กูรูถอดบทเรียนหุ้น MORE จี้ยกเครื่องมาตรการกำกับ “ทันการณ์”

หุ้น MORE

ความปั่นป่วนจากกรณีการซื้อขายหลักทรัพย์ (หุ้น) บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ที่เป็นประเด็นร้อนแรงอยู่ในตลาดหุ้นไทยขณะนี้ นับเป็นอีกเคสที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับฝ่ายกำกับดูแลเป็นอย่างมาก

หลังจากหุ้น MORE มีการซื้อขายอย่าง “ผิดปกติ” เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2565 โดยมีมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 7,142 ล้านบาท เป็นอันดับ 1 ของมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งตลาด (SET และ mai) โดยเปิดตลาดที่ราคา 2.90 บาท เพิ่มขึ้น 4.3% จากราคาปิดวันก่อนหน้า จากนั้นราคาปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จนราคาต่ำสุด (Floor)

ต่อมาในวันที่ 11 พ.ย. 2565 ราคาหุ้นยังคงปรับตัวลงต่อเนื่องจนติด Floor อีกวันมาที่ราคา 1.34 บาท เรียกได้ว่าราคารูดระนาวจนติด Floor สองวันรวด ท่ามกลางกระแสว่า อาจจะมีหลายโบรกเกอร์ประสบปัญหาสภาพคล่อง จากการที่ต้องชำระค่าหุ้นในวันที่ 14 พ.ย. ตามเกณฑ์ T+2

ซึ่งต่อมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ออกโรงแถลงข่าวชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าว เพื่อเรียกความเชื่อมั่นต่อระบบ ในช่วงเช้าวันที่ 14 พ.ย. พร้อมกับขึ้นเครื่องหมาย SP สั่งหยุดพักการซื้อขายหุ้น MORE

และต่อมาก็คงให้หยุดพักการซื้อขายตลอดสัปดาห์ พร้อมประสานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อตรวจสอบธุรกรรมเกี่ยวกับหลักทรัพย์ MORE ที่อาจเข้าข่ายเป็นรายการที่ผิดปกติ

ตลอดจนเข้ายื่นหนังสือขอให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางดำเนินการตรวจสอบด้วย

ตลท.ยอมรับต้อง “ล้อมคอก”

โดย “ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลท. พยายามเรียกความเชื่อมั่น ว่าแม้จะมีเหตุการณ์ผิดปกติ แต่การชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ทุกหลักทรัพย์ ระหว่างบริษัทสมาชิกและสำนักหักบัญชี (TCH) ยังดำเนินการได้ปกติ

ซึ่งได้ขอให้ผู้ลงทุนมั่นใจว่าโบรกเกอร์ทุกรายยังให้บริการได้ และธุรกรรมดังกล่าวไม่ได้กระทบต่อภาพรวมตลาดหุ้นทั้งหมด ตลอดจนสถานะเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิของโบรกเกอร์ (NCR) และเงินกองทุนของ ตลท.ยังเพียงพอ

“หลังจากที่เกิดกรณีดังกล่าวขึ้น เรามีความกังวลต่อเรื่องความเชื่อมั่นมากที่สุด จึงอยากขอให้ความเชื่อมั่นกับผู้ลงทุนทั่วโลก ว่าความเข้มแข็งของโบรกเกอร์ไม่มีปัญหา ซึ่งหลังจากนี้ ตลท.จะเร่งหาวิธีปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ เพื่ออุดช่องโหว่ โดยนำเหตุการณ์นี้มาเป็นบทเรียนในการป้องกันในอนาคต”

บทเรียน “โบรกฯ-หน่วยกำกับ”

ด้าน “ประกิต สิริวัฒนเกตุ” นักกลยุทธ์การลงทุน กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นถือว่าบริษัทหลักทรัพย์หละหลวมเองที่ให้มีการวางหลักประกันโดยใช้หุ้น MORE ซึ่งถ้าใช้เป็นเงินสด หรือหุ้นที่มีคุณภาพวางเป็นหลักประกันเรื่องก็จบ

