แบงก์รัฐเล็งขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ปีใหม่ทยอยปรับล้อตามตลาด

ดอกเบี้ย

“ธนาคารออมสิน-ธอส.” ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้หลังปีใหม่ กัดฟันตรึงถึงแค่สิ้นปีนี้ “วิทัย” ยันต้องปรับตามสถานการณ์ตลาด เชื่อลูกหนี้รับมือได้ ฟาก “ฉัตรชัย” ชี้ ธอส.อาจสูญรายได้มากกว่า 5 พันล้านบาท หวั่นตรึงดอกกู้นานส่งผลกระทบเป็นโดมิโน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 30 พ.ย.นี้ คาดว่าคงจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก และคาดว่าธนาคารพาณิชย์จะทยอยปรับดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝากตาม

 

วิทัย รัตนากร
วิทัย รัตนากร

ส่วนธนาคารออมสิน จะตรึงดอกเบี้ยเงินกู้นานถึงสิ้นปี 2565 นี้ และคงทยอยปรับขึ้นในปี 2566 ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากนั้น จะพิจารณาตามการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งที่ผ่านมา ออมสินก็มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำไปแล้ว ตั้งแต่ กนง.มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในครั้งแรก

“ช่วงเดือน ม.ค. 2566 ก็คงจะต้องมีการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ให้เป็นไปตามสถานการณ์ของตลาด เพราะหากดอกเบี้ยเงินกู้ห่างจากตลาดมาก ก็จะมีผลกระทบในภาพรวม ซึ่งคาดว่าลูกค้าของธนาคารจะสามารถรับมือสถานการณ์ได้” นายวิทัยกล่าว

 

ฉัตรชัย ศิริไล
ฉัตรชัย ศิริไล

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ไม่สามารถคาดเดาได้ ว่าการประชุม กนง. วันที่ 30 พ.ย.นี้ จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกหรือไม่ แต่นักวิเคราะห์หลายค่ายก็คาดการณ์ว่า แนวโน้มดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นแล้ว ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในการประชุมช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนบริบทของประเทศไทยจะปรับขึ้นอีกหรือไม่นั้น จะต้องรอติดตามอีกครั้ง ทั้งนี้ ธอส.ยังยืนยันว่าจะตรึงดอกเบี้ยเงินกู้จนถึงสิ้นปี 2565 นี้

“การตรึงดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปี 2565 นี้ คาดว่าจะทำให้ ธอส.สูญเสียรายได้อีกราว 1,900 ล้านบาท และหาก กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ก็จะมีผลทำให้แบงก์สูญเสียรายได้เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งยอมรับว่าเมื่อตรึงดอกเบี้ยไว้ รายได้กำไรจากดอกเบี้ยก็จะหายไป อย่างไรก็ดี การประชุม กนง. วันที่ 30 พ.ย. ก็จะเหลือเวลาอีกแค่ 1 เดือน ก่อนปิดงบฯ ปี 2565” นายฉัตรชัยกล่าว

นายฉัตรชัยกล่าวอีกว่า เดิม ธอส.คำนวณไว้ว่าแบงก์จะเสียรายได้แค่ 5,000 ล้านบาท จากการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่จากการประเมินสถานการณ์คาดว่าการสูญเสียรายได้จะเพิ่มสูงมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าที่คาด ซึ่งมีผลกับรายได้จากสินเชื่อปล่อยใหม่ และสินเชื่อสะสมทั้งหมดของพอร์ต

“ดอกเบี้ยเงินฝาก แม้แบงก์จะปรับขึ้น ก็ยังไม่มีผลต่อรายได้ แต่ดอกเบี้ยเงินกู้นั้น หากไม่ขึ้นเลย กำไรจากดอกเบี้ยก็จะลดลง แล้วถ้าแบงก์ไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย MRR, MLR เลย ขณะที่ดอกเบี้ย MRR, MLR ของธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้น ลูกค้าก็จะมาขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่ดอกเบี้ยต่ำ แต่แบงก์ต้องไประดมเงินที่มีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น เพื่อไปปล่อยสินเชื่อ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นโดมิโน หากตรึงดอกเบี้ยไว้นาน”
นายฉัตรชัยกล่าว


ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารออมสิน มีอัตราดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ 6.15%, MOR อยู่ที่ 5.995% และ MRR อยู่ที่ 6.245% ขณะที่ ธอส. มีอัตราดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ 5.75%, MOR อยู่ที่ 5.90% และ MRR อยู่ที่ 6.15% ส่วนธนาคารพาณิชย์ (6 แบงก์ใหญ่) จะมีดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ระหว่าง 5.50-6.375%, MOR อยู่ที่ 6.07-6.40% และ MRR อยู่ที่ 5.97-6.48%