ลูกหนี้อ่วม 2 เด้งพิษดอกเบี้ย แบงก์โยนภาระเก็บเงิน FIDF

ขึ้นดอกเบี้ย

ลูกหนี้กระอัก-แบงก์จ่อขึ้นดอกเบี้ยทันทีต้นปีหน้า แก้ปมภาระต้นทุนนำส่งเงินกองทุน FIDF เพิ่ม หลังคลังรับลูก ธปท. ชง ครม.ไฟเขียวกลับมาเรียกเก็บ 0.46% แล้ว หวังคืนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จบภายใน 10 ปี ขณะที่บรรดานายแบงก์โอดต้นทุนพุ่ง-แบกไม่ไหว ต้องส่งผ่านไปลูกค้าขึ้นดอกเบี้ยยกแผง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะกลับมาเรียกเก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่อัตรา 0.46% ต่อปี ตั้งแต่งวดปี 2566 เป็นต้นไป หลังจากก่อนหน้านี้ได้ลดเหลือ 0.23% ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ปี 2563-2565 ที่ผ่านมา

โดยกระทรวงการคลังรายงานว่า ธปท.ประเมินสถานการณ์ปัจจุบันแล้วพบว่า เศรษฐกิจในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น และเริ่มส่งผลดีต่อสถานะของลูกหนี้หลายกลุ่ม ขณะที่ระบบสถาบันการเงินมีความมั่นคงสะท้อนจากเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง สามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของลูกหนี้ในระยะต่อไปได้ ทำให้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่ผ่อนปรน และมาตรการช่วยเหลือทางการเงินสามารถทยอยปรับเข้าสู่ระดับปกติได้

นอกจากนี้ ธปท.ยังเห็นว่า หนี้ของ FIDF ยังเป็นภาระต่อระบบเศรษฐกิจการเงินในระดับสูง โดยมียอดคงค้าง ณ วันที่ 31 ส.ค. 2565 จำนวน 672,614 ล้านบาท และจะมีภาระดอกเบี้ยจ่ายในช่วงปีงบประมาณ 2566-2575 ตกปีละประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเป็นแหล่งเงินสำคัญในการลดต้นเงินและดอกเบี้ย ดังนั้นการกลับมาเรียกเก็บเงินนำส่งที่ 0.46% จะทำให้ชำระหนี้ได้เสร็จสิ้นภายในปี 2575

ส่งผ่านต้นทุน-ขึ้นดอกกู้ยกแผง

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่า ธุรกิจแบงก์ในปี 2566 จะเป็นปีที่มีความท้าทาย โดยภาระต้นทุนที่เกิดจากความเสี่ยงในเรื่องของโควิด-19 จะลดลง แต่ภาระในเรื่องของ FIDF จะมาแทน โดยในช่วงที่มีการปรับลดอัตราเงินนำส่ง จะเห็นว่าธนาคาพาณิชย์ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยตระกูล M ทั้งในส่วนของดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) และดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชี (MOR) ลดลงประมาณ 0.50% ต่อปี

ดังนั้นในปี 2566 คาดว่าอัตราดอกเบี้ยทั้งระบบของธนาคารจะต้องปรับขึ้นอย่างน้อย 0.50-0.60% ต่อปี ส่วนการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากคงปรับขึ้นในส่วนเงินฝากประจำและเงินฝากพิเศษบางประเภท ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ จะเห็นว่าธนาคารไหนที่มีดอกเบี้ยคงที่อยู่มาก อาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ย M มากไปด้วย แต่ก็ขึ้นอยู่กับพอร์ตสินเชื่อของแต่ละธนาคารด้วย

“ปีหน้าจะเจอ 2 เด้ง ทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอและต้นทุนดอกเบี้ย โดยในวันที่ 1 ม.ค. 2566 ต้องกลับมาจ่าย FIDF เต็ม ๆ 0.46% แต่จะเห็นว่าธนาคารคงส่งผ่านต้นทุน FIDF เต็ม ๆ ไปให้ลูกค้าเลยไม่ได้ แต่ต้องส่งผ่านแบบค่อยเป็นค่อยไป แม้เราต้องกดปุ่มจ่ายทันทีก็ตาม” นายปิติกล่าว