“โบรกฯรู้ทั้งรู้ว่ามีความเสี่ยง แต่ก็ยังปล่อยวงเงิน ทำให้ต่อไปคงจะเข็ดหลาบจากบทเรียนตรงนี้อย่างมาก ซึ่งเชื่อว่าต่อไปการวางหลักประกันอาจจะยุ่งยากมากขึ้น หรือหุ้นที่มีการชำระค่าซื้อขายแบบยอดสุทธิ (Net Settlement) ที่ช่วยให้นักลงทุนไม่ต้องชำระเงินเต็มจำนวนยอดที่ซื้อทุกรายการ

ก็อาจจะไม่มีแล้ว ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลเองอาจจะต้องมีการปรับเพิ่มวงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) เพื่อให้เป็นกองทุนรักษาสภาพคล่อง เพื่อระดมเงินรองรับความเสี่ยงที่ใหญ่ขึ้นกว่านี้ เผื่ออนาคตข้างหน้ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นอีก จะได้มีเงินกองกลางเข้าไปช่วยได้”

ชี้วิธีกำราบหุ้นปั่นไม่ได้ผล

ขณะที่มุมมองของนักลงทุนรายใหญ่อย่าง “อนุรักษ์ บุญแสวง” หรือ “โจ ลูกอีสาน” อดีตนายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ “คนซื้อกับคนขาย เป็นคนคนเดียวกัน” เพียงแต่ใช้นอมินีเป็นตัวแทน

โดยใช้วงเงินมาร์จิ้นซื้อหุ้น ซึ่งก็ใช้หุ้น MORE ค้ำประกัน โดยหากมีการส่งมอบจริง คนซื้อจะเบี้ยว ความหมายคือ คนขายก็จะได้เงินไป แต่เนื่องจากในระบบเบี้ยวไม่ได้ ดังนั้นคนที่จะต้องชดใช้เงินแทนคือบริษัทหลักทรัพย์ ที่ปล่อยวงเงินมาร์จิ้นให้ เรียกได้ว่าเป็นการ “ปล้นโบรกเกอร์”

อย่างไรก็ดี เนื่องจากจริง ๆ แล้ว หุ้น MORE แทบจะไม่มีพื้นฐาน แต่มีการปั่นราคาหุ้นขึ้นไปมหาศาล ดังนั้นบริษัทหลักทรัพย์ที่ยอมปล่อยวงเงินมาร์จิ้นให้หุ้นตัวนี้ ก็ต้องรับความเสี่ยงเอง โดยจะต้องไปฟ้องร้องเพื่อหาคนผิดมารับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น

“ต่อไปบริษัทหลักทรัพย์ในเมืองไทยก็คงจะระมัดระวังเรื่องนี้มากขึ้น จนทำให้การปล่อยเงินมาร์จิ้นให้กับหุ้นเน่า ๆ จะหายไปเลย เพราะต้องบอกว่า โบรกฯไหนกล้าปล่อย ก็ต้องกล้ารับกรรม

ซึ่งถ้าเป็นโบรกฯที่มีความน่าเชื่อถือ เขาก็คงไม่ปล่อยวงเงินมาร์จิ้นและไม่ง้อลูกค้าที่ซื้อหุ้นลักษณะแบบนี้แน่ ๆ ทั้งนี้ ถามว่า สุดท้ายแล้วเรื่องนี้สอนอะไรเราบ้าง ในตลาดหุ้นถ้าเรามัวแต่รอ ก.ล.ต. คงไม่ทัน อาจหมดตัว ดังนั้นนักลงทุนต้องดูแลตัวเองด้วย”

จี้ผู้กำกับดูแล “ทันการณ์”

