ภัยพิบัติกระทบต้นทุนประกัน เมกะโปรเจ็กต์เพิ่มเบี้ย 20%

เบี้ยประกัน

“ไทยรีฯ” เผยเตรียมรับมือค่าเบี้ยประกันภัยต่อขยับขึ้น-รีอินชัวเรอร์ชาร์จเบี้ยพุ่ง 20% เอฟเฟ็กต์สองเด้งจาก “ภัยพิบัติถี่-ปัญหาเงินเฟ้อสูง” ชี้เคลมโควิดสูงกดเงินกองทุนบริษัทประกันทั่วโลกหาย 10-20% จับตา พ.ย.-ธ.ค. ต่อรองสัญญาเบี้ยปีหน้า หวั่นจ่อขึ้นเบี้ยเต็มแม็ก ธุรกิจ “เมกะโปรเจ็กต์-อสังหาฯ-โรงงาน” อ่วมหนักสุด “ทิพยประกันภัย” หวั่นต้นทุนประกันพุ่ง 15-20% กระทบกลุ่มงานก่อสร้างเกิดขึ้นใหม่ถูกชาร์จเบี้ยสูง ฟาก “เมืองไทยประกันภัย” ระบุต้นทุนขยับจากภัยธรรมชาติมากสุด

นายฉัตรชัย พยาฆรินทรังกูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE (ไทยรีฯ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเมินอย่างน้อยอีก 3 ปีข้างหน้า การรับประกันภัยต่อทั่วโลกยังเห็นเทรนด์ภาวะตลาดแข็งตัว (hard market)

สาเหตุมาจากเมื่อช่วง 2 ปีก่อนได้เกิดภัยพิบัติสูงขึ้นเรื่อย ๆ และได้รับผลกระทบจากการจ่ายเคลมสินไหมประกันภัยโควิด-19 ทำให้เงินกองทุนของบริษัทประกันภัยทั่วโลกหายไปอย่างน้อย 10-20% จึงจำเป็นต้องเรียกปรับเบี้ยประกันขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมกับความเสี่ยงที่อาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ประกอบกับทั่วโลกประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อและกังวลจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งแม้ว่าปัญหาเงินเฟ้อจะไม่ได้กระทบโดยตรงกับประกันภัย แต่เข้ามากระทบทางอ้อมจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น ต้นทุนรถและอะไหล่ ที่ปรับตัวขึ้นอย่างน้อย 5-10% กดดันให้ค่าเคลมสูงตามมาเป็นโดมิโนที่มีผลต่อค่าเบี้ย เพื่อสะท้อนค่าสินไหมที่ต้องจ่ายในอนาคต

“ตอนนี้เลยกลายเป็นเอฟเฟ็กต์ 2 เด้ง คือสถานการณ์ hard market ซึ่งยังคงสูงอยู่ด้วยอุบัติภัย (catastrophic) เช่น น้ำท่วมในไทย, เกิดพายุและแผ่นดินไหวทั่วโลก และเด้งสองคือปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้ผมเชื่อว่าสถานการณ์เบี้ยประกันโดยเฉพาะประกันภัยต่อจะปรับตัวสูงขึ้นมาก มีโอกาสอาจจะปรับตัวเกิน 20% ขณะนี้รอดูสถานการณ์ช่วงปลายปี (พ.ย.-ธ.ค.) เพราะเป็นช่วงตลาดต่างประเทศเริ่มกลับมาต่อรองพิจารณาต่อสัญญาของปีหน้า” นายฉัตรชัยกล่าว

โดยตลาดไทยจัดอยู่ในโซนเอเชียใต้ ซึ่งโชคดีที่เศรษฐกิจจีนอ่อนลง ทำให้โอกาสประสบภาวะ hard market อาจจะไม่มากเท่ายุโรป หรืออเมริกา ที่กำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อสูงมาก ทำให้โอกาสถูกปรับค่าเบี้ยขึ้นจะสูงกว่า ขณะที่ไทยแม้ถูกกระทบจากเงินเฟ้อแต่ไม่มาก เนื่องจากต้นทุนฐานต่ำ จึงทำให้โอกาสถูกปรับค่าเบี้ยต่ำกว่า ประกอบกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นไม่รุนแรงเท่าเมื่อเทียบฝั่งอเมริกาและยุโรป

โปรเจ็กต์อสังหาฯเจอขึ้นเบี้ยแน่

นายฉัตรชัยกล่าวว่า ประเมินกลุ่มงานอสังหาริมทรัพย์ในไทยมีโอกาสถูกปรับเบี้ยขึ้นค่อนข้างสูงสุด โดยเฉพาะที่มีความเสี่ยงน้ำท่วม ทางบริษัทประกันภัยจะระมัดระวัง รวมทั้งธุรกิจที่เสี่ยงไฟไหม้ เช่น กลุ่มโรงงานพลาสติก มีโอกาสอ่อนไหวต่อราคาเบี้ยมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ เป็นพิเศษ