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายใต้เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง หากมีการปรับขึ้นอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF 0.46% จะเป็นภาระต้นทุนให้ลูกค้าเงินกู้ทันที เนื่องจากเงินนำส่ง FIDF ถือเป็น direct cost ซึ่งจะมีผลต่อดอกเบี้ยตระกูล M rate ทั้ง MLR, MRR และ MOR ปรับขึ้นทันที โดยเฉลี่ยคาดว่าทั้งระบบจะปรับขึ้นราว 0.25-0.50% ต่อปี

“ถ้าย้อนไปในช่วงที่ ธปท.ประกาศการปรับลดอัตรานำส่งเหลือ 0.23% จะเห็นว่าแบงก์ต่างปรับลดดอกเบี้ย M rate ลงทันทีราว 0.40% ต่อปี เพื่อเป็นการส่งคืนผลประโยชน์ให้กับลูกค้า ไม่ได้เป็นกำไรของธนาคาร และหากมีส่วนต่างเหลือก็ช่วยเหลือลูกหนี้ต่อ ซึ่ง ธปท.จะมีการตรวจสอบการช่วยเหลือ ดังนั้น FIDF เป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยหากดูภาระเงินต้นทั้งระบบที่ปรับลดลงไป อยู่ที่ราว 4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นเงินต้นสินเชื่ออยู่ที่กว่า 10 ล้านล้านบาท” นายศักดิ์ชัยกล่าว

ปรับขึ้น FIDF กระทบลูกหนี้

นายศักดิ์ชัยกล่าวอีกว่า ขณะที่ต้นทุนจากดอกเบี้ยนโยบาย จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีประชุมวันที่ 30 พ.ย.นี้ ต้องรอดูว่าสถาบันการเงินจะสามารถช่วยประคองได้มากน้อยระดับใด อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถือว่าเหมาะสม เนื่องจากเจอแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก ทำให้ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะปกติ หรือ normalization

“ต้นทุนที่เกิดจาก FIDF จะโดนทั้งหมด ไม่ว่าลูกค้ารายเล็ก รายกลาง หรือรายใหญ่ เพราะคงส่งผ่านไปทันที ไม่เหมือนดอกเบี้ยนโยบาย ที่การส่งผ่านอาจจะยังเป็นการประคอง ซึ่งในช่วงที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอีเปราะบางอยู่ สภาพคล่องยังกลับมาไม่เต็มที่ ภาระหนี้อยู่ในระดับสูง ซึ่งต้นทุนจากดอกเบี้ยนโยบายก็สูงพอแล้ว หากมาเจอ FIDF จะเป็นภาระเพิ่มอีก ซึ่งจะเกิดผลกระทบทั้งก้อนจากปรับขึ้น จึงอยากให้พิจารณาทยอยปรับขึ้น เพื่อลดผลกระทบ” นายศักดิ์ชัยกล่าว

หลังปีใหม่ขึ้นดอกเบี้ย 0.65%

นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า หลังจากวันที่ 1 ม.ค. 2566 จะเริ่มเห็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นรับต้นทุนที่เกิดจากภาระเงินนำส่งเข้า FIDF และรวมถึงดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้น โดยจะเห็นแบงก์ปรับดอกเบี้ยขึ้นเฉลี่ย 0.50-0.65% เป็นขาเงินกู้ราว 0.65% และขาเงินฝากเฉลี่ย 0.25% ทั้งนี้ ต้องรอดูทิศทางการประชุม กนง. ครั้งสุดท้ายวันที่ 30 พ.ย. 65 นี้ด้วย

อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและภาระเงินนำส่ง FIDF จะไม่กระทบกับลูกค้ารายย่อยในกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และเช่าซื้อที่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ (fixed rate) โดยจะเห็นผลกระทบบ้างสำหรับลูกค้าใหม่ที่ขอสินเชื่อ เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย และธุรกิจเอสเอ็มอี แม้ว่าอัตราการผ่อนชำระจะเท่ากัน แต่ระยะเวลาการผ่อนจะยาวขึ้น เพราะเงินจะถูกหักดอกเบี้ยมากขึ้น ซึ่งยอมรับว่ามีผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย รวมถึงยอดปฏิเสธสินเชื่อ (rejection rate) ที่ปรับขึ้นเช่นกัน