“โจ ลูกอีสาน” กล่าวอีกว่า ปัจจุบันก็เห็นสัญญาณการปั่นหุ้นอยู่ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะหุ้นขนาดเล็กแล้ว แต่ลุกลามไปปั่นหุ้นขนาดใหญ่มูลค่าเป็นหมื่นล้านแสนล้านบาทกันแล้ว แต่สุดท้ายก็จับมือใครดมไม่ได้ ซึ่งตนเองในฐานะนักลงทุนรายใหญ่ มีประสบการณ์มานาน รู้ว่าหุ้นตัวไหนปั่นราคา

“ถ้าผมรู้แล้วถามว่า ทำไม ก.ล.ต.จะไม่รู้ ซึ่งมาตรการของ ก.ล.ต.ที่ใช้กำราบหุ้นปั่น ใช้ไม่ได้ผล ทำไมไม่คิดวิธีใหม่ ๆ คือโจรมันปรับเปลี่ยนเทคนิคตลอดเวลา แต่ผู้กำกับยังนิ่ง ถามว่า ใครรับกรรม นั่นก็คือ “นักลงทุน”

ดังนั้นแนะนำว่า หากพบการซื้อขายที่ไม่ชัดเจนให้ไปศึกษาโมเดลในต่างประเทศ เพราะตอนนี้มาตรการกำกับการซื้อขายระดับ T1-T3 ทุกวันนี้เอาไม่อยู่แล้ว เพราะโจรรู้ทันหมดแล้ว และเชื่อว่าราคาหุ้น MORE ที่ลงมาติดฟลอร์นั้น คงมีนักลงทุนไปช้อนซื้อหุ้นเพื่อหวังว่าราคาจะเด้ง ซึ่งนักลงทุนก็เป็นผู้เสียหาย แต่ถามว่า ทำไมหน่วยงานที่ดูแลไม่รีแอ็กชั่นให้ทันการณ์”

จี้ทบทวนมาตรการกำกับ

ขณะที่ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” กูรูนักลงทุนวีไอ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับหุ้น MORE ในภาพใหญ่ถือเป็นการสะท้อนจุดอ่อนของตลาดทุนไทยที่เต็มไปด้วยหุ้นปั่น ซึ่งในระดับโครงสร้างอาจจะเอื้ออำนวยให้มีการเก็งกำไรหรือปั่นราคาหุ้นได้ง่าย ๆ และไม่มีทางแก้ ดังนั้นต้องปรับโครงสร้างตรงนี้ใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ซ้ำได้

เนื่องจากตัวบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและฟรีโฟลตต่ำ รวมไปถึงไม่ค่อยมีกฎเกณฑ์ที่เข้มข้นเข้าไปป้องกัน จึงเกิดช่องว่างที่นักเล่นหุ้นรายใหญ่เห็นว่าทำง่าย โอกาสโดนจับแทบจะไม่มี พอใครทำได้ก็เกิดการเลียนแบบและขยายตัว ซึ่งปัจจุบันก็มีหุ้นลักษณะนี้ไม่ต่ำกว่า 10 บริษัท เพียงแต่เคส MORE เป็นเคสพิเศษด้วยวิธีการใหม่

“ปัจจุบันมาตรการกำกับการซื้อขายที่ทำอยู่ถือว่าใช้ไม่ได้ ไม่มีผล เพราะทำไปแล้ว ก็ป้องกันหุ้นที่ถูก Corner ไม่ได้ แม้แต่มาตรการหยุดพักการซื้อขายชั่วคราว 1 วันก็ตาม

คำถามคือว่า หน่วยงานที่ดูแลได้มีการทบทวนหรือไม่ โดยในหลักการคือ หากไม่ได้ผล ต้องหาทางแก้ใหม่ เพื่อไม่ให้นักลงทุนรายใหญ่สามารถทำ Corner หุ้นได้ นอกจากนี้งานนี้โบรกฯก็ต้องอุดช่องโหว่ตัวเองด้วย”

ทั้งหมดนี้ หากจะเรียกความเชื่อมั่น หน่วยงานกำกับก็คงต้องลงดาบผู้กระทำผิดให้สังคมได้เห็น รวมถึงปรับมาตรการรับมือต่าง ๆ ให้ทันเกมมากขึ้นโดยเร็ว