หนังสือค้ำประกันและตราสารเครดิต ก้าวแรกที่สำคัญ…เพิ่มสภาพคล่อง SMEs

ค้ำประกัน
คอลัมน์ : Smart SMEs
ผู้เขียน : ttb analytics

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics แนะนำ SMEs ที่ไม่มีประวัติกับสถาบันการเงิน โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs รายใหม่ที่ความสามารถทำกำไรยังไม่สูง หรือสร้างกำไรสุทธิได้ไม่สม่ำเสมอ เริ่มก้าวแรกด้วยหนังสือค้ำประกัน และตราสารเครดิต เพิ่มอำนาจต่อรองและเสริมเงินทุนหมุนเวียนเพื่อขยายตลาดรองรับยอดขายที่เพิ่มขึ้น

สำหรับ SMEs ที่เริ่มประกอบกิจการ 2 ปี อาจมีข้อจำกัดการเข้าถึงสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้กิจการ หรือขยายขนาดธุรกิจจากหลายปัจจัย เช่น ความสามารถทำกำไรที่ยังไม่สูง หรือสามารถสร้างกำไรสุทธิได้ไม่สม่ำเสมอจากฐานลูกค้าที่มีความสัมพันธ์ไม่ยาวนัก ดังนั้น เมื่อ SMEs ต้องการขยายธุรกิจ แต่เงินทุนส่วนตัวไม่เพียงพอ อาจทำให้ SMEs พลาดโอกาสขยายตลาดเพิ่มยอดขายในช่วงเวลาที่เหมาะสม

สำหรับ SMEs กลุ่มที่เริ่มประกอบกิจการและมีโครงสร้างทางการเงินที่ยังไม่แข็งแรง การขออนุมัติผลิตภัณฑ์ทางการเงินอาจเป็นข้อจำกัด ดังนั้น ทางเลือกที่เหมาะสมอาจเป็นการขออนุมัติหนังสือค้ำประกัน และตราสารเครดิต ซึ่งอยู่ในกลุ่มภาระผูกพัน (contingent liability) ที่มีความเสี่ยงและต้นทุนด้านการเงินของสถาบันการเงินต่ำกว่าเมื่อเทียบกับสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน

เนื่องจากการออกหนังสือค้ำประกัน หรือตราสารเครดิต ยังไม่ถูกบันทึกเป็นยอดเงินสินเชื่อ แต่เป็นเพียงข้อผูกพันที่ธนาคารจะเป็นผู้ชำระหนี้ในกรณีที่ SMEs ไม่สามารถชำระค่าสินค้าให้กับผู้ขายตามเงื่อนไขของหนังสือค้ำประกัน หรือตราสารเครดิต ดังนั้น ผู้ขายจึงมั่นใจว่าสินค้าที่ขายให้กับ SMEs ท้ายสุดจะได้รับเงินเป็นที่แน่นอน เมื่อ SMEs ได้รับอนุมัติหนังสือค้ำประกัน หรือตราสารเครดิต จะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองจากปัญหาการผิดนัดชำระที่ย่อมไม่เกิดขึ้น และเพิ่มโอกาสการขอรับเครดิตทางการค้าจากผู้ขายได้ ซึ่งการได้รับเครดิตทางการค้าช่วยลดการใช้เงินทุนส่วนตัวเพื่อหมุนเวียนในกิจการ ส่งผลให้ SMEs มีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อรองรับการขยายฐานลูกค้าได้

ทั้งนี้ การใช้หนังสือค้ำประกันและตราสารเครดิต จึงมีความสำคัญดังต่อไปนี้

หนังสือค้ำประกัน (letter of guarantee) ใช้กับธุรกรรมในประเทศเป็นหลัก เป็นหนังสือที่ธนาคารออกให้กับผู้ขายของผู้ประกอบการ SMEs ว่าธนาคารจะเป็นผู้ค้ำประกันตามจำนวนเงินที่ระบุ ในกรณีที่ SMEs ไม่ปฏิบัติตามสัญญา เมื่อผู้ขายได้รับหนังสือ
ค้ำประกันดังกล่าว เป็นการปิดความเสี่ยงการไม่ได้รับชำระค่าสินค้า ทำให้ SMEs เพิ่มโอกาสในการขอเครดิตทางการค้ากับผู้ขาย เพื่อนำเครดิตทางการค้าที่ได้รับไปใช้และขยายขนาดกิจการต่อไป

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของหนังสือค้ำประกัน อาจมิได้จำกัดแค่เพื่อซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบ (purchase/merchandize bond) แต่อาจใช้เพื่อควาสะดวกตามวัตถุประสงค์หลักของการประกอบกิจการ เช่น 1) เพื่อยื่นงานประมูลโครงการต่าง ๆ อาทิ จัดซื้อ รับเหมา(bid bond) 2) เพื่อค้ำประกันสัญญา (performance bond) 3) เพื่อค้ำประกันผลงาน (retention
bond) เป็นต้น

ตราสารเครดิต (letter of credit) ส่วนมากใช้กับธุรกรรมต่างประเทศ เมื่อ SMEs สั่งสินค้าหรือวัตถุดิบจากต่างประเทศ ด้วยข้อจำกัดที่เป็นกิจการขนาดเล็ก ผู้ขายต่างประเทศไม่สามารถตรวจสอบพฤติกรรมและสถานะทางการเงินได้ง่าย จึงมักให้ชำระเงินล่วงหน้า (advance payment) ส่งผลให้ SMEs ต้องสำรองเงินก่อนได้รับสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งอาจใช้เวลา 2-4 สัปดาห์

ดังนั้น เพื่อเสริมสภาพคล่องของ SMEs อาจใช้ตราสารเครดิต เพื่อช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและลดความเสี่ยงการไม่ได้รับชำระค่าสินค้าของผู้ขาย การมีสถาบันการเงินเป็นตัวกลาง ทำให้ SMEs อาจไม่ต้องชำระเงินล่วงหน้า และสามารถนำเงินจำนวนนั้นมาหมุนเวียนในธุรกิจขยายกิจการรองรับยอดขายที่เพิ่มขึ้นได้ รวมถึงในระยะถัดไป เมื่อ SMEs มีความสัมพันธ์กับผู้ขายเพิ่มขึ้นอาจขอรับเครดิตทางการค้าเพิ่มเติมที่อาจช่วยให้ SMEs มีเงินทุนเวียนเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวต่อเนื่อง

โดยสรุป หนังสือค้ำประกัน และตราสารเครดิต สามารถช่วย SMEs เพิ่มสภาพคล่องเพื่อขยายธุรกิจได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ที่เริ่มประกอบธุรกิจได้เพียง 2 ปี จากการอนุมัติที่มีเงื่อนไขน้อยกว่า ต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับสินเชื่อหมุนเวียน

และถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินเพื่อต่อยอดสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ช่วยเสริมศักยภาพของกิจการในอนาคต เช่น สินเชื่อระยะยาวเพื่อขยายธุรกิจหรือต่อยอดธุรกิจใหม่ รวมถึงสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนเพื่อขยายตลาดและรองรับยอดขายที่เพิ่มขึ้น