“แบงก์ใหญ่คงขึ้นหลังปีใหม่ โดยดอกเบี้ยตระกูล M จะขึ้นทันทีราว 0.40% ถ้ารวมดอกเบี้ย กนง.อีก 0.25% รวมต้นทุนในปีหน้าที่แบงก์จะเจอราว 0.65% ซึ่งแต่ละธนาคารอาจปรับไม่เท่ากัน แต่สูงสุดคือ 0.65% ทั้งนี้ เนื่องจากภาครัฐเห็นว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว และไม่อยากให้หนี้ FIDF ค้างไว้นาน เพราะเป็นหนี้ตั้งแต่ปี 2540 ดังนั้นคงไม่ลดเงินนำส่งให้แล้ว”

CIMBT ต้นทุนพุ่งทันที 300 ล้าน

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ซีไอเอ็มบี ไทย มีแผนจะปรับดอกเบี้ยขึ้นตามภาระต้นทุนการเงินที่ปรับขึ้น แต่จะพยายามตรึงการปรับขึ้นให้นานที่สุด เพื่อลดผลกระทบต่อลูกค้า เพราะหากปรับดอกเบี้ยขึ้นสูงเกินไปอาจจะทำให้ฐานลูกค้าไหลออกไปใช้บริการที่อื่นได้ ดังนั้นจากปัจจัยการแข่งขันและดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ไม่ใช่เรื่องง่ายในการปรับอัตราดอกเบี้ย ธนาคารต้องรักษาสมดุล

“ยอมรับว่าเงินนำส่ง FIDF ที่จะกลับมาเป็น 0.46% จะส่งผลต่อต้นทุนเงินฝากของธนาคารเพิ่มขึ้นทันทีราว 300 ล้านบาทต่อปี จากฐานเงินฝากของธนาคารปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ทั้งนี้ เราคงต้องปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่จะดึงให้นานที่สุด เพราะยังไงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะอั้นไว้ก่อน เพราะการมูฟเร็วอาจไม่เป็นผลดี จะต้องดูภาพรวมตลาดและการแข่งขันด้วย และเราเน้นจับกลุ่มกลางและบน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ดี ดอกเบี้ยก็เป็นตัวกำหนดเหมือนกัน จึงต้องดูไทม์ไลน์และเซ็กเตอร์ในการพิจารณาปรับดอกเบี้ยด้วย”

คาด กนง.ขึ้นดอกเบี้ยแตะ 2%

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยฯประเมินว่า ปีนี้ กนง.จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ในการประชุมครั้งสุดท้ายวันที่ 29 พ.ย.นี้อีก 1 ครั้ง ที่ 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยสิ้นปี 2565 จะอยู่ที่ 1.25% ต่อปี เนื่องจากภาพสถานการณ์ต่าง ๆ ยังคงเป็นไปตามคาด แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งขึ้นดอกเบี้ย แต่จะเริ่มเห็นว่าค่าเงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่าได้และจำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะยังได้ตามเป้าหมายที่ระดับ 10 ล้านคน และสัญญาณอัตราเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลง จากล่าสุดเดือน ต.ค. เงินเฟ้อลงมาอยู่ที่ 5.98% จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 6.41%

ส่วนในปี 2566 มองว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ในช่วงครึ่งแรกของปี ครั้งละ 0.25% ในทุกรอบการประชุม คือ ในเดือน ม.ค., มี.ค. และ พ.ค. 2566 และจะค้างไว้ทั้งปีที่ระดับ 2% ต่อปี สาเหตุที่มองว่าในช่วงครึ่งหลังของปี กนง.จะไม่ปรับดอกเบี้ยนั้น เนื่องจากเงินเฟ้อชะลอตัวลง และเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ในระดับ 3.5-4% และตลาดคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยเฟดจะหยุดอยู่ที่ 5.75% ส่งผลให้ไทยน่าจะสามารถคงดอกเบี้ยได้

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 จะอยู่ในกรอบ 2.3-3.3% โดยจะเห็นการปรับลดลงในช่วงไตรมาสที่ 1-2/2566 และเงินเฟ้อพื้นฐาน อาจจะเห็นการปรับตัวลงช้า ๆ โดยในปีนี้อยู่ที่ 2.5% และปี 2566 จะอยู่ที่ 2.3%


“ภาพสถานการณ์ยังเป็นไปตามที่เรามองไว้ จึงมองว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยปีนี้อีก 1 ครั้ง และปีหน้าขึ้นอีก 3 ครั้ง และค้างดอกเบี้ยไว้ที่ 2.00% ต่อปี ภายในสิ้นปี 2566” นางสาวณัฐพรกล่าว