“การรับประกันงานอสังหาฯ ส่วนใหญ่ส่งประกันภัยต่อหมด เพราะเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ มีมูลค่าลงทุนสูง เพราะฉะนั้น งานพวกนี้จะโดนเรตอัตราเบี้ยที่ค่อนข้างสูง เพราะส่งต่อมาเป็นทอด ๆ คาดว่าจะถูกปรับราคาเบี้ยเกิน 20% ถ้าเงินเฟ้อหนัก” นายฉัตรชัยกล่าว

โดยปัจจุบันนี้ทุกบริษัทประกันภัยในไทย รวมทุนที่รับประกันไว้เองไม่น่าเกิน 10-20% สำหรับเบี้ยรายใหญ่ ที่เหลือกว่า 70-80% ต้องส่งประกันภัยต่อหมด เพราะขนาดโปรเจ็กต์มีมูลค่าเป็นหลักหมื่นล้านบาท อาทิ โรงกลั่นน้ำมัน เป็นต้น

แต่ถ้าเป็นเบี้ยรายย่อยอย่างประกันรถยนต์ หรือประกันสุขภาพ ส่วนใหญ่บริษัทประกันภัยไทยมีความสามารถเก็บไว้เองได้เป็นส่วนมาก และมีมาร์จิ้นดี รวมทั้งจำนวนเงินเอาประกัน (sum insured) ไม่สูง

“อย่างไรก็ตาม เราได้บทเรียนจากเคลมประกันภัยโควิดแล้ว ฉะนั้นคงอยู่ที่การประเมินความเสี่ยงของแต่ละบริษัทในการรับประกัน ไม่มีสูตรสำเร็จ หากใครรับประกันรถยนต์หรือประกันสุขภาพไว้เองสัดส่วนมาก ก็เชื่อว่าโอกาสถูกขึ้นเบี้ยอาจจะมี แต่ไม่สูงเท่าในต่างประเทศ” นายฉัตรชัยกล่าว

นายฉัตรชัยกล่าวด้วยว่า คาดการณ์ธุรกิจประกันภัยปี 2565 เติบโตได้ดี ประมาณ 5-10% และปี 2566 คาดว่าจะเติบโตอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่านี้และมีโอกาสปรับตัวสูงกว่านี้ได้ ซึ่งมาจากตลาดเดิมเติบโต เช่น จำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น คนใส่ใจทำประกันสุขภาพมากขึ้น และตลาดเดิมที่เคยขาดไป เช่น ประกันการเดินทาง จะเริ่มกลับมาหนุนเบี้ยประกันดีดตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่โรคโควิดหายไปแล้ว

เมกะโปรเจ็กต์อ่วมต้นทุนประกันพุ่ง

นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ปีนี้ประกันภัยต่อทั่วโลกน่าจะเหนื่อย เพราะได้รับผลกระทบจากทั้งปัญหาโควิด ภัยพิบัติ และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลต่อราคาพลังงาน

ทำให้ความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีต้นทุนที่สูง เพราะฉะนั้น ตลาดประกันภัยต่อตอนนี้ถือว่าเป็นภาวะ hard market จะทำให้มีการจำกัดเงื่อนไขความคุ้มครองและปรับอัตราเบี้ยประกันภัยต่อเพิ่มสูงขึ้น

“แนวโน้มความสามารถในการรับประกันภัย (capacity) ที่รีอินชัวเรอร์เคยให้เราจะลดน้อยถอยลงไป สมมุติเคยคุ้มครอง 7-8 พันล้านบาท ตอนนี้อาจจะลดเหลือแค่ 5-6 พันล้านบาท ขณะเดียวกันภาพรวมราคาเบี้ยประกันภัยต่อก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นระหว่าง 15-20%

โดยเฉพาะงานก่อสร้างทางวิศวกรรมที่เกิดขึ้นใหม่จะถูกชาร์จเบี้ยสูง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริษัทประกันรายใดมีผลประกอบการที่ดีอาจต่อรองเบี้ยได้ดีกว่าบริษัทประกันรายอื่น ๆ” นายสมพรกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันเบี้ยจากงานรับประกันภัยทรัพย์สินของทิพยประกันภัย คิดเป็นสัดส่วน 25% ของเบี้ยประกันภัยรับรวมที่ 26,000 ล้านบาท โดยมี capacity เป็นหลักหมื่นล้านบาท (ตามสัญญาเดิม) งานที่รับประกันส่วนใหญ่เป็นโครงการเมกะโปรเจ็กต์ เช่น รถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ซึ่งจะส่งงานให้บริษัทประกันภัยต่อในสัดส่วน 80-90% เนื่องจากเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูง รับไว้เองไม่ได้เพราะมีความเสี่ยงเกินไป

โดยสัญญางานรับประกันลักษณะนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วนงาน คือ 1.งานโครงการก่อสร้างที่เกิดขึ้นใหม่ หรือขยายเวลาการก่อสร้าง ซึ่งเบี้ยประกันจะเป็นไปตามอัตราตลาด ซึ่งสัญญาปีหน้าแน่นอนว่า ราคาเบี้ยก้อนนี้จะปรับตัวสูง และ 2.งานโครงการก่อสร้างเสร็จแล้ว เข้าสู่การใช้งานตามปกติ เบี้ยประกันส่วนนี้จะใกล้เคียงเดิมหรืออาจปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

“อย่างไรก็ตาม เราคงไม่ได้ส่งผ่านต้นทุนทั้งหมดให้ลูกค้า โดยเฉพาะถ้าเป็นลูกค้าเดิม เราจะให้เขาได้รับเบี้ยที่ดีที่สุด ซึ่งแน่นอนจะมีการแข่งขันเกิดขึ้น เพราะทุก ๆ บริษัทพยายามจะสร้างโอกาสและทำกำไรจากการรับประกันภัยให้ได้มากที่สุด” นายสมพรกล่าว

นายสมพรกล่าวต่อว่า ปัจจุบันนี้งานใหญ่ ๆ ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างจะเป็นลักษณะการประกันภัยร่วม อาจจะมี 2-3 บริษัทแชร์สัดส่วนเพื่อรับงาน โดยมี 1 บริษัทเป็นผู้รับประกันหลัก (lead) ซึ่งส่วนใหญ่ทิพยประกันภัยจะได้รับโอกาสเพราะมีความชำนาญมากกว่าถ้าเทียบกับบริษัทประกันรายอื่น ๆ

ภัยธรรมชาติดันต้นทุนประกัน

นายวาสิต ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.เมืองไทยประกันภัย (MTI) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้มีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นขนาดค่อนข้างใหญ่ในหลายภูมิภาค ส่งผลให้เกิดความเสียหายสูง เช่น เฮอริเคนในรัฐฟลอริดาของสหรัฐ เป็นต้น

ซึ่งกระทบกับบริษัทรับประกันภัยต่อรายใหญ่ ๆ ค่อนข้างหนักเรียกได้ว่าใกล้เจ็บตัวกันแล้ว ทำให้สัญญาประกันต่อปีหน้าในเรื่องของการปล่อย capacity ในอัตราเบี้ยถูก ๆ อาจจะหาได้ยากขึ้น และจำกัดความคุ้มครองรับประกันน้อยลง

“ตั้งแต่หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 บริษัทประกันต่อไม่คุ้มครองภัยธรรมชาติ อาทิ น้ำท่วม, แผ่นดินไหว อยู่ในการประกันภัยต่อแบบสัญญา (treaty reinsurance) โดยบริษัทประกันจะต้องซื้อความคุ้มครองต่างหาก ที่เรียกว่าสัญญาประกันภัยต่อความเสียหายส่วนเกิน (excess of loss treaty) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นต้นทุนของบริษัทประกันที่จะรับประกันงานลักษณะนี้ ซึ่งเป็นต้นทุนคงที่ (fixed cost)” นายวาสิตกล่าว

ดังนั้นในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์ กรณีคุ้มครองภัยธรรมชาติ มีโอกาสถูกชาร์จเบี้ยมากขึ้น หรือลดความคุ้มครองน้อยลง ยกตัวอย่างเช่น โรงงานมูลค่า 500 ล้านบาท อาจกำหนดทุนประกันจากภัยน้ำท่วมแค่ 50-100 ล้านบาท เป็นต้น จะไม่ได้รับวงเงินเต็มทุนแล้ว โดยกรอบต้นทุนการขึ้นเบี้ยน่าจะอยู่ระหว่าง 15-20% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองแต่ละบริษัท

นายวาสิตกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันบริษัทมีรับประกันงานเมกะโปรเจ็กต์อย่างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ทั้งบนดินและใต้ดิน แต่ยังไม่เริ่มใช้งาน จะเป็นการประกันภัยต่อแบบเฉพาะราย (facultative reinsurance) สัญญานี้หลักหมื่นล้านบาท ประกันภัยต่อมูลค่า 7,000 ล้านบาท บริษัทที่ร่วมรับประกัน คือกรุงเทพประกันภัย ทิพยประกันภัย โดยบริษัทช่วยแชร์รับงาน และทิพยประกันภัยเป็น lead