 12 ตุลาคม 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 5/2565 ประชุมเมื่อวันที่ 23 และ 28 กันยายน 2565 ที่คณะกรรมการ กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 0.75% เป็น 1.00% ต่อปี

โดยคณะกรรมการประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้า แต่ประเมินว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางเพิ่มเติมของต่างประเทศและนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย

โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ที่เดินทางมาประเทศไทยในช่วงนี้เป็นกลุ่มในภูมิภาคใกล้เคียงที่เดินทางระยะใกล้ (short-haul) และกลุ่มรายได้สูง (premium) ซึ่งภาวะเศรษฐกิจของประเทศต้นทางไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ

ในส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องและทั่วถึงมากขึ้น สะท้อนจากการฟื้นตัวของรายได้ที่มีการกระจายตัวดีขึ้นไปยังภาคบริการและผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะเป็นแรงส่งสำคัญสำหรับการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป

อย่างไรก็ดี กรรมการบางส่วนเห็นว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยมากกว่าที่คาดไว้ และเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าอย่างใกล้ชิด

เงินเฟ้อเสี่ยงสูงต้องติดตามใกล้ชิด

คณะกรรมการเห็นว่าเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงสูงและต้องติดตามใกล้ชิด โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในหลายหมวด ผ่านการส่งผ่านต้นทุนของภาคธุรกิจที่มากขึ้นและเริ่มขยายวงกว้าง โดยผู้ประกอบการอาจส่งผ่านต้นทุนเพิ่มเติมหากเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้นหลายปัจจัยพร้อมกัน เช่น ราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน และค่าจ้าง ซึ่งอาจส่งผลต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้ติดตามการส่งผ่านดังกล่าว รวมถึงพัฒนาการของอัตราเงินเฟ้อและเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะข้างหน้า

จับตาปัญหาขาดแคลนแรงงาน

คณะกรรมการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางสาขาธุรกิจที่กำลังฟื้นตัวและใช้แรงงานเข้มข้น เช่น ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ภาคการก่อสร้าง ที่อาจสร้างแรงกดดันค่าจ้างและเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวในสาขาธุรกิจดังกล่าว โดยเห็นว่าแรงงานคืนถิ่นยังมีอุปสรรคในการกลับเข้าตลาดแรงงาน อาทิ การขาดทุนทรัพย์ในการย้ายถิ่นฐานมาเริ่มต้นทำงานใหม่ในพื้นที่เศรษฐกิจ รวมถึงแรงงานไทยส่วนหนึ่งเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้ดีตามการเติบโตของภาค

การค้าอิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ทำให้มีปัญหาขาดแคลนแรงงานและแรงกดดันค่าจ้างไปอีกระยะหนึ่ง จึงควรติดตามพัฒนาการของตลาดแรงงานและการปรับขึ้นค่าจ้างในระยะต่อไป

ทั้งนี้ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในเดือนตุลาคม 2565 ส่งผลกระทบต่อค่าจ้างแรงงานโดยรวมค่อนข้างจำกัด เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ได้ค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว การส่งผ่านไปยังค่าจ้างที่สูงกว่าจึงไม่มากนัก

บาทอ่อน ยังไม่น่ากังวล-ทุนสำรองปึ้ก

คณะกรรมการเห็นว่าเงินบาทปรับอ่อนค่าเร็วและต่อเนื่องตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค โดยดัชนีค่าเงินบาท (nominal effective exchange rate : NEER) ที่อ่อนค่าเพียงประมาณ 2% ตั้งแต่ต้นปี 2565 สะท้อนว่าเงินบาทเคลื่อนไหวค่อนข้างสอดคล้องกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้าคู่แข่ง จึงไม่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงยังไม่พบการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ผิดปกติ โดยสถานะเงินทุนเคลื่อนย้ายของไทยตั้งแต่ต้นปียังคงมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ

นอกจากนี้ เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังเข้มแข็งสามารถรองรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และมีสัดส่วนมากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นถึง 3 เท่า ประกอบกับไทยมีสัดส่วนหนี้ต่างประเทศในระดับต่ำเพียงร้อยละ 38 ต่อ GDP รวมถึงประเมินว่าการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะช่วยลดแนวโน้มการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและจำกัดการอ่อนค่าของเงินบาทในระยะต่อไป

ห่วงบาทอ่อนเร็วกดดันเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการกังวลว่าการอ่อนค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทอาจสร้างแรงกดดันด้านต้นทุนเพิ่มเติมต่อผู้ประกอบการและเร่งให้เกิดการส่งผ่านต้นทุนมากขึ้นซึ่งจะกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูง

มองขึ้นดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไป “เหมาะสม”

คณะกรรมการเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม โดยพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสม หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ (gradual and measured policy normalization) โดยเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปมีความเหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทยในปัจจุบัน เนื่องจาก

(1) เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องและมีความทั่วถึงมากขึ้นทั้งในมิติของสาขาธุรกิจโดยเฉพาะภาคบริการ และในมิติของรายได้ที่มีการกระจายตัวมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีความพร้อมรองรับการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว

(2) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยเป็นผลจากด้านอุปทานและปัจจัยต่างประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งมีแนวโน้มคลี่คลายในระยะต่อไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการส่งผ่านต้นทุนเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังมีจำกัดเนื่องจากเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัว และความเสี่ยงการปรับขึ้นค่จ้างและราคาสินค้าเป็นวัฏจักรต่อเนื่อง (wage-price spiral) ของไทยยังมีจำกัด จากลูกจ้างนอกภาคเกษตร (แรงงานที่รับค่าจ้าง) ที่มีสัดส่วนที่ประมาณ 44% ของผู้มีงานทำทั้งหมด

ขณะที่ในสหรัฐ เยอรมนี และอังกฤษ อยู่ในระดับสูงถึง 85-92% รวมถึงอุปทานแรงงานไทยที่ค่อนข้างยืดหยุ่น (elastic labor supply) มากกว่าต่างประเทศ โดยแรงงานสามารถเคลื่อนย้ายเข้าออกในแต่ละสาขาธุรกิจได้ง่ายตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละสถานการณ์

(3) ภาคธุรกิจและครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ในบางสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าและครัวเรือนรายได้น้อยบางกลุ่มที่ยังอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและทำให้การฟื้นตัวสะดุดลงได้ คณะกรรมการจึงเห็นว่าควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ควบคู่กับการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนเพื่อดูแลกลุ่มเปราะบาง

พร้อมเพิ่ม/ลดความแรงปรับดอกเบี้ย

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ คณะกรรมการพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป เช่น หากเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วกว่าคาด หรืออัตราเงินเฟ้อเร่งสูงขึ้นต่อเนื่องจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ คณะกรรมการอาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่มากกว่า 0.25% ได้ หรืออาจหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยชั่วคราวได้ เพื่อรอดูความชัดเจนหากมีความไม่แน่นอนมากขึ้นในระยะข้างหน้า อาทิ จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวมากกว่าที่ประเมินไว้