ขุนคลังสั่งตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ แบงก์รัฐอุ้มลูกหนี้ “ยื้อเต็มกำลัง” ถึงสิ้นปี

ธอส. ออมสิน

“ธอส.-ออมสิน” รับลูกขุนคลังกัดฟันตรึงดอกเบี้ย “ฉัตรชัย” ลั่นหาก กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไม่เกิน 0.50% ธอส.จะไม่ขึ้นดอกกู้ MRR จนถึงสิ้นปี พร้อมดูแลลูกหนี้ NPL ช่วยปรับโครงสร้างหนี้-ลดดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษนาน 1 ปี

ขณะที่ “วิทัย” แจงออมสินขึ้นดอกเบี้ยตามแบงก์พาณิชย์ ยันขยับดอกฝากก่อน ดอกกู้ทีหลัง จ่อขยายเวลาแก้หนี้ครู “ไม่ฟ้อง-ไม่ยึดทรัพย์” อีก 6 เดือน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การช่วยเหลือลูกค้าที่จะได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายนั้น ล่าสุดได้รับนโยบายจากกระทรวงการคลังให้ธนาคารตรึงดอกเบี้ยช่วยลูกค้าจนถึงสิ้นปี 2565 ซึ่งธนาคารจะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน

ฉัตรชัย ศิริไล
ฉัตรชัย ศิริไล

ในส่วนดอกเบี้ย MRR (อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี) ให้นานที่สุด โดยจะพิจารณาประกอบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ด้วย หากภายในปีนี้ กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด 0.50% ธนาคารก็จะตรึงดอกเบี้ยที่ครอบคลุมการดูแลลูกค้า 1.4 ล้านล้านบาท นานถึงสิ้นปี 2565 นี้

“ตอนนี้ ธอส.ได้รับนโยบายจากกระทรวงการคลังให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยนานถึงสิ้นปี 2565 ซึ่งเราก็พร้อมดูแลลูกค้า โดยหาก กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในปีนี้ 0.50% ลูกค้า ธอส.สามารถมั่นใจได้ว่าเราไม่ขึ้นดอกเบี้ยแน่นอนไปจนถึงสิ้นปีนี้ เราจะเป็น last man standing ที่ไม่ขึ้นดอกเบี้ย แต่ถ้า กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงถึง 0.75-1.00% ก็จะพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง” นายฉัตรชัยกล่าว

นายฉัตรชัยกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ธอส.ยังมีมาตรการดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กรณีที่เป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หรือลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ผ่านมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน โดยการลดอัตราดอกเบี้ย และเลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ ซึ่งเป็นการให้ผ่อนชำระเงินงวดต่ำ พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ ระยะเวลา 1 ปี โดยมีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการ 72,496 บัญชี วงเงินต้นคงเหลือ 74,176 ล้านบาท

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ออมสินได้ประเมินสถานะของลูกค้าแล้วว่า หาก กนง.มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะมีผลกระทบกับลูกค้าส่วนใดบ้าง ซึ่งหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารจะพิจารณาตามการปรับดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ แต่ออมสินจะปรับขึ้นในส่วนดอกเบี้ยเงินฝากก่อน ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้นั้นจะต้องประเมินอีกครั้ง โดยจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยตามในทันที ต้องมีการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ ส่วนจะตรึงเท่าไหร่ หรืออย่างไร ต้องประเมินสถานการณ์อีกที

วิทัย รัตนากร
วิทัย รัตนากร

“เวลา กนง.ขึ้นดอกเบี้ย เช่น 0.25% แบงก์พาณิชย์ไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก 0.25% เท่ากัน เขาก็ต้องไปประเมินก่อน หรือบางครั้งอาจจะมีสัดส่วนการขึ้นเงินฝากและเงินกู้ 0.125% เท่ากัน ซึ่งเขาก็ต้องไปประเมินอีกครั้ง และมีการหารือกับสมาคมธนาคารไทย ส่วนออมสินก็จะใช้ตัวเลขส่วนนั้น เป็นอัตราตั้งต้น แต่หากแบงก์พาณิชย์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ 0.25% เราก็จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก แต่จะตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ไปอีกระยะหนึ่ง” นายวิทัยกล่าว

ทั้งนี้ นอกจากการดูแลลูกค้าในเรื่องดอกเบี้ยแล้ว ธนาคารออมสินยังมีแนวคิดที่จะขยายระยะเวลาโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการออกไปอีกจนถึงสิ้นปี 2565 จากเดิมที่สิ้นสุด มิ.ย. 2565 ทั้งมาตรการที่ไม่ฟ้องร้อง หรือดำเนินการทางคดี ไม่มีการนำทรัพย์ไปขายทอดตลาด ไม่มีการยึดทรัพย์ และไม่ฟ้องล้มละลาย กับลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย ซึ่งโครงการแก้หนี้ครูที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564 มีผู้เข้าร่วม 3.5 แสนราย วงเงินรวม 3.5-3.7 แสนล้านบาท

“การขยายโครงการแก้หนี้ หากนานเกินไปอาจทำให้ลูกหนี้เกิดการเสียวินัยทางการเงิน แต่ธนาคารไม่อยากซ้ำเติม จึงขยายไปช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่มีปัญหาจริง ๆ ซึ่งปัจจุบันเหลือจำนวนที่ยังเป็นหนี้คุณภาพไม่ดีเพียง 4.4% เท่านั้นจากทั้งพอร์ต” นายวิทัยกล่าว

ก่อนนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า หาก กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 3-6 เดือน ในการผ่านไปถึงดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน ซึ่งถึงเวลานั้นก็จะกระทบต่อต้นทุนของผู้ที่กู้เงิน ดังนั้นจึงขอความร่วมมือสถาบันการเงิน ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ อย่าให้กระทบกับลูกค้ามากเกินไป ขณะเดียวกันจะให้แบงก์รัฐดูแลลูกค้าอย่างเต็มที่