เกาะประชุม “อีซีบี-บีโอเจ” ลุ้นเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% กดดันบาทอ่อนค่าต่อ

เงิน ดอกเบี้ย

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทเคลื่อนไหว 37.90-38.70 บาทต่อดอลลาร์ จับตา “ประชุมอีซีบี-บีโอเจ” ส่งสัญญาณแทรกแซงค่าเงิน ลุ้นตัวเลขใช้จ่ายผู้บริโภคสหรัฐ-ยุโรป ตลาดคาดเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% หนุนตลาดปิดรับความเสี่ยง ดันเงินดอลลาร์แข็งค่า ด้านฟันด์โฟลว์เห็นแรงเทขายบอนด์หลังเด้งรับบอนด์ยีลด์พุ่งราว 5 พันล้านบาท

วันที่ 23 ตุลาคม 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 24-28 ตุลาคม 65) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 38.00-38.50 บาทต่อดอลลาร์

โดยปัจจัยที่ต้องติดตามและมีผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาท จะเป็นการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) โดยคาดว่าอีซีบียังคงเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ตลาดจะให้ความสำคัญในเรื่องของมุมมองต่อเศรษฐกิจและวิกฤตพลังงาน ซึ่งจะมีผลต่อค่าเงินยูโร รวมถึงตลาดติดตามการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักรจะเป็นใคร

ขณะที่การประชุมของบีโอเจ มองว่าปัจจัยสำคัญไม่ได้อยู่ที่ผลการประชุม เพราะคาดว่าจะยังนโยบายการเงินไว้ แต่จะเป็นเรื่องของการแทรกแซงค่าเงินเยน ซึ่งมีโอกาสเห็นเงินเยนไหลจาก 150 เยนไปแตะ 160 เยนต่อดอลลาร์ได้ โดยทางการญี่ปุ่นอาจใช้จังหวะในการประชุมในการเข้าไปดูแลค่าเงินได้ จึงต้องติดตามว่าผลจะเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ จะมีตัวเลขดัชนี PMI ของสหรัฐและยุโรป ซึ่งตลาดจะโฟกัสทั้ง 2 ตัว เพราะหากตัวเลขออกมาแย่กว่าคาด จะทำให้ตลาดปิดรับความเสี่ยง (Risk off) หันไปถือดอลลาร์ดันดอลลาร์แข็งค่าต่อได้

“หากไม่มีปัจจัยมากระทบเชื่อว่าเงินบาทจะไม่หลุดแนวต้าน 38.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากหลุดกรอบก็มีความเป็นไปได้ที่จะวิ่งไปแตะ 38.75 บาทต่อดอลลาร์ได้ แต่ปัจจัยสำคัญที่ต้องรอดูจะเป็นโฟลว์จากทองคำ ซึ่งหากราคาไหลลงจากแนวรับ 1,620 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เป็นแรงกดดันเงินบาท”

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าตลาดหุ้นซื้อสุทธิราว 2,000 ล้านบาท ถือว่าตลาดหุ้นไทยลงน้อยกว่าตลาดอื่น และสามารถยืนเหนือระดับแนวรับได้ ทำให้ดัชนี SET Index ค่อนข้างดี อย่างไรก็ดี คาดว่าแนวโน้มในสัปดาห์นักลงทุนอาจจะไม่ได้เข้ามาก อยู่ในหลักพันล้านบาท เนื่องจาก Sentiment ตลาดยังไม่ค่อยมี

ด้านตลาดพันธบัตร (บอนด์) ในสัปดาห์ผ่านมา พบว่านักลงทุนขายสุทธิ 1.63 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้เงินบาทอ่อนไปแตะ 38.46 บาทต่อดอลลาร์ โดยจะเห็นการเทขายบอนด์ระยะยาว ส่วนหนึ่งมาจากผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) ระยะยาวปรับขึ้น โดยบอนด์อายุ 10 ปีขึ้นไปประมาณ 0.3% ถือว่าขึ้นค่อนเยอะ เป็นผลมาจากคอมเมนต์เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางสำคัญในเรื่องของการขายบอนด์เพื่อแทรกแซงค่าเงิน

อย่างไรก็ดี ทิศทางตลาดบอนด์ในสัปดาห์หน้า มองว่ายีลด์ของไทยขึ้นไปค่อนข้างเยอะแล้ว คาดว่าจะมีแรงเทขายบ้างแต่ไม่สูงถึงระดับหมื่นล้านเหมือนสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีแรงเทขายประมาณ 5,000 ล้านบาท ส่งผลให้ยังมีแรงกดดันค่าเงินบาทอยู่เช่นกัน

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารประเมินกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 37.90-38.70 บาทต่อดอลลาร์ โดยติดตามข้อมูลจีดีพีไตรมาส 3 ของสหรัฐ และการใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นตัวเลขสำคัญรายการสุดท้ายก่อนการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วันที่ 1-2 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งตลาดคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% และมีโอกาสสูงที่จะขึ้นอีก 0.75% ในการประชุมเดือนธันวาคมนี้

นอกจากนี้ ยังมีประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) วันที่ 27 ตุลาคม และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) วันที่ 27-28 ตุลาคมนี้ ส่วนของไทยจะมีข้อมูลดุลการค้าเดือนกันยายนจากกระทรวงพาณิชย์


“จับตาบอนด์ยิลด์สหรัฐ และกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะการลดพอร์ตบอนด์ทั่วโลกอีกครั้ง” นางสาวรุ่ง กล่